ประมาณทุ่มเศษของวันที่ ๒๐ สิงหาคม เพื่อนคนหนึ่งของผมโทรศัพท์มาถามว่า ทราบหรือยังว่าคุณครูมาลัยถึงแก่กรรมเสียแล้ว  ผมบอกไม่ถูกว่าความรู้สึกในขณะนั้นมีอยู่อย่างไร  ความจริงนั้นได้มีเพื่อนฝูงส่งข่าวคราวอาการอันน่าวิตกของคุณครูให้ทราบล่วงหน้าแล้ว  แต่ถึงกระนั้นก็ยังอดรู้สึกใจหายไม่ได้เลย ผมเสียใจมากจริง แต่ก็เป็นเพียงความรู้สึกส่วนตัวของคนเล็กๆ คนหนึ่งเท่านั้น บริษัทไทยพณิชยการ จำกัด สูญเสียที่ปรึกษาชั้นยอดคนหนึ่งไป  อย่างไม่มีวันได้กลับคืนมาอีก วงการประพันธ์และหนังสือพิมพ์สูญเสียรัตนมณีอันมีค่าหาที่เปรียบยาก และประชาชนก็ต้องสูญเสีย “ผู้แทน” ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ซึ่งจักเป็นพยานสำคัญยิ่งแห่งยุคสมัยของการปฏิวัติไปอย่างน่าเสียดาย

บ่ายวันรุ่งขึ้น  บังเอิญผมมีโอกาสพูดโทรศัพท์กับ “อรวรรณ” นักประพันธ์อาวุโสผู้ยิ่งยง
แห่งยุคคนหนึ่งของเมืองไทย  ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าอย่างไรเสียท่านก็จะต้องทราบข่าวอันน่าสลดใจนี้แล้ว
ก็ยังอดถามไม่ได้ “อรวรรณ” อึ้งไปสักครู่จึงตอบว่าท่านทราบแล้ว  วันนี้ทั้งวันทราบแต่ข่าวนี้ มีคนโทรศัพท์ไปบอกนับสิบๆ ราย ท่านกล่าวต่อไปด้วยน้ำเสียงที่สั่นเครือว่า “ผมไม่กล้าไปดู...ผมกับคุณมาลัยคลุกคลีกันมากเหลือเกิน...ดูแล้วก็จะต้องทำอะไรไม่ได้ไปหลายวัน แต่ก็ตั้งใจจะไปฟังสวด...”

เย็นวันนั้นคุณประกาศ วัชราภรณ์ นักประพันธ์และนักเขียนสารคดีผู้มีชื่อได้แถลงทางโทรทัศน์พร้อมทั้งได้นำหนังสือพิมพ์ต่างๆ ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่ลงข่าวความสูญเสียคราวนี้แสดงต่อผู้ชม  และได้เชิญ “นายรำคาญ” นักประพันธ์และนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญ
เล่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับคุณครูมาลัย โดยคุณประกาศอธิบายว่าคุณครูมาลัยได้มีหุ้นส่วนในชีวิตการ
ประพันธ์ของ “นายรำคาญ” เป็นอันมาก ท่านผู้นั้นกล่าวว่า คุณครูมาลัย ชูพินิจไม่ใช่มีหุ้นส่วนเท่านั้น แต่ได้เป็นผู้ลงทุนในชีวิตการประพันธ์  นายรำคาญกล่าวสืบไปว่า  คุณครูมาลัยเป็นผู้มีน้ำใจกว้างขวาง เป็นต้นกุญแจสำคัญของนักประพันธ์และนักหนังสือพิมพ์ เปิดโอกาสให้ทุกๆ คนที่มีความรักในวิชาชีพชนิดนี้  ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหนก็ตาม  นายรำคาญเปิดเผยว่า ถ้าหากคุณครูมาลัยไม่สนับสนุน ท่านก็จะหมดโอกาส แม้ว่าจะเป็นเพียงผลงานของเด็กๆ เท่านั้น คุณครูมาลัย
ก็ยังช่วยประคับประคองจนท่านต้องจากไป...

นั่นเป็นความรู้สึกบริสุทธิ์ใจจากนักประพันธ์แท้ๆ อีกท่านหนึ่ง ที่มีชีวิตอยู่เพื่อหนังสือพิมพ์และการประพันธ์ ซึ่งยิ่งทำให้บังเกิดความซาบซึ้งในคุณงามความดีของคุณครูมาลัยมากขึ้น เด็กใกล้ๆบ้านซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเล่าให้ผมฟังว่า เขาได้เขียนจดหมายไปถามคุณครูมาลัยถึงเรื่องการเขียนหนังสือ แล้วต่อมาไม่นาน ก็ได้รับจดหมายตอบจากนักประพันธ์ใหญ่ผู้นั้น แถลงถึงรายละเอียดหลายประการ  โดยที่ตัวผมเองซึ่งเคยร่วมทำงานอยู่ใต้ชายคาบริษัทไทยพณิชยการแท้ๆ ก็ยังอดนึกสงสัยไม่ได้ว่าท่านไปหาเวลาที่ไหนมาตอบจดหมายอย่างนั้น

แต่มันก็ยังจดจำได้ตลอดมาว่า ในวันขึ้นปีใหม่ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว “สยามสมัย” ได้ตีพิมพ์นวนิยายขนาดสองสามตอนจบเรื่อง “อรุณรุ่ง” ของ “แม่อนงค์” และได้มีคำโปรยซึ่งเขียนด้วยลายมือกัดบล็อกพิมพ์กำกับไว้ด้วยว่า “แม้ทุกสิ่งทุกอย่างจะวอดวายไป แต่ตราบใดที่ยังมีความหวังตราบนั้นเรายังมีชีวิตที่มีค่า” ด้วยถ้อยคำเหล่านี้เองได้มีความหมายแก่จิตใจของผมอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ในชีวิตที่ลุ่มๆ ดอนๆ ของผมได้อาศัยถ้อยคำของคุณครูมาลัยเหมือนคาถาที่ช่วยให้มีกำลังใจ
อดทนต่อสู้กับความขมขื่นและผิดหวังต่างๆ มาได้อย่างไม่เสียขวัญจนเกินไปนัก

ไม่ว่าจะในฐานะของนักประพันธ์หรือนักหนังสือพิมพ์ก็ตาม  ท่านได้นำงานของท่านออกสู่มหาชนโดยถืออุดมคติความรัก ความเห็นอกเห็นใจ  และการให้อภัยเป็นมงกุฎแห่งความศรัทธา
ของชีวิต  มาตรการในวิถีแห่งการประพันธ์ของท่าน ก็คือคุณงามความดีที่มีอยู่ในโลกและในมนุษย์
และทำให้ผู้อ่านบังเกิดความหวังขึ้นได้อย่างน่าพิศวง ข้อเขียนต่างๆ ของท่านเหมือนอากาศที่คนไทยสูดหายใจเข้าไปโดยไม่รู้สึกตัว มีผลออกมาเป็นธรรมที่ไม่รู้จักตาย นักประพันธ์และนักหนังสือพิมพ์ รวมทั้งนักอ่านทั่วไปเป็นอันมาก ได้รับอิทธิพลจากข้อเขียนของท่าน  เฉพาะเรื่องสั้นในนามของ “เรียมเอง” ก็มีมากกว่าสามพันเรื่อง  มีนามปากกาไม่ต่ำกว่าห้าสิบนามปากกา

เมื่อท่านมีชีวิตอยู่ งานของท่านก็ดีเด่นเห็นประจักษ์กันอย่างชัดแจ้งทั่วไป  ที่สำคัญที่สุกก็คือ เมื่อปีที่แล้ว ท่านได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ซึ่งหมายถึงสัญลักษณ์ของงานต่างๆ ที่ท่านได้บำเพ็ญมาโดยตลอดทั้งในทางการประพันธ์และสังคมเพื่อนมนุษย์ ในชีวิตส่วนตัว คุณครูมาลัยเป็นที่รักและเคารพนับถืออย่างยิ่ง  ไม่มีอะไรด่างพร้อยเลย ความตายสามารถเอาชนะสังขารร่างกายของคุณครูมาลัย  ชูพินิจได้จริงแล้ว แต่มันก็ไม่อาจเอาชนะชื่อเสียงและคุณงามความดีของท่านได้เลย...เชิญเถิด มัจจุราช...

หลวงเมือง
สยามนิกร (คอลัมน์รอบเมืองไทย)
ศุกร์ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๐๖
 
 

มาลัย  ชูพินิจถึงแก่กรรมเมื่อเวลา ๑๗.๔๕ น. วันที่ ๒๐ สิงหาคม ที่ตึกวชิราวุธ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วยโรคมะเร็งในปอด  ขณะอายุได้ ๕๘ ปี ข่าวมรณกรรมของอาจารย์มาลัย ชูพินิจหรือที่นักหนังสือพิมพ์รุ่นพี่ๆ เรียกกันติดปากว่า “ครูมาลัย” แพร่ออกไปตามสำนักงานหนังสือพิมพ์ต่างๆ วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับลงข่าวการสูญเสีย นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน
ยังให้เกิดความเศร้าสลดใจแก่ผู้ที่รู้จัก ผู้เขียนอยากจะกล่าวว่า นอกจากอาจารย์มาลัยจะเป็นนักขียน
นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์แล้ว อาจารย์มาลัยยังเป็นนักสังคมสงเคราะห์อีกท่านหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางสังคมสงเคราะห์ก็ตาม  แต่ผู้เขียนภูมิใจที่อาจารย์มาลัยได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ ทางวารสารศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อาจารย์มาลัยเป็นนักสังคมสงเคราะห์ทั้งทางด้านงานเขียนบทความระหว่างบรรทัด งานด้านสังคมนั้น ก่อนที่อาจารย์จะเดินทางไปสำรวจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการช่วยเหลือนักเรียนขาดแคลนของมูลนิธิช่วยเหลือนักเรียนขาดแคลนทางภาคเหนือ  ผู้เขียนยังได้ทราบมาว่า อาจารย์ไม่สบายและเพิ่งหายป่วยไม่กี่วัน แต่เพื่องานของสังคมและเพื่อนร่วมชาติ...อนาคตส่วนหนึ่งของชาติ
อาจารย์ไม่ได้ปริปากพูด และร่วมเดินทางไปกับคณะกรรมการมูลนิธิด้วย

โดยที่เพิ่งหายป่วยใหม่ๆ ได้รับการพักผ่อนน้อย และเห็ดเหนื่อยจากการเดินทาง พอกลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ก็ล้มป่วย...และป่วยตลอดมา ตอนแรกแพทย์ผู้ทำการรักษาลงความเห็นว่าป่วยไข้หวัดใหญ่และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ แต่เมื่อได้ทราบแน่ว่าเป็นมะเร็งในปอด
ก็เมื่อสายเสียแล้ว แต่มิได้พยายามรักษา

ผู้เขียนรู้จัก “น้อย  อินทนนท์” ประมาณเกือบสิบปีมาแล้วตั้งแต่นวนิยายชุด “ล่องไพร” ถูกจัดพิมพ์จำหน่ายโดยสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง  และได้รู้จัก “เรียมเอง” จากเรื่องสั้นที่ลงเป็นประจำทุกสัปดาห์ ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง แต่ผู้เขียนไม่เคยรู้จักเลยว่าใครคือ “น้อย อินทนนท์”
และ “เรียมเอง” และไม่ทราบว่าทั้งสองนามปากกานี้เป็นบุคคลเดียวกัน

เมื่อผู้เขียนเข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ เมื่อ ๔-๕ ปี มาแล้ว จึงได้ทราบว่า “น้อย  อินทนนท์”
“เรียมเอง” และนามปากกาอีกหลายนามเป็นคนเดียวกัน คือ “อาจารย์มาลัย  ชูพินิจ” เมื่อปีที่แล้วได้ทราบว่า “อาจารย์มาลัย  ชูพินิจ” จะมาเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในแผนกวารสารศาสตร์ทำให้นึกวาดภาพ (เพราะไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน) ว่าคงจะเป็นผู้ชอบผจญภัยและชอบสนุกสนานอย่าง “ตาเกิ้น” ใน “ล่องไพร” พอถึงเวลามาสอนเข้าจริงๆ จึงได้รู้จักและซาบซึ้งถึงนิสัยใจคอของ “อาจารย์” ซึ่งเป็นกันเองกับนักศึกษาทุกคนได้ดีเยี่ยมกว่า “อาจารย์” หรือ “ครู” บางคนที่ข้าพเจ้าเคยรู้จัก

ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนไม่เคยนึกเลยว่าจะได้รู้จักนักประพันธ์ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ผู้นี้ และคงไม่ได้มีเกียรติพอที่จะเรียกว่าอาจารย์ได้เต็มปากเต็มคำอย่างทุกวันนี้

ข่าวอาจารย์ถึงมรณกรรม ซึ่งทางผู้เฝ้าไข้หรืหมอโรงพยาบาลโทรศัพท์แจ้งไปทางสำนักงานแม้ว่าจะมืดค่ำแล้วก็ตาม นับว่าข้าพเจ้ายังเป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้ทราบการมรณกรรมของ “อาจารย์” และกล้ากล่าวได้ว่าผู้เขียนเป็น “ลูกศิษย์” คนแรกที่ทราบข่าวนี้ก่อน “ลูกศิษย์” ร่วมชั้นเรียน

บัดนี้ วงการหนังสือพิมพ์ การประพันธ์ และงานสงเคราะห์แก่สังคม ได้สูญเสียบุคคลสำคัญผู้หนึ่งไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับคืน ในวงการหนังสือพิมพ์โดยเฉพาะผู้เขียนเองเสียดายที่ “อาจารย์” ด่วนปิดม่านชีวิตในการต่อสู้อย่างรีบด่วน ก่อนที่งานเขียนจะจบสิ้น เกือบ ๔๐ ปีในวงการนั้นก็นับว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก แม้ชีวิตของ “อาจารย์” ได้ผ่านมาหลายยุค ทั้งยุคที่วงการหนังสือ
พิมพ์รุ่งเรืองมีอิสระอย่างเต็มที่ และยุคที่หนังสือพิมพ์ถูกกดขี่จำกัดสิทธิต่างๆ

ผู้เขียนปรารถนาที่จะเห็น “อาจารย์” คืนมาสู่ชีวิตการเป็นนักหนังสือพิมพ์แต่ความปรารถนาของผู้เขียนเห็นจะเป็นเพียงลมๆ แล้งๆ เพราะ “อาจารย์” จากไปเสียแล้ว จากไปอย่างสงบ
หากผู้เขียนมีวาจาสิทธิ์ก็อยากจะอ้อนวอนมัจจุราช ที่คร่าเอาดวงวิญญาณแห่งการต่อสู้ของ “อาจารย์” กลับคืนมา แต่เมื่อไม่อาจเป็นเช่นนั้นได้ ก็ทำได้แต่เพียงตั้งสัตย์อธิษฐานด้วยจิตใจของความเป็น “ศิษย์” และแรงศรัทธาในงานเขียนของ “อาจารย์” ขอวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระรัตนตรัยโปรดอำนวยความสุขสวัสดิ์แด่วิญญาณอันบริสุทธิ์เสียสละของ “อาจารย์” พอแต่ศานติ
ชั่วนิจนิรันดร

"สุริเยศ"
สยามนิกร (คอลัมน์ม่านกรุงเทพฯ)
จันทร์ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๐๖
 
 

จำเป็นต้องบันทึกไว้ในที่นี้เป็นพิเศษว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เมืองไทยได้สูญเสีย
“เพชรน้ำหนึ่ง” ในวงวรรณกรรมไปแล้วอย่างน่าเสียดาย “เพชรน้ำหนึ่ง” ดังกล่าวได้แก่ “คุณครูมาลัย ชูพินิจ” นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ และนักสังคมสงเคราะห์ชั้นอาวุโส  ผู้ซึ่งในบั้นปลายของชีวิตได้รับเกียรติอันสูงส่งจากทางราชการตลอดจนวงการต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งยากที่นักประพันธ์และนักหนังสือพิมพ์คนใดจะได้รับ

เป็นความจริงอย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่า  ก่อนที่เด็กบ้านนอกคนหนึ่งอย่างคุณครูมาลัย จะก้าวขึ้นมาเป็น “เพชรน้ำหนึ่ง” ได้นั้น คุณครูมาลัยได้ผ่านมหาวิทยาลัยชีวิตมาแล้วอย่างโชกโชน
นับตั้งแต่ชีวิตป่าที่คลุกคลีมาแต่เล็กแต่น้อยตราบจนกระทั่งปัจจุบัน และสำหรับชีวิตชาวกรุง หลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ แล้ว ก็ยังผ่านอาชีพครู อาชีพนักประพันธ์ และนักหนังสือพิมพ์ บางครั้งก็ออกไปทำไร่เสียพักหนึ่งแล้วโจนกลับเข้ามาสู่วงการหนังสือพิมพ์และวงการประพันธ์อีก ประสบการณ์ต่างๆ จากมหาวิทยาลัยชีวิตเหล่านี้เองที่ทำให้คุณครูมาลัยกลายเป็น “เพชรน้ำหนึ่ง” ในวงการประพันธ์ในระยะต่อมา เพราะสมองของคุณครูมาลัยได้รับแต่สิ่งที่แปลกและใหม่อยู่เสมอ

ที่ว่าเป็นเพชรน้ำหนึ่ง เราอาจพิจารณาจากผลงานอันเป็นอมตะของคุณครูมาลัยพอเป็นสังเขปได้ดังนี้

๑. เรื่องสั้น คุณครูมาลัยเหมาะสมเพียงไรในฉายา “ราชาแห่งเรื่องสั้น” บรรดานักอ่านทั้งหลายที่เป็นแฟนของ “เรียมเอง” ย่อมยืนยันข้อเท็จจริงได้ดี

๒. นวนิยาย  คุณครูมาลัยได้ทิ้งบทประพันธ์อันอมตะไว้หลายเรื่อง แต่ละเรื่อง สำนักพิมพ์ได้พิมพ์ออกจำหน่ายครั้งแล้ว แต่นักอ่านทุกรุ่นก็ยังให้การต้อนรับด้วยดีอยู่ตลอดมา โดยเฉพาะ
นวนิยายบางเรื่องได้มีผู้แปลเป็นภาษาต่างประเทศและบางเรื่องก็แปลเอง

๓. เรื่องแปล  มีอยู่มากมายหลายเรื่อง ที่คุณครูมาลัยแปลออกสู่ตลาดหนังสือเมืองไทย และหลายเรื่องเช่นเดียวกันที่ยังติดอกติดใจนักอ่านอยู่จนทุกวันนี้

๔. เรื่องป่า จาก “วิญญาณป่า” ซึ่งติดตัวมาแต่น้อยคุ้มใหญ่  คุณครูมาลัยได้ทำชื่อเสียงไว้มากในนวนิยายชุด “ล่องไพร” ตลอดจนสารคดีที่เกี่ยวกับการออกป่าล่าสัตว์ที่เจ้าตัวเผชิญมาเองอย่างโชกโชน

๕. บทความ  คุณครูมาลัยเป็นคอลัมนิสต์ที่ทรงอิทธิพลอย่างคงเส้นคงวา ไม่ว่าจะเป็นบทความที่เกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจหรือสังคม และไม่ว่าจะเป็นบทความในประเทศหรือนอกประเทศ  ประชาชนคนอ่าน “พิมพ์ไทย” ย่อมจะรู้จักคุณครูมาลัยดีในนามปากกาของ
“น้อย อินทนนท์”

๖. ปรัชญา  เป็นแนวการเขียนอีกแนวหนึ่งในชีวิตของคุณครูมาลัย นอกจากจะแทรกไว้ในนวนิยายหรือเรื่องสั้น ซึ่งเป็นคติกินใจอยู่เสมอมาแล้ว คุณครูมาลัยยังเขียนปรัชญาในการครองชีวิตไว้ในนิตยสารรายสัปดาห์และรายเดือนหลายแห่ง อาทิคอลัมน์ “ป.ล.” คอลัมน์ “สำเภาทองของชีวิต” และคอลัมน์ “ระหว่างสัปดาห์” (ใน “พิมพ์ไทยวันอาทิตย์”)

๗. ดอกไม้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยไม้ คุณครูมาลัยเป็นนักเลงกล้วยไม้ ที่หาตัวจับได้ยากคนหนึ่งเหมือนกัน จากการคลุกคลีอยู่กับดอกไม้และกล้วยไม้ดังกล่าวนี้เอง คุณครูมาลัยได้เคยเขียนประสบการณ์อยู่พักหนึ่งในนิตยสารรายสัปดาห์ภายใต้นามปากกา “ลดารักษ์”

๘. วิจารณ์หนังสือ เนื่องจากคุณครูมาลัยเป็นนักเลงหนังสือมาแต่ไหนแต่ไร การวิจารณ์หนังสือภายใต้นามปากกา "หนอนหนังสือ" จึงเป็นงานอีกชิ้นหนึ่งซึ่งคุณครูมาลัยได้กระทำอยู่ตลอดมา

๙. หมัดมวย กีฬามวยเป็นของโปรดของคุณครูมาลัย ดูแล้วศึกษา ไม่ใช่ดูสนุกอย่างเดียว การวิจารณ์มวยในนามของ "แบ็ตตลิ่งกร๊อบ" จึงอุบัติขึ้น ยิ่งกว่านั้นการเขียนข่าวการชกมวยของนักมวยคู่สำคัญในประเทศไทยและต่างประเทศในวงการหนังสือพิมพ์รู้ดีว่า คุณครูเขียนข่าวได้ดีเยี่ยมราวกับว่า ได้นำเอาคนอ่านไปนั่งดูอยู่ข้างเวทีฉะนั้น

๑๐. การสังคมสงเคราะห์ ในบั้นปลายของชีวิต คุณครูมาลัยได้เจียดเวลาให้กับงานสังคมสงเคราะห์อยู่เสมอมา จนกระทั่งได้รับเกียรติให้เป็นกรรมการในสถาบันสังคมสงเคราะห์ต่างๆ กว่าสิบแห่ง

๑๑. ด้วยความจัดเจนในชีวิตหนังสือพิมพ์มาร่วม ๔๐ ปี เมื่อปีกลาย คุณครูมาลัยได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ดุษฎีบัณฑิต (ปริญญาเอก) ทางวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งยังได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์ไปบรรยายเป็นประจำ และก่อนหน้านั้นจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต คุณครูมาลัยได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาแต่แรก ด้วยคนหนึ่ง

ตลอดชีวิต คุณครูมาลัยทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้แก่การงานทั้งในด้านหนังสือพิมพ์และงานประพันธ์ ผู้เขียนลองสำรวจมาครั้งหนึ่งได้พบว่า พักนั้นคุณครูมาลัยต้องเขียนหนังสือส่งไปตามหนังสือพิมพ์ต่างๆ ถึงวันละ ๗ เรื่อง ทั้งนวนิยาย ทั้งบทความและคอลัมน์ประจำต่างๆ เมื่ออดสงสัยไม่ได้จึงถามคุณครูดูว่า คุณครูเอาสมองจากไหนมาเขียน แม้นวนิยายก็เขียนติดต่อกันทุกวัน วันละแผ่นสองแผ่น พระเอกนางเอกมิปนเปกันให้ยุ่งไปหมดหรือ? คุณครูมาลัยตอบว่า มันอยู่ที่การบังคับ สมองมิให้วุ่นวาย เขียนเรื่องใดทุ่มเทสมองให้เรื่องนั้น พอเขียนได้ตามที่ต้องการแล้ว ก็เปลี่ยนไปเขียนเรื่องอื่นโดยลืมเรื่องที่เขียนมาหยกๆ เสียให้หมด เมื่อทำได้เช่นนี้ เราก็เหมือนมีชีวิตใหม่สำหรับจะเขียนเรื่องใหม่อยู่เรื่อย!

จากผลงานที่น่าทึ่งดังกล่าวแล้ว โดยความเห็นส่วนตัว ผู้เขียนเห็นว่า "คุณครู" เป็น "อัจฉริยะ"

อีกนาน-กว่าวงการประพันธ์และวงการหนังสือพิมพ์จะมีคนอย่างคุณครู!

"ชาตรี" พิมพ์ไทย วันอาทิตย์ที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๖
 
 

เมืองไทยได้สูญเสีย “คนถือปากกา” ชั้นครูอาจารย์ไปอีกคนหนึ่ง ถูกแล้วครับ ผมหมายถึง
ครูมาลัย  ชูพินิจ เจ้าของนามปากกา ๓๐-๔๐ นาม รวมทั้งนามปากกา “หนอนหนังสือ” ซึ่งเขียนคอลัมน์ “หนังสือ” ประจำ “สยามสมัย” นี้อยู่เดิมด้วย ดังนั้น เมื่อผมถูกเรียกเข้า “ประจำการ” ในงานและหน้าที่ของคนชั้นครูอาจารย์ทำมาก่อน จึงจำเป็นต้องออกตัวเสียหน่อย แม้ว่าผมจะไม่ได้เป็นศิษย์ในแขนงหนึ่งแขนงใดโดยเฉพาะของครูมาลัย ก็เป็นโดยปริยายหลายแง่หลายมุม ไม่ว่าจะเป็น
บทความ สารคดี หรือนวนิยาย และเมื่อรวมถึงการที่ผมได้รับความปรานีจากครูมาลัยอยู่เนืองๆ จึงเว้นเสียมิได้ที่จะสำแดงความคารวะให้ประจักษ์ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

สัปดาห์นี้ ผมไปได้หนังสือเล่มหนึ่งของ น้อย  อินทนนท์ ในตลาดลดราคาอาจจะไม่ใช่หนังสือใหม่เอี่ยม  แต่ก็คงเป็นหนังสือล่าสุดที่สำนักพิมพ์ได้เย็บเล่มเรื่องของผู้ใช้นามปากกานี้

เมื่อพูดถึง น้อย อินทนนท์ นักอ่านส่วนหนึ่งจะต้องนึกไปถึงนวนิยายชุด “ล่องไพร” นึกถึง
พรานศักดิ์  สุริยัน นึกถึง ร.อ.เรือง  ยุทธนา  และนึกถึงตาเกิ้น  กะเหรี่ยงชรา ผู้เจนจบชีวิตป่าดง...
สำหรับผู้ที่รักรสสารคดี  ก็อาจจะนึกถึงชีวิตจริงของนักนิยมไพรคนหนึ่งผู้เผชิญมาแล้วทั้งเสือ สิงห์
กระทิง  ช้าง  นึกถึงปืนสั้นยาวหลายชนิดหลายขนาดที่ล้มสัตว์ร้ายเหล่านั้นท่ามกลางบรรยากาศ
อันน่าอกสั่นขวัญแขวน...ส่วนผู้ที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองก็อาจจะนึกถึงทรรศนะของคนหนังสือพิมพ์ ผู้เขียน “ระหว่างบรรทัด” และ “ระหว่างสัปดาห์” ผู้เสนอแนะ  ทักท้วง ติติง  และให้ข้อคิดต่างๆ ด้วยวิสัยของสุภาพชนคนถือปากกา

นั่นคือ น้อย  อินทนนท์  ซึ่งไม่ว่าท่านจะนึกหรือไม่อย่างไร  เขาก็อำลาทุกคนไปแล้ว พร้อมกับความเป็นครูมาลัย  ชูพินิจ และนามปากกาโด่งดังอื่นๆ อาทิ “แม่อนงค์” เจ้าแห่งนวนิยายอันละเมียดละไม... “เรียมเอง” เจ้าแห่งเรื่องสั้นผู้ถ่ายทอดวิญญาณและศิลปะเรื่องสั้นของกีย์เดอโมปัสซังด์ และโอ. เฮนรี่ มาแพร่หลายในเมืองไทย... ฯลฯ

มหาบุรุษตาย  อาจจะมีหุ่นระลึกหรืออนุสาวรีย์เตือนความทรงจำ  แต่นักเขียนสร้างอนุสาวรีย์ของเขาเองจากปลายปากกาตั้งแต่ยังมีชีวิต  และมันจะยั่งยืนอยู่นานเท่านานตราบที่ประชาชนคนอ่านเรียกร้องต้องการ...เป็นการยากที่จะยืนยันว่า  หนังสือเล่มใดในยุคสมัยของเรานี้
จะอยู่ในความนิยมจนเป็นอมตะต่อไป  แต่ช่างเถอะ กาลเวลาและอนุชนเป็นผู้ได้รับมอบหน้าที่วินิจฉัยไว้แล้วและไม่ต้องสงสัย  งานจากนามปากกาต่างๆ ของ ครูมาลัย  ชูพินิจ จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของงานเขียนในยุคสมัยนี้  ที่อยู่ในฐานะเข้ารับการพิจารณาด้วย

หนังสือของ น้อย อินทนนท์ เล่มล่าสุดที่ผมได้จากตลาดลดราคาในขณะนี้เป็นนวนิยายชุด
“ล่องไพร” ตอน “ทางช้างเผือก” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ “ผดุงศึกษา” ราคาที่ปก ๓๐ บาท ลดครึ่งก็ ๑๕ บาท ไม่แพงสำหรับผู้ที่ชอบชีวิตป่าดง พงเขา หรือการผจญภัยแบบชายชาตรี และถูกเป็นบ้า
สำหรับผู้สะสมนวนิยายชุด “ล่องไพร” หรือเรื่องอื่นๆ ของนักเขียนใหญ่ ผู้หาชีวิตไม่แล้วผู้นี้

“ทางช้างเผือก” เป็นเรื่องที่ ศักดิ์ สุริยัน, ร.อ.เรือง  ยุทธนา และตาเกิ้น ออกติดตามล่าช้างพลายสีขาวผ่องทั้งตัวเหมือนสำลี  ไม่มีด่าง  ไม่มีกระปน  อันช้างที่มีสีกายขาวนั้นเรียกว่า ช้างเผือก เกิดคู่บุญกษัตริย์ แต่เจ้าพลายสีประหลาดเชือกนี้  ร้ายกาจเกินจะเกิดมาเพื่อท้าวพระยามหากษัตริย์องค์ใด ตาเกิ้นบรรยายถึงการตายของเหยื่อรายหนึ่งว่า

“ขณะที่มันหยุดพักมวนยาสูบอยู่ที่นี่ อ้ายเพชฌฆาตก็โผล่ออกมา อารามตกตะลึงหรืออัศจรรย์ใจที่ไม่เคยเห็นช้างเผือกทั้งตัวอย่างนั้นก็ตาม มันปล่อยให้อ้ายงายาว ขาวเหมือนสำลีนั่น ปราดเข้ามาจนใกล้จึงได้ลงมือยิง ถูกน่ะถูก นาย เพราะลอยมันล้มลงคุกเข่าปรากฏอยู่ที่โน่น”  แกชี้มือไปที่ป่าซึ่งราบถัดจากเราออกไปประมาณ ๑๐ ก้าว แล้วก็ถอนใจ “อ้ายแซงทวยคงจะเฉลียวใจเหมือนกันว่า ลูกปืนเข้าสูงไปหรือถูกที่ไม่สำคัญ เพราะฉะนั้น มันจึงได้รีบบรรจุดินและกระสุนนัดใหม่ เข้าใจว่ามือคงสั่นเพราะตาเกิ้นเห็นดินปืนที่มันเทจากเขนง กรอกปากกระบอกปืนเรี่ยราดอยู่ที่นั่น….น้อยคนจะบรรจุดินปืนได้เร็วเท่าอ้ายแซงทวย ถึงงั้นก็ยังไม่เร็วเท่าช้างตัวนั้น ตาเกิ้นคิดว่าพอมันหายมึนจากกระสุนนัดแรก ลุกขึ้นได้ก็พุ่งเข้าใส่ ในขณะนั้นเอง อ้ายแซงทวยก็ยิง….เป็นการยิงครั้งสุดท้าย” แกหันไปดูซากศพของชายเคราะห์ร้ายอีกครั้งแล้วตัวก็สั่นเทิ้มไป เราต่างคนต่างนิ่ง เพราะไม่รู้ว่าจะพูดอะไรกัน…

ไม่มีตอนใดใน “ทางช้างเผือก” ที่ท่านจะรู้สึกว่า ไม่ได้เป็นคนหนึ่งในคณะของพรานศักดิ์ สุริยัน แม้ว่า ท่านจะนอนอ่านบนฟูกนุ่ม หรือนั่งอ่านบนรถเมล์โขยกก็ตาม จึงนับเป็นเรื่องผจญภัยตอนใหม่ที่แปลกจาก “ล่องไพร” ตอนอื่นๆที่โด่งดังมาแล้ว เช่น ตอน “เจ้าแม่จามเทวี” หรือตอน     “ผีตองเหลืองคนสุดท้าย” เป็นต้น ท่านจะทึ่งในปรัชญาชีวิตของสาวๆ ในเมืองแม่หม้ายและมนุษย์วานร ขณะเดียวกัน ท่านก็จะต้องกลั้นลมหายใจและเย็นวาบไปตลอดไขสันหลังในมรณภัยเบื้องหน้า ระหว่างความเขียวชอุ่มของพุ่มพฤกษ์

นักเขียนร่วมยุคของ น้อย อินทนนท์ เช่น “ยาขอบ” เคยกล่าวขวัญถึงแรงบรรยายธรรมชาติของนักเขียนใหญ่ผู้นี้ว่า ถ้า น้อย อินทนนท์ เขียนถึงดอกส้มป่าหรือหญ้าสุมไฟ ก็ย่อมจะรู้สึกเหมือนได้กลิ่นนั้นๆ ติดจมูกขึ้นมาฉับพลับ…นั่นเป็นสิ่งที่นักเขียนปรารถนา แต่น้อยคนนักที่จะทำได้ มันอาจจะเป็นประสบการณ์ในการสัมผัสชีวิตป่าเขาลำเนาไพรของเขา หรือความเจนจัดในการเฟ้นหาคำที่เหมาะเจาะ หรือทั้งสองอย่างนั้นรวมกัน...และบัดนี้ ถ้าใครจะพูดว่า เมืองไทยไม่มีนักเขียน    นวนิยายผจญภัยในป่าดงพงพีเสียแล้ว ก็หาได้เกินความจริงไม่

จริงอยู่ เคยมีคนทักว่า เรื่องชุด “ล่องไพร” เหมือนจะลอกตัวละครและเค้าเรื่องฝรั่งที่เขียนประเภทเดียวกัน แต่ครั้งหนึ่ง น้อย อินทนนท์ ก็ได้พิสูจน์ในหน้าหนังสือ “สยามสมัย” นี้เองว่าเรื่องของฝรั่งเรื่องนั้น เขียนขึ้นภายหลัง “ล่องไพร” ตั้งหลายปี...บางทีฝรั่งก็เป็นเทวดาสำหรับคนไทยบางคนเหมือนกัน

หลายสำนักพิมพ์รวมงานของนักเขียนที่ถึงแก่กรรมเป็นเล่มหรือหนังสือชุด                    เช่นชุดพระนิพนธ์ ของ ม.จ.อากาศดำเกิงฯ ชุดของ “ยาขอบ” ชุดของ “ไม้เมืองเดิม” ชุดของ “ดอกไม้สด” กระทั่งชุดของ “อ.อุดากร” จนมีคำกล่าวว่า “นักเขียนเป็นผี คนพิมพ์อ้วนพี” แต่ผมก็รักจะถือหางข้างสำนักพิมพ์อยู่ดี เพราะระหว่างการพิมพ์รวมเล่มกับการทิ้งกะเรี่ยกะราดที่นั่นที่นี่ตามบุญตามกรรมนั้น ประการหลัง น่ากลัวอันตรายจากการสูญหายยิ่งนัก

ผมไม่ทราบว่าได้มีสำนักพิมพ์คิดรวมเล่มเรื่องของ ครูมาลัย ชูพินิจ หรือ “น้อย อินทนนท์”
หรือ “แม่อนงค์” หรือ “เรียมเอง” หรือ ฯลฯ เป็นชุดหรือไม่แต่เท่าที่ได้เห็นและรับฟังมารู้สึกว่าหนังสือของ ครูมาลัยที่เป็นเล่มวางตลาดอยู่ในขณะนี้ ได้รับการต้อนรับเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกต

“นักเขียนเป็นผี คนพิมพ์อ้วนพี” น่ากลัวจะจริง! แต่ความพอใจของคนถือปากกาจะมีอะไรยิ่งไปกว่าได้เห็นอนุสาวรีย์ของคนสร้างความบันเทิงแก่ประชาชนคนอ่านอีกเล่า?

บันลือ เมืองสิน
จากคอลัมน์ "หนังสือ" ใน "สยามสมัย"

ประจำวันจันทร์ที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๖
 
 

ม.ชูพินิจ-ผู้ใช้นามปากกาว่า “แม่อนงค์” “น้อย  อินทนนท์” และอื่นๆอีกหลายนามได้จากพวกเราไปเสียแล้ว  และโดยพวกเรา ข้าพเจ้าหมายถึงทั้งนักเรียนเรื่องสั้น เรื่องยาว นักหนังสือพิมพ์ นักอ่านหนังสือ นักดูมวย คนฟังวิทยุ คนดูโทรทัศน์ รวมตลอดไปถึงเด็กๆ ที่กำลังได้รับอุปการะจากมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลน เพราะว่า ม.ชูพินิจ ได้มีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องอยู่กับวงการต่างๆ เหล่านั้นอย่างใกล้ชิด

จากบางช้าง กำแพงเพชร ม.ชูพินิจ ได้เข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพฯ ที่ ร.ร.เทพศิรินทร์ บพิตรพิมุข และบวรนิเวศ จบมัธยมแปดที่ ร.ร.สวนกุหลาบเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗ จากนั้นก็หันเข้ายึดอาชีพครู และได้เริ่มแต่งหนังสือไปพร้อมๆ กัน โดยส่งเรื่องไปลงพิมพ์ใน “เสนาศึกษา” ซึ่งเป็นนิตยสารมีชื่อโด่งดังยุคนั้น ในปี พ.ศ.๒๔๗๐ นวนิยายเรื่องแรกในชีวิตการประพันธ์ของเขาชื่อ “ศึกอนงค์” ก็ได้รับการตีพิมพ์เป็นเล่มออกจำหน่ายโดยนายซุ่นใช้ แม้นมาส เป็นผู้พิมพ์ และมีคำอธิบายไว้ย่อว่าเป็น “วรรณคดีชั้นสูงของราชวงศ์อิเหนา”

ม.ชูพินิจ สารภาพว่า “ศึกอนงค์” เป็นเรื่องนิยายที่เกิดขึ้น “จากความคิด ซึ่งเต็มไปด้วยความเพ้อฝันของเด็กหนุ่มอายุยี่สิบปี” ...เด็กหนุ่มผู้ซึ่งเกิดมาเพื่อที่จะเขียน เขียน และเขียนหนังสือ

เขาได้ทิ้งอาชีพครู แล้วเดินมุ่งมั่นเข้ามาในโลกของการประพันธ์อย่างจริงจัง และไม่มีวันถอยหลังกลับ ม.ชูพินิจ เขียนหนังสือได้ดีเยี่ยมทุกแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้น เรื่องยาว หรือคอลัมน์

เขาทำงานได้มากอย่างประหลาด เคล็ดลับของเขามีอยู่ว่า การเปลี่ยนทำนองเขียนนั่นแหละ
คือการพักผ่อนไปในตัว  หลังจากคร่ำเคร่งกับนวนิยาย เขาจะหันมาพักด้วยคอลัมน์ แล้วก็
กระปรี้กระเปร่าสดชื่นขึ้นมาใหม่ ความคิดใหม่จุดขึ้นมาอีกพร้อมที่จะเริ่มเรื่องสั้นต่อไปใหม่
สำหรับหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ซึ่งทางโรงพิมพ์ได้ประกาศล่วงหน้าออกไปแล้วว่าฉบับต่อไปจะมี
เรื่องของ “เรียมเอง” ...ซึ่งก็มีจริงๆ

เขารักการเขียน และรักการท่องเที่ยวเพื่อเผชิญภัย เขาเคยเดินดุ่มตากแดดกรำฝนมาเสียจนชิน

“การท่องเที่ยวจำเป็นมากสำหรับนักเขียน เพื่อที่จะได้รู้จักโลกให้กว้างออกไป” ม.ชูพินิจ
เคยบอกกับข้าพเจ้า “ด้วยฝีเท้าซึ่งเคยเหยียบพื้นดินอย่างแน่น มีปืนกระบอกหนึ่งอยู่ในมือและมีภัยรอบด้าน ทำให้รู้สึกว่านั่นแหละคือชีวิตอันแท้จริงละ สำหรับคุณซึ่งยังไม่เคยคงจะเดาไม่ถูกหรอกว่า ความภาคภูมิใจเมื่อสัตว์ตัวหนึ่งล้มลงด้วยฝีมืออันแม่นยำของเรานั้น  จะชื่นบานสักเพียงไหน
ยิ่งกว่านั้น  มันทำให้เรามีอะไรใหม่ๆ สำหรับจะคิดและเขียนโดยไม่รู้จบอีกด้วย”

ทุกคราวที่เอ่ยถึงการบุกป่าฝ่าดง ม.ชูพินิจจะมีชีวิตชีวากระชุ่มกระชวยขึ้นมาทันที  เขายินดีที่จะคุยถึงเรื่องนี้นานๆ และเล่าถึงพนังตักซึ่งเป็นอาณาจักรอันล้มเหลวของเขาว่าชุกชุมไปด้วยเนื้อ
และนกมากมายเพียงไร

ข้าพเจ้าหลงใหล “แม่อนงค์” มาตั้งแต่เริ่มอ่านหนังสือเป็น ข้าพเจ้าเดินเข้าเดินออกในเวิ้งนาคเขษม ค้นหาหนังสือเก่าๆ ทุกเล่มเท่าที่จะพึงมี เพื่อจะอ่านเรื่องของ “แม่อนงค์” ครั้นข้าพเจ้า
โชคดีได้มาพบกับ “แม่อนงค์” ที่ข้าพเจ้าเคยบูชาฝีมือ ประโยคแรกที่ข้าพเจ้าถามก็คือ จะเริ่มต้น
อย่างไร จึงจะได้เป็นนักประพันธ์? และสำหรับ “แม่อนงค์” การเริ่มต้นอยู่ที่ไหน?
                คำตอบที่ข้าพเจ้าได้รับจาก “แม่อนงค์” ก็คือ :
                “ชีวิตการเขียนของผมและเพื่อนรุ่นเดียวกันเริ่มมาจากร้านกาแฟของอาตง”

มันเป็นร้านกาแฟเล็กๆ ซึ่ง ม.ชูพินิจและมวลมิตรสหาย (“ศรีบูรพา” “ยาขอบ” “สันต์
เทวรักษ์” ฯลฯ) เรียกกันติดปากว่าสภากาแฟของอาตง ที่นั่นเปรียบเสมือนสโมสรน้อยๆ ซึ่ง ม.ชูพินิจและเพื่อนฝูงที่ลุ่มหลงในการแต่งหนังสือ ใช้เป็นที่พบปะสนทนากัน เรื่องที่นำมาถกกันในสภากาแฟของอาตง มีทั้งเรื่องของตัวเองและคนอื่น เมื่อพบเห็นอะไรก็เอามาวิจารณ์กันอย่างไม่ต้องเกรงใจใคร “ซึ่งทำให้เราเป็นคนรู้จักคิด และรู้จักชีวิตดีขึ้น นับเป็นเรื่องสำคัญมากในชีวิตของผม”
ม.ชูพินิจว่า “ในเวลานั้นเราไม่รู้จะไปเรียนการประพันธ์กันที่ไหน เพียงแต่จะหาหนังสืออ่านหนึ่งเล่มก็แสนยาก ไม่เหมือนกับเดี๋ยวนี้หรอกครับ... ใครได้หนังสือดีมาเล่มหนึ่งก็บอกกันต่อๆไปว่ามีของดีอยู่ตรงนั้นตรงนี้ แล้วก็เผื่อแผ่ให้ได้อ่านกันทั่ว  --ก็พบที่ร้านอาตงนี่แหละ มีเรื่องมาคุยกันไม่
รู้จักเบื่อ... ”

ม.ชูพินิจ ได้ยึดการประพันธ์เป็นอาชีพตลอดมา เคยประจำทำงานอยู่กับหนังสือพิมพ์ไทยใต้,สุภาพบุรุษ,ไทยใหม่ (ยุคแรก),ผู้นำ (ร่วมกับป.บูรณปกรณ์และ “เวทางค์”),ประชาชาติ,ประชามิตร, (“ศรีบูรพา” เป็นกัปตัน),สยามนิกร,พิมพ์ไทย,สยามสมัย (ประหยัด ศ.นาคะนาท เป็นบรรณาธิการ ร่วมสมทบด้วย ประมูล อุณหธูป เป็นกำลังสำคัญ) เมื่อมองย้อนหลังไปดูสวนอักษรของเมืองไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เราจะแลเห็นความจริงข้อหนึ่งได้เด่นชัดว่า ม.ชูพินิจพร้อมด้วยสหายร่วมใจคือสามสี่ท่านในชุดที่ได้ร่วมกันสร้างนิตยสาร “สุภาพบุรุษ” เช่น “ศรีบูรพา” “ยาขอบ”
และ “สันต์ เทวรักษ์” เป็นผู้บุกเบิก new frontier แห่งโลกวรรณกรรมไทย  และข้าพเจ้าคิดว่าพวกเราทั้งหมดที่เขียนหนังสือกันอยู่เวลานี้เป็นหนี้บุญคุณของ ม.ชูพินิจ และนักเขียนชุด “สุภาพบุรุษ” ในแง่ที่ท่านเหล่านี้ได้หักร้างถางพงบุกเบิกดินแดนใหม่ให้แก่เราคือแนวการเขียนใหม่ สำนวนใหม่
และความคิดใหม่ๆ

งานบุกเบิกเป็นงานหนัก ต้องการความทรหดอดทนและความเสียสละเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะในด้านกสิกรรม หรือวรรณกรรม
เราขอยกนิ้วบูชาคุณผู้บุกเบิกเหล่านั้นด้วยคารวะ
นักอ่านหลายท่าน อาจจะกำลังคิดถึง “แผ่นดินของเรา” นวนิยายเรื่องใหญ่ของ ม.ชูพินิจ
ซึ่งยังมีผู้นิยมแพร่หลายมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เช่นเดียวกับ “ผู้ดี” และ “สี่แผ่นดิน” แต่ข้าพเจ้าได้ทราบว่าสำหรับ “ครูมาลัย” ผู้แต่งนั้น ชอบเรื่อง “ทุ่งมหาราช” มากกว่า

อีกหลายท่านอาจจะกำลังคิดถึงเรื่องสั้นชั้นเยี่ยมมากหลายที่ ม.ชูพินิจได้เขียนไว้ในนามของ “เรียมเอง” บางคนอาจจะคิดถึง “ระหว่างบรรทัด” ของน้อย อินทนนท์ หรือไม่ก็ “ล่องไพร” แต่ไม่ว่าจะเขียนเรื่องในทำนองไหน ความเป็น ม.ชูพินิจ-นักประพันธ์เอกย่อมฉายแสงเจิดจ้าอยู่เสมอ
                ตัวหนังสือที่ ม.ชูพินิจ เขียนเป็นตัวหนังสือที่มีลมหายใจ อ่อนหวานและมีเสน่ห์
                ใน “ระหว่างบรรทัด” มีกำยานแห่งความตรึงใจ แพรวพรายด้วยประกายแห่งความหวังและศรัทธาในเพื่อนมนุษย์และส่องให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในอุดมคติ
                ม.ชูพินิจ  เป็นผู้นำคนหนึ่งในยุคนวนิยายเริ่มต้นของเมืองไทย เป็นผู้พิสูจน์ให้เห็นว่า “เรื่องอ่านเล่น” มิใช่เพียงแต่จะอ่านกันเล่นเฉยๆ เพื่อจะลืมเท่านั้น เรื่องอ่านเล่นหรือนวนิยายนี่แหละ เป็นการสังสรรค์ทางศิลป์อย่างหนึ่ง ซึ่งมีคุณค่า และมีความจีรังยิ่งไปกว่าเรื่องอ่านจริงเสียอีก
                ม.ชูพินิจ เกิดที่ตำบลเล็กๆ ในจังหวัดกำแพงเพชร โดยกำเนิดเป็นคนชนบท และข้าพเจ้าเชื่อว่า ม.ชูพินิจเป็นคนชนบทอยู่ตลอดชีวิต แม้จะได้เข้ามาอยู่ในเมืองหรือนั่งอยู่ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ
ก็ตาม

ในคอลัมน์ “ป.ล.” อันลือชื่อ และในที่อื่นๆ ม.ชูพินิจชอบพูดถึง “ชีวิตลุ่นๆ” เสมอ ข้าพเจ้าคิดว่า ม.ชูพินิจก็เช่นเดียวกับนักคิดทั่วไป ได้พยายามสาะแสวงหาคำตอบที่เกี่ยวกับความจริงของชีวิต และเขาก็ได้พบว่า “ชีวิตลุ่นๆ” นี่เองคือความผาสุก โดยวลีนี้, ม.ชูพินิจหมายถึงชีวิตง่ายๆ...ชีวิตที่ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนขวนขวายหาหมวกใหม่ ในเมื่อมีหมวกใบเก่าอยู่แล้ว

จันทน์กะพ้อร่วงพรู...สายน้ำแม่ปิงไหลเอื่อย...เสียงเพลงสงกรานต์ก้องกระหึ่ม...ยอดข้าวสะบัดรวง...เรารักสิ่งเหล่านี้ ภาพฝันเหล่านี้แหละ ม.ชูพินิจ-นักประพันธ์เอกได้สอนให้เรารัก...
ภาพฝันที่เขาวาดไว้อย่างงดงามเหล่านั้นจะอยู่กับเรา...และลูกหลานของเราตลอดไป
ม.ชูพินิจ ผู้นี้เองคือผู้ที่ได้ริเริ่มร่วมกับอารีย์ ลีวีระ อดีตผู้อำนวยการบริษัทไทยพณิชยการ จำกัด ก่อตั้ง “ชมรมนักประพันธ์” ขึ้นเมื่อต้น พ.ศ.๒๔๙๓ โดยมีประหยัด ศ.นาคะนาท บรรณาธิการ
“พิมพ์ไทยวันจันทร์” ในขณะนั้นเป็นประธานของชมรม และข้าพเจ้าเองได้รับมอบหมายให้เป็นเลขานุการของชมรม ม.ชูพินิจ มองเห็นเป็นความจำเป็น และความสำคัญอย่างยิ่งที่บรรดานักเขียนควรจะมีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับวิชาชีพของตนแก่กันและกัน

ในตอนเย็นวันที่ ๒๑ สิงหาคมนี้เอง ขณะที่บรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในวงราชการและธุรกิจและญาติมิตรกำลังรดน้ำศพ ม.ชูพินิจ อยู่ที่วัดมกุฏกษัตริย์ ประภาศ วัชราภรณ์ ผู้จัดรายการ “วงวรรณกรรม” ของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกได้ไว้อาลัยแด่ ม.ชูพินิจ ไว้ในรายการของเขา โดยที่
“นายรำคาญ” ผู้ได้รับเชิญให้ไปเล่าเรื่องชีวิตและผลงานของเขาได้ขอให้ ประภาศ วัชราภรณ์ ระงับการพูดถึงตัวเขา และขอให้จัดรายการนั้นเป็นการไว้อาลัยแด่ ม.ชูพินิจทั้งหมดและ “นายรำคาญ” ก็ได้ร่วมพูดถึงชีวิตและงานของ ม.ชูพินิจ ด้วย

เมื่อประภาศ วัชราภรณ์ กล่าวว่า ม.ชูพินิจมีหุ้นส่วนสำคัญอยู่ในชีวิตการประพันธ์ของ “นายรำคาญ” ประหยัด ศ.นาคะนาท หรือ “นายรำคาญ” ได้ขอแก้ว่า ม.ชูพินิจ ไม่ได้มีหุ้นส่วนสำคัญในการงานของเขา หากเป็นผู้ลงทุนให้แก่งานประพันธ์และงานหนังสือพิมพ์ของเขาทีเดียว และได้กล่าวยกย่องน้ำใจอันกว้างขวางเผื่อแผ่ของ ม.ชูพินิจที่มีต่อเด็กๆ และเพื่อนร่วมวิชาชีพไว้อย่างจริงใจ ซึ่งประหยัด ศ.นาคะนาทเองก็เคยได้รับตั้งแต่เขาเริ่มเขียนหนังสือเมื่ออายุได้ ๑๙-๒๐ ปีทั้งๆ ที่ในขณะนั้นเขาไม่เคยรู้จัก ม.ชูพินิจมาก่อนเลย “นายรำคาญ” ตอบประภาศ วัชราภรณ์ เกี่ยวกับ
“ชมรมนักประพันธ์” ว่า ม.ชูพินิจได้ริเริ่มงาน “ชมรมนักประพันธ์” ขึ้นเพื่อที่จะให้ก้าวไปสู่สมาคมหรือสโมสรของนักเขียนเช่นเพ็นคลับในต่างประเทศนั่นเอง และขณะนี้ก็ได้มีผู้มีอุดมคติอันเดียวกันกับ ม.ชูพินิจ ได้ก่อตั้งสมาคมภาษาและหนังสือ ซึ่งมีฐานะเช่นเดียวกับเพ็นคลับและได้รับการยกย่องจากนานประเทศเป็นอันดี ซึ่ง ม.ชูพินิจ ก็ดำรงตำแหน่งอุปนายกอยู่จนถึงวายชนม์

ประหยัด ศ.นาคะนาท ได้เล่าถึงการให้ความหมายในข้อแตกต่างระหว่างนักหนังสือพิมพ์กับนักประพันธ์ของ ม.ชูพินิจว่า ปัญหาความแตกต่างกันหรือไม่ เพียงไร ระหว่างนักหนังสือพิมพ์กับนักประพันธ์ซึ่งมักเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในวงการหนังสือเสมอมานั้น  คุณครูมาลัยได้เคยพูดไว้สั้นๆ แต่ชัดเจนที่สุดใน “ชมรมนักประพันธ์” นัดแรกเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๓ ที่สีลมว่า

“นักหนังสือพิมพ์กับนักประพันธ์ ข้อแตกต่างกันอย่างเห็นได้ง่ายและเห็นได้ชัด อยู่ที่นักหนังสือพิมพ์ต้องเป็นผู้ซื่อตรงต่อข้อเท็จจริง ส่วนนักประพันธ์ต้องคำนึงมโนภาพ และจินตนาการอันสวยสดงดงามด้วย”

ศพของ ม.ชูพินิจได้รับการบำเพ็ญกุศลในท่ามกลางความสลดใจและความอาลัยของบรรดาญาติมิตรและผู้คุ้นเคยที่วัดมกุฏกษัตริย์เป็นเวลาหลายวันเพราะทั้งญาติมิตร และสถาบันกับองค์การธุรกิจและการกุศลที่ ม.ชูพินิจ ได้ทำงานอยู่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพด้วยความเต็มใจอย่างแท้จริง เสด็จในกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ และพลเอกถนอม กิตติขจร ทั้งสองรองนายกรัฐมนตรีที่ได้เสด็จและไปเคารพในคืนแรก และในคืนต่อมาท่านนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับท่านผู้หญิงก็ได้ให้นำพวงมาลาไปเคารพศพด้วย

วิลาศ มณีวัต
สยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์
วันอาทิตย์ ๑ กันยายน ๒๕๐๖

 
 

เราดำลังเล่นบิลเลียดกันอยู่ ในตอนกลางคืนวันพุธที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๐๖ สุโข ชูพินิจ
เข้ามาในห้อง เขาบอกว่า
“คุณลุงตายแล้ว”
คุณลุงของสุโข คือคุณครูมาลัย  ชูพินิจ ซึ่งข้าพเจ้าได้ข่าวมาก่อนแล้วว่าท่านล้มป่วยเมื่อกลับจากภาคเหนือ ป่วยหนักมาก และในที่สุดก็ถึงแก่กรรมเมื่อตนบ่ายวันพุธที่ ๒๐ นั่นเอง ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คุณครูมีอายุ ๕๘ ปี

ข้าพเจ้าไม่คิดว่า คุณครูจะจากไปในระยะนี้ เคยคิดอยู่เสมอว่าจะขออนุญาตตามหลังท่านเข้าป่าสักครั้ง คิดว่าจะต้องถึงวันนั้นได้สักวันหนึ่ง โดยไม่ได้คิดล่วงหน้าไว้เลยว่า ท่านอาจจะพบวาระสุดท้ายของชีวิตเสียเช่นนี้

สำหรับข้าพเจ้า คุณครูมาลัย ชูพินิจ คือสิ่งที่คงที่ รู้สึกเหมือนท่านจะไม่แก่ ไม่ล้าสมัย ไม่เปลี่ยนแปลง มาลัย ชูพินิจซึ่งข้าพเจ้าเคยอ่านเรื่อง “ชายชาตรี” เมื่อข้าพเจ้าอยู่ชั้นมัธยม หรือมาลัย
ชูพินิจ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญก็คือมาลัย ชูพินิจ คนเดียวกัน สุภาพ ละมุนละไม พูดช้าวาจาไพเราะ ทุกทัศนะกว้างขวางด้วยน้ำใจนักกีฬา เช่นไรก็เช่นนั้น

ครั้งหนึ่ง ในรายการปัญหาโต๊ะกลมที่ไทยทีวีช่อง ๔ ท่านได้ให้ความหมายของคำว่าสุภาพบุรุษว่า

“ผมอยากจะออกความเห็นสั้นๆ ว่า สุภาพบุรุษ ก็คือลูกผู้ชายนี่เอง”
ก่อนที่ข้าพเจ้าจะเขียนเรื่องเป็น ข้าพเจ้าชอบอ่านมาก่อน ข้าพเจ้าพบเข้าใจและแน่ใจทีละน้อยๆ ว่าคุณครูชอบเรื่องเกี่ยวกับลูกผู้ชายหรือสุภาพบุรุษข้อเขียนหรือเรื่องต่างๆ ที่ท่านเขียนนั้นมีกายทิพย์ ส่งเสียงแว่วๆ ออกมาเองว่าผู้เขียนชอบ ต้องการให้ผู้อ่านชอบ และต้องการให้ผู้อ่านเป็นลูกผู้ชาย

ตัวข้าพเจ้าเอง เล็กน้อยนัก มาทีหลัง พบเห็นตัวมาลัย ชูพินิจ นักประพันธ์ใหญ่ได้รวมเวลาทั้งหมดแล้วไม่เกิน ๑๐ ชั่วโมง แต่ข้าพเจ้าต้องการที่จะเขียนด้วยความรู้สึกอันดีงามต่อท่านผู้นี้

เอาตรงไหนก่อนดี เอาตรงนี้ คราวนั้นสมชาย  มาลาเจริญ กลับจากเมืองนอก มีความกระหายที่จะจัดทำละครทีวีดีๆ เขาจึงตั้งคณะ “สมชายและเพื่อน” ขึ้น และปรึกษาข้าพเจ้าถึงบทละครที่จะแสดง ข้าพเจ้าไม่รั้งรอเลยที่จะให้เขาได้เป็นศักดิ์  สุริยันของน้อย  อินทนนท์ อีกครั้งหนึ่ง เราจึงได้พากันไปหาคุณครูมาลัย  ชูพินิจ เจ้าของเรื่องป่าอันยิ่งใหญ่ชุด “ล่องไพร” ซึ่งท่านคุ้นเคยกับสมชายอยู่ก่อนแล้ว จากการเขียนละครวิทยุเรื่องล่องไพรให้สมชายแสดงนำที่วิทยุ ท.ท.ท.

ตอนบ่ายวันอาทิตย์วันนั้น เราสองคนเดินเข้าไปในบริเวณบ้านเล็กๆ ที่ซอยสุโขทัย บ้านเล็กรั้วสังกะสีแคบยิ่งขึ้นด้วยรังกล้วยไม้ นี่แหละคือบ้านของนักประพันธ์ใหญ่มาลัย ชูพินิจ หรือน้อย
อินทนนท์ เจ้าของ “ล่องไพร”

เราบอกให้เด็กในบ้านไปเรียนท่านว่าเรามาหา แล้วเราก็ขึ้นบันไดไปสู่ห้องรับแขกเรือนไม้กระดาน  เป็นห้องไม่กว้าง  พื้นกระดานกวาดถูเป็นมัน มีตู้หนังสือเต็มไปด้วยหนังสือที่เขียนโดยเจ้าของบ้าน มีโต๊ะรับแขกเล็กๆ แบบไม่ทันสมัยเลย ปูด้วยผ้าขาวซักสะอาดจนมีกลิ่นแดด ข้างฝามีรูปขยายขนาดใหญ่เกือบเท่าหน้าต่างหลายรูป  เป็นรูปที่ถ่ายมาจากป่า ในขณะที่น้อย  อินทนนท์
กำลังใช้ชีวิตแบบที่หลงใหล มีรูปถ่ายคู่กับสหาย ถ่ายคู่กับพราน ค่ายคู่กับสัตว์ที่ยิงได้ รูปเหล่านี้เป็นสิ่งที่เด่นออกมาจากสิ่งอื่นๆ

ห้องรับแขกนี้เป็นตัวแทนลักษณะสงบของเจ้าของบ้าน มันมีบรรยากาศธรรมดา ง่ายๆ ไม่มีสิ่งใดข่มหรือขู่ความรู้สึกของแขก แต่มันเป็นกันเอง และแสดงตัวแทนเจ้าของตรงตู้หนังสือ และรูปถ่ายจากป่าดังกล่าวมาแล้ว

น้อย  อินทนนท์ นุ่งกางเกงเพชร ใส่เสื้อเชิ้ต เอาชายเสื้อไว้ข้างในอย่างเรียบร้อย เดินถือซองบุหรี่และไม้ขีดเบ็นซินออกมา ใบหน้าแสดงความใจดีเมื่อเห็นเรา สมชายได้แนะนำให้ท่านทราบว่า ข้าพเจ้าคือคนที่รับอาสาจะเขียนบทโทรทัศน์ให้แก่คณะใหม่ที่เขาจะตั้งขึ้น และเรามาขอเรื่อง “ล่องไพร” ของท่าน

ถูกใจน้อย อินทนนท์ เป็นอย่างยิ่งทีเดียว ข้าพเจ้ารู้ดีจากคำอนุญาตที่ท่านให้ออกมาโดยทันที ยิ่งกว่านั้นเดินไปเปิดตู้หนังสือ หยิบ “ล่องไพร” ออกมาพลิกดูกันอีกหลายเล่ม

น้อย  อินทนนท์ ได้พูดว่า ยินดีมากที่เรื่องป่าจะได้ออกโทรทัศน์อีกหลังจากยุคหนึ่งที่คุณสรรพสิริ  วิรยศิริ ได้เคยจัดทำมาแล้ว น้อย  อินทนนท์ต้องการให้เด็กและผู้ใหญ่ในกรุงซึ่งไม่มีโอกาสไปป่าได้หย่อนใจด้วยบรรยากาศของธรรมชาติโดยเฉพาะ ท่านต้องการให้เด็กๆ ของเรารักป่า เข้าใจป่าและไม่กลัวป่า อยู่ในป่าเดินอย่างไรจึงจะไม่หลง กินอย่างไรจึงจะมีรส นอนอย่างไรจึงจะปลอดภัย ดูอย่างไรจึงจะเห็นความงาม น้อย อินทนนท์ ไม่เสียดายเวลาเลยที่จะนั่งเล่าเรื่องของป่าให้เราฟัง ท่านบอกเราว่า ในชุด “ล่องไพร” นั้น เรื่องที่ท่านพอใจที่สุด ไม่ใช่ไอ้เก หรือ ไอ้งาดำที่คนฟังวิทยุ ท.ท.ท.ติดกันอย่างหลงใหล แต่เป็นเรื่องที่เขียนในตอนหลังๆ คือ “มดแดง” อันเป็นตอนที่ตาเกิ้นเป็นพระเอกพิสูจน์ความอดทนระหว่างตัวกับเสือ โดยมี “มดแดง” รังขนาดยักษ์เป็นกรรมการและตาเกิ้นเป็นฝ่ายชนะ

เราลาน้อย  อินทนนท์ กลับมาด้วยความรู้สึกปลอดโปร่ง สมหวัง เราได้ทำละครโทรทัศน์ชุด “ล่องไพร” สำเร็จไปสองชุด แล้วได้ขออนุญาตเรื่อง “สวนหงส์” ของท่าน ซึ่งข้าพเจ้าอ่านติดใจมาตั้งแต่เมื่อยังอายุน้อยมาทำละครโทรทัศน์อีกซึ่งงานก็ได้ผ่านไปอย่างน่าชื่นใจ  ละครจะสนุกถึงขนาดหรือไม่ข้าพเจ้าไม่พูดถึง  แต่ข้าพเจ้าได้ทำหน้าที่เขียนบทโทรทัศน์จากเรื่องของนักประพันธ์
ใหญ่ของเมืองไทยด้วยความภูมิใจ ตั้งใจและเป็นบทโทรทัศน์ที่ข้าพเจ้าสมใจ

ในเวลาต่อมา ข้าพเจ้าก็มีโอกาสเพียงแต่ได้ทำความเคารพคุณครูมาลัย เมื่อท่านไปที่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี จนกระทั่งระยะหนึ่ง มีการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกันในเรื่องการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ ครั้งนี้เอง ข้าพเจ้ามีโอกาสได้เข้าร่วมฟังความเห็นเหล่านั้นด้วย นี่ก็เป็นโอกาสสุดท้ายที่ข้าพเจ้าได้พบตัวจริงของท่าน ได้ฟังเสียงและทัศนะต่างๆ ของท่านซึ่งแถลงหรือให้ไว้ในที่ประชุมนั้น ทั้งในแง่ของอารมณ์ขันเป็นกันเองเช่นว่า

“จะเซ็นเซ่อร์เรื่องอะไรก็เซ็นไปเถิด ผมขอเรื่องจ้าวทุ่งเอาไว้ก็แล้วกัน”
“คนเราที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แม้จะมองปัญหากันคนละทัศนะ แต่เมื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกันแล้ว ก็ลงรอยกัน”
“การที่มีคนพูดถึงเรื่องใดมาก ก็เพราะเขาสนใจกันมากนั่นเอง”
“ซึ่งที่ประชุมแจ้งว่า มลายูมีวิทยุสถานีเดียว ฟิลิปปินส์มีหลายแห่งแต่ไม่เท่าของเรา ผมอยากจะใช้คำว่า นั่นเอายังไม่ พัฒนารมณ์”
“ทีหนังฝรั่งมีการยิงผู้หญิง ถ้าเราต้องตัดทิ้งมันก็เกินไป คนไทยเราก็ยิงผู้หญิงกันอยู่บ่อยๆ”
“ถ้าเป็นบทประพันธ์ของผม ใครจะเซ็นเซ่อร์ ตัดตรงไหนก็ตัดได้ แต่ต้องตัดชื่อผมออกด้วย”
ข้าพเจ้าไม่มีโอกาสจะได้อยู่ใกล้ชิดนักประพันธ์เอกผู้นี้ เพราะอาวุโสของข้าพเจ้านักเมื่อเทียบกัน เมื่อท่านจบมัธยม ๘ ข้าพเจ้าก็เพิ่งเกิด แต่ข้าพเจ้ารู้จักท่านโดยอ่านหนังสือที่ท่านเขียน
และมีโอกาสได้ฟังคารมหรือทัศนะของท่านในเวลาอันน้อยมาก
จากรายการวงวรรณกรรมของช่อง ๗ ในวันที่ ๒๑ สิงหาคม รุ่งขึ้นจากที่คุณครูมาลัย ชูพินิจ
ถึงแก่กรรม คุณประหยัด ศ.นาคะนาท ได้กล่าวว่า
“คุณครูมาลัย ได้ลงทุนให้แก่ชีวิตการเขียนหนังสือของผม โดยยอมรับข้อเขียนของผมลงในหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ที่ท่านเป็นบรรณาธิการ ทั้งๆที่ยังไม่เคยรู้จักไม่เคยเห็นหน้ากันเลย
และได้สนับสนุนให้ผมได้เขียนในแบบต่างๆ ได้โดยใจกว้างขวาง ฯลฯ”

ตัวข้าพเจ้าเองก็ได้รับการลงทุนจากคุณประหยัด เมื่อคุณประหยัดเป็นบรรณาธิการพิมพ์ไทยวันจันทร์ และรับเรื่องสั้นเรื่องแรกของข้าพเจ้าลงพิมพ์ โดยยังไม่เคยรู้จักข้าพเจ้าเลย เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๙๓

อาจินต์ ปัญจพรรค์
ชาวกรุง
(ม.ค.-ก.พ.๒๕๐๗)