เมื่อประมาณ ๔๐ ปีมาแล้ว ข้าพเจ้าได้พบคุณมาลัย ชูพินิจ เป็นครั้งแรกที่เรือนแถวชั้นเดียว ใต้ต้นมะขามใหญ่ติดหอนั่ง ในบ้านท่านเจ้าคุณมหาอำมาตยาธิบดี เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เชิงสะพานยศเส ขณะนั้นคุณมาลัยกำลังเรียนอยู่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และไปกวดวิชากับครูโรงเรียนเทพศิรินทร์ในเวลากลางคืน ที่ห้องโถงโรงเรียนเทพศิรินทร์ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นผู้แนะนำให้ข้าพเจ้ารู้จักกับคุณมาลัย ในฐานะที่กำลังคึกคะนองลำพองใจอยู่กับการเขียนหนังสือ เพื่อจะให้ตัวหนังสือพาเราไปสู่เมืองสวรรค์ และเมืองนรกสุดแท้แต่กรรมลิขิตของแต่ละคน

คุณมาลัย กับข้าพเจ้า ควรจะได้ชื่อว่าเป็น "คนบ้านเดียวกัน" ข้าพเจ้าเกิดจันทบุรี คุณมาลัย เกิดกำแพงเพชร แต่เราพบกันในบ้านท่านเจ้าคุณมหาอำมาตย์ฯ มาเป็น "คนบ้านเดียวกัน"

ในบ้านอันใหญ่โตมโหฬารแห่งนี้ ข้าพเจ้าเคยอยู่ในบ้านท่านเจ้าคุณมหาอำมาตย์ฯ เมื่อราว ๕๐ ปีมาแล้ว คือเมื่อข้าพเจ้าอายุได้ ๖-๗ ขวบ คุณมาลัยเข้าไปอยู่หลังข้าพเจ้า ๕-๖ ปี คือหลังจากที่ข้าพเจ้าได้ย้าย ออกไปอยู่ที่นางเลิ้งแล้ว แม้เราจะไม่ได้อยู่ร่วมกันในเวลาเดียวกัน แต่ก็ควรนับได้ว่าเราเป็น "คนบ้านเดียวกัน" บ้านเจ้าคุณมหาอำมาตย์ฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยยุคนั้นใหญ่โตกว้างขวางมาก บริเวณบ้านมีเนื้อที่อย่างน้อยยี่สิบไร่ มีตึกและบ้านเรือนมากมากหลายหลังแวดล้อมไปด้วยสนามและสุมทุมพุ่มไม้อันงามตระการ ท่านเจ้าคุณเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่มีความปราดเปรื่องอย่างยิ่ง เป็นที่ไว้วางพระราชหฤหัยแห่งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ในฐานะที่ท่านเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ท่านก็เป็นที่เคารพนับถือของบรรดาคนเป็นอันมาก โดยเฉพาะข้าราชการและคหบดีในหัวเมือง และข้าราชการกับคหบดีเหล่านี้ มีอยู่มากราย ได้พากันนำบุตรหลานมาฝากไว้ในบ้านของท่าน เพื่อให้ศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนดีๆ เพราะตนเองไม่มีบ้านในกรุงเทพฯ

ท่านเจ้าคุณได้ปลูกเรือนแถวยาวให้นักเรียนอยู่กันอย่างสบายมี "เงินวิค" แจกให้คนละหนึ่งบาททุกสัปดาห์ มีอาหารเลี้ยงอย่างอุดมสมบูรณ์ นักเรียนเมืองเหล่านี้มาชุมนุมอยู่ในบ้านของท่านนับสิบ เย็นๆก็เล่นหัวกันอย่างสนุกสนานเป็นที่ครึกครื้นอย่างยิ่ง นักเรียนพวกนี้มากมายหลายคน ได้เป็นใหญ่เป็นโตไป ขณะนี้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่ก็มี ขณะนั้นคุณพ่อของข้าพเจ้าได้รับ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงรามฤทธิรงค์ ตำแหน่งยกกระบัตร มณฑลราชบุรี เนื่องจากคุณพ่อก็เป็นผู้ที่เคารพท่านเจ้าคุณอย่างยิ่ง และเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาท่านจึงฝากข้าพเจ้าให้มาอยู่ในบ้านของท่านเจ้าคุณเมื่อพ.ศ. ๒๔๕๘ เพื่อให้เข้าศึกษาในโรงเรียนเทพศิรินทร์ คุณมาลัยเองก็เข้ามา อยู่ในบ้านนี้ เพื่อจะเรียนหนังสือในทำนองเดียวกัน แต่เข้ามาหลังจากที่ข้าพเจ้าได้ย้ายออกไปแล้วราว ๕-๖ ปี

คุณมาลัย ชูพินิจ เกิดมาเพื่อจะเขียนหนังสือ ความจริงข้อนี้เพื่อนเก่าอย่างข้าพเจ้ากล้ายืนยันได้เสมอ คุณมาลัยเป็นทั้งนักอ่านและนักเขียน ห้องสมุดท่านเจ้าคุณมหาอำมาตย์ฯ เป็นห้องสมุดที่มีหนังสือมากมายหลายชนิด ดูเหมือนว่าคุณมาลัยจะได้อ่านเสียเกือบทุกเล่ม แต่ที่สนใจมากก็คือหนังสือประวัติศาสตร์และวรรณคดี กล่าวได้ว่าคุณมาลัยได้สร้าง "ม.ชูพินิจ" กับ "แม่อนงค์" ขึ้นในห้องสมุดของท่านเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ต้นตระกูล "วิรยศิริ" แห่งนี้อย่างไม่มี ปัญหาเลย

ข้าพเจ้าไม่ทราบว่า ในขณะที่ข้าพเจ้าทำหนังสือพิมพ์ "ดรุณสาสน์" อยู่ในโรงเรียน เทพศิรินทร์ ราว พ.ศ.๒๔๖๔-๒๔๖๗ และคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ม.จ.อากาศดำเกิงทำหนังสือพิมพ์ "ศรีเทพ" แข่งขันกันอยู่นั้น คุณมาลัย ชูพินิจทำหนังสือพิมพ์อะไรในโรงเรียนที่กำแพงเพชรและที่สวนกุหลาบ ตลอดหลายสิบปีของมิตรภาพ เราไม่ค่อยได้คุยกันถึงชีวิตนักเรียน ซึ่งอยู่กันคนละโรงเรียนจึงไม่ค่อยจะรู้เรื่องกัน แต่ขณะที่ข้าพเจ้าพบคุณมาลัยเป็นครั้งแรกที่เรือนแถวไม้ในบ้านท่านเจ้าคุณมหาอำมาตย์ฯ นั้น คุณมาลัยกำลังเขียนนวนิยายเรื่องใหญ่คือเรื่อง "ศึกอนงค์" ให้กับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่าหนังสืออะไร ส่วนข้าพเจ้าก็กำลังเขียนเรื่องลงพิมพ์ในหนังสือ "เสนาศึกษา" "ศัพท์ไทย" "ไทยเขษม" โดยใช้นามจริงและนามปากกา เป็นเรื่องนิยายรักบ้าง เป็นเรื่องแปลจากภาษาต่างประเทศบ้าง

"ศึกอนงค์" ของคุณมาลัย (ม.ชูพินิจ) สำเร็จขึ้นจากห้องสมุดของท่านเจ้าคุณมหาอำมาตย์ฯ คุณมาลัยบอกข้าพเจ้าว่าต้องค้นคว้ามากเพราะเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ซึ่งต้องเขียนอย่างประณีตบรรจง เพราะต้องแข่งกับ "ดาบศักดิ์เหล็กน้ำพี้" ของ "อายัณโฆษ" ในหนังสือพิมพ์รายเดือน "ไทยเขษม" ยุคนั้นเจ้าแห่งตลาดหนังสือซึ่งนักอ่านนิยมกันอย่างแพร่หลายมากก็มีอยู่สามฉบับคือ หนังสือพิมพ์ ไทยเขษม นักอ่านที่ทันสมัยมักจะต้องมีหนังสือฉบับใดฉบับหนึ่งหรือทั้งสามฉบับนี้ไว้ในห้องรับแขก มีเรื่องอะไรที่เด่น ก็มักจะเอาไปถกกันอย่างเกรียวกราว ซึ่งโดยมาก มักจะเป็นพระเอกถือดาบทั้งเรื่องไทยและเรื่องแปลและมักจะตั้งชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า "ดาบ..." เช่น ดาบชิงราชบัลลังก์ ดาบศักดิ์เหล็กน้ำพี้ ดาบกู้เกียรติ ฯลฯ นักประพันธ์รู้สึกว่ามีหน้ามีตามากถ้าได้ เข้าไปเขียนในหนังสือสามฉบับนี้

ในขณะนั้น เรื่องที่คนอ่านถกกันอย่างเกรียวกราวมากก็คือเรื่องดาบศักดิ์เหล็กน้ำพี้ ของอายัณโฆษ คือขุนธนกิจวิจารณ์ (ประยูร ธชาลุภัฏ ถึงแก่กรรม เมื่อ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๐๖) และเรื่อง "ศึกอนงค์" ของ ม.ชูพินิจ ซึ่งเป็นเรื่องอิงพงศาวดาร แสดงฝีมือดาบเหมือนกัน คุณมาลัยเขียนเรื่องใหญ่เรื่องนี้อย่างลืมกินลืมนอนทีเดียว ข้าพเจ้าไปที่ห้องคุณมาลัยก็มักพบเถ้าบุหรี่ที่เต็มพื้น เจ้าของห้องหน้าตาอิดโรย ผมยุ่ง มุ้งไม่ได้ตลบลงเพราะไม่ได้นอน เมื่อ "ศึกอนงค์" จบลงแล้ว ข้าพเจ้าก็ยังคงพบคุณมาลัยในลักษณะเดิม คืออดนอน ผมไม่หวีปล่อยไว้ยาวรุงรัง ตาลึกโรย แสดงว่ายังคงจับปากกาเรื่อยไป คุณมาลัยเป็นนักอกนอนที่ดูเหมือนว่าชนะพวกเราทุกคน ขนาดตีสามเราอาจรู้สึกว่าดึกมากไป แต่สำหรับคุณมาลัยดูเหมือนจะยังหัวค่ำอยู่ คุณมาลัยที่เรือนแถวไม้ใต้ต้นมะขามใหญ่ติดกับหอนั่งในบ้านท่านเจ้าคุณมหาอำมาตย์ฯ เป็นนักเขียนหนังสือมาราธอน เขียน อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เขียนด้วยความเพลิดเพลิน ฝันอยู่ในโลกที่ตัวเองเป็นพระราชา ซึ่งไม่มีพระราชองค์ใดจะมีความสุขเท่า ความหนุ่ม,ความย่ามใจ,ความพึงใจ,ตลอดจนความตื่นใจ, ที่ชื่อ "ม.ชูพินิจ" กำลังอยู่ที่ริมฝีปากผู้อ่านทั้งกรุง ทำให้นักประพันธ์หนุ่มของเมืองไทยผู้นี้ลืมกินลืมนอน ก้มหน้าก้มตาเขียนหนังสืออย่างคลั่งไคล้ไหลหลง และอย่างมีความสุขมาก

ความจริงในยุคนั้น แม้ท่านเจ้าของหนังสือพิมพ์จะไม่มีเจตนาจะกินแรงเราเลยแต่ก็เหมือนกินแรง เพราะไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับไหนจ่ายค่าเขียนให้เราสักแดงเดียว เขาถือว่าการที่ลงพิมพ์เรื่องที่เราอุตส่าห์อดนอนตากยุงเขียนส่งไปให้นั้นเป็นการตอบแทนคุ้มค่าอยู่ในตัวแล้ว รางวัลแท้ๆ ที่เราได้รับก็คือได้เป็นสมาชิกพิเศษอ่านหนังสือฟรี ซึ่งถือกันว่าเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่เชิงหน้าชูตา โก้เก๋ อย่างประมาณไม่ได้ นักเขียนผู้ทำตัวเหมือนคนใจดีเหล่านี้ไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรเลย ขออย่างเดียว ให้ท่านบรรณาธิการตีพิมพ์เรื่องของเขาเท่านั้น เขาก็พอใจเป็นที่สุดแล้ว

นั่นเป็นยุคของพวกเรา หนุ่มน้อยนักประพันธ์ที่ถือหลักว่าปากกาสำคัญกว่าท้อง เราไม่ได้คิดว่าเราจะกินอะไร จะทำอะไร หรือจะเป็นอะไร ขออย่างเดียว ให้ได้เขียนหนังสือเท่านั้น โลกนี้ดูเหมือนเป็นโลกที่ง่ายเหลือเกิน ไม่ต้องคิดทำมาหากิน เพราะดูคล้ายกับว่าโลกได้เป็นสมบัติของเราไปแล้ว เราเพ้อฝันอยู่ในโลกของเราอย่างมีความสุขความพอใจ ตัวหนังสือที่เราปั้นออกมาดูช่างมีเสน่ห์เสียจริงๆ แต่ละตัวมีอานุภาพทำให้ลืมชีวิตของตัวเองไปได้ทั้งชีวิต ไม่แยแสสนใจกับการแต่งตัว การกิน การนอน ไม่เคยคิดถึงอนาคตว่าจะอดตายหรือไม่ ดูเหมือนจะเชื่อว่าสามารถจะปั้นชีวิตของตัวเองได้ เช่นเดียวกับปั้นตัวละครที่แต่งขึ้นมา เสน่ห์ของตัวหนังสือทำให้ข้าพเจ้าทิ้งสะกอล่าซิป ทำให้ "เวทางค์" ทิ้งกระบี่และดาวของนายพล เดี๋ยวนี้แม้เราจะรู้ว่าเสน่ห์ของตัวหนังสือไม่ได้ทำให้เราเป็นอะไรขึ้นมาได้ นอกจากนักปั้นตัวหนังสือราคาตัวละไม่กี่สตางค์ แต่เราก็มีความภูมิใจที่ยังสามารถรักษาเกียรติศักดิ์ของเราไว้ได้ โยที่ไม่เคยยอมให้อิทธิพลอำนาจของใครบังอาจบุกรุกเข้ามาบังคับข่มขี่กดหัวเราได้เลย ใจของเรายังเป็นอิสระเสรีและจะเป็นอยู่อย่างนี้จนถึงวันตาย

จากตัวหนังสือแรกในเรื่อง "ศึกอนงค์" ที่สร้าง "ม.ชูพินิจ" ขึ้นมาในโลกหนังสือไทยอย่างเกรียวกราวเมื่อยุค "ศัพท์ไทย" จนถึงตัวหนังสือตัวสุดท้ายในคอลัมน์ "ระหว่างบรรทัด" ของ "พิมพ์ไทย" ในนามของ "น้อย อินทนนท์" คุณมาลัย ชูพินิจ ได้ใช้เวลาเดินทางมากว่า ๔๐ ปี แม้ว่าในระหว่างพวกเราหลายคนที่หลงเสน่ห์ของตัวหนังสือ ส่วนมากจะไม่มีอะไรดิบดีขึ้นมาเพราะตัวหนังสือที่เราเขียนก็ตาม แต่เราก็ภาคภูมิใจแทน ที่คุณมาลัยได้รับเกียรติสูงส่ง จากทางราชการในวาระสุดท้ายเพราะตัวหนังสือที่ปั้นขึ้นมา คุณมาลัยเป็นนักประพันธ์คนแรกของเมืองไทยที่ได้รับเกียรตินี้จากงานของตัวเอง ตลอด ๔๐ กว่าปี คุณมาลัย ไม่ทำอะไรนอกจากเขียนหนังสือ เมื่อเขียนจนกระทั่งได้พบความสำเร็จอันมีเกียรติ แม้เกียรตินั้นจะมาถึงในเวลาที่ดวงตะวันจวนจะตกดินเราผู้เป็นเพื่อนเก่าก็ดีใจ

ข้าพเจ้าไม่คิดว่าดวงดาวอันสุกใสรุ่งโรจน์ของ คุณมาลัย ชูพินิจ ที่ฉายแสงวูบวาบขึ้นมาในวงงานของรัฐบาลเพียง ๔ ปีเศษ จะมืดมิดลงอย่างรวดเร็วเพียงเพราะการล้มเจ็บชั่วเวลาไม่กี่สัปดาห์ ข่าวมรณกรรมของคุณมาลัยเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๐๖ ทำให้ข้าพเจ้าตกตะลึงงงงันพูดไม่ออก ข้าพเจ้าต้องเสียเพื่อนเก่าที่สุดในวงการหนังสือไปอีกคนหนึ่งภายหลังที่ได้เสีย คุณโชติ แพร่พันธุ์ คุณปกรณ์ บูรณปกรณ์ คุณเฉวียง เศวตะทัต คุณถนอม มหาเปารยะ ม.ล.ต้อย ชุมสาย ฯลฯ ไปแล้ว วันอาบน้ำศพคุณมาลัยที่วัดมกุฏกษัตริย์ ข้าพเจ้าถามตัวเองว่าต่อไปนี้จะถึงเวรใคร คุณมาลัยนอนอยู่ บนเตียงไม้เช่นเดียวกับที่คุณโชติ เคยนอนให้เราอาบน้ำศพเมื่อหลายปีมาแล้ว ใครจะมานอนเป็น คนต่อไปอีก ?

ขณะที่บรรจงรินน้ำอบลงบนมือวาที่เหลืองและซีด มือที่หยุดเขียนหนังสือแล้ว เป็นการแน่นอนนับตั้งแต่นี้ไปข้าพเจ้าก็มองดูหน้าเพื่อนเก่า นักผจญชีวิตนักนิยมไพร นักคิด นักหนังสือพิมพ์ นักประพันธ์ ซึ่งมามีชีวิตอยู่ในตัวของคุณมาลัย ชูพินิจ ได้หลับไปแล้ว-หลับสนิท ไม่มีวันตื่น หลับให้สมกับที่เป็นนักอดนอนมาราธอนเพราะความหลงตัวหนังสือ คุณมาลัยหลับตาสงบ มีความสุขจากเรา-จากทุกสิ่งทุกอย่างในโลกอันวุ่นวายเพราะความไม่รู้จักพอของมนุษย์ทั้งปวงไปแล้ว พ้นทุกข์-พ้นความหลอกหลอนของชีวิตที่ล้วนแต่สับปลับไม่มีอะไรแน่

และจากดวงหน้าของเพื่อนเก่าวัย ๕๘ ที่ข้าพเจ้าได้เห็นเป็นครั้งสุดท้ายในวันนั้น ข้าพเจ้าก็ย้อนคิดไปถึง คุณมาลัย ชูพินิจ เมื่อ ๔๐ ปีก่อน

จากการพบกันเป็นครั้งแรกที่เรือนแถวไม้ใต้ต้นมะขามใหญ่ในบริเวณเนื้อที่ ๒๐ ไร่เศษของบ้านท่านเจ้าคุณมหาอำมาตยาธิบดี เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยยุคนั้น ข้าพเจ้าก็ได้คุณมาลัยเป็นเพื่อนนักเขียนที่สนิทยิ่งเพิ่มขึ้นอีกผู้หนึ่งในบรรดาเพื่อนนักเขียนร่วมโรงเรียนที่เห็นหน้ากันอยู่ในขณะนั้น เช่น คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์, คุณสนิท เจริญรัฐ, คุณสุดใจ พฤทธิสาลิกร ("บุศราคำ" ถึงแก่กรรม) , คุณเฉวียง เศวตะทัต ("วงศ์เฉวียง"ถึงแก่กรรม) คุณสุกรี พยัคฆนันทน์ ("ดิฉัน" ถึง แก่กรรม) ม.จ.อากาศดำเกิง (สิ้นชีพดักษัย) คุณป่วน บูรณศิลปิน (ปกรณ์ บูรณปกรณ์ "นายศิลป์" ถึงแก่กรรม) , ม.ล.ต้อย ชุมสาย ("น้อย อภิรุม" ถึงแก่กรรม) ,คุณโชติ แพร่พันธุ์ ("ยาขอบ" ถึงแก่กรรม) คุณทองใบ (อุเทน) พูลโภคา ("ช่อมาลี" ถึงแก่กรรม) ฯลฯ บรรดาเพื่อนเก่าเหล่านี้มีอยู่สอง คนที่ออกจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ไปทำหนังสือพิมพ์ก่อนเรียนจบ สองคนนี้คือ คุณป่วน บูรณศิลปิน ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ปกรณ์ บูรณปกรณ์ และ คุณเฉวียง เศรตะทัต ราว พ.ศ.๒๔๖๕-๖ เรียกว่าได้เป็นชุดแรกที่เข้าไปบุกเบิกอาณาจักรหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยทีนเอจ

ผู้ที่เข้าไปบุกเบิกอาณาจักรหนังสือพิมพ์คนต่อมาก็คือ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งเข้าไปรับตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสนาศึกษา ราวพ.ศ.๒๔๖๗-๘ ซึ่งเป็นระยะที่ คุณมาลัย ชูพินิจ ได้ผ่านเข้ามาในกลุ่มของเราแล้วคุณมาลัยได้ขยันเขียนเรื่องสั้นลงพิมพ์ในเสนาศึกษาและศัพท์ไทยบ่อยมากและเราสามคนคือ คุณกุหลาบ,คุนมาลัย,ข้าพเจ้า, มักจะพบกันแทบทุกวัน บางทีก็มี คุณสุกรี พยัคฆนันทน์ "ดิฉัน" ร่วมอยู่ด้วย (คุณสุกรีถึงแก่กรรมเป็นคนแรก เมื่อข้าพเจ้าไปอยู่ฮ่องกง พ.ศ.๒๔๗๑) ตอนนั้น คุณโชติ แพร่พันธุ์ ยังอยู่ที่บ้าน ม.ล.ต้อย หรือมิฉะนั้นก็ไปขี่ม้าแข่งผจญชีวิตอย่างโชกโชนโดยไม่รู้ตัวว่าอีกไม่กี่ปีต่อมา "ยาขอบ" ก็จะพุ่งขึ้นมาเป็นนักประพันธ์แห่งยุค คุณกุหลาบนอกจากจะเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการเสนาศึกษาแล้ว ยังเปิดสำนักพิมพ์ "นายเทพปรีชา" พิมพ์หนังสือขนาด ๑๐-๑๕ ยกออกจำหน่ายอีกด้วย ซึ่งวางขายเล่มละไม่กี่สลึง คุณมาลัยเป็นมือสำคัญของสำนักพิมพ์ "นายเทพปรีชา" ในการผลิตนวนิยาย ข้าพเจ้าก็ช่วยแต่งด้วย รวมทั้ง "ดิฉัน" และเพื่อนๆ

คุณมาลัยเป็นคนเขียนหนังสือได้รวดเร็วมาก แต่เนื่องจากต้องเขียนหลายแห่ง ก็ทำให้"นายเทพปรีชา" ปวดศรีษะในบางครั้งเพราะต้นฉบับไม่ทันจำได้ว่าครั้งหนึ่งหนังสือของคุณมาลัยซึ่งข้าพเจ้าจำชื่อเรื่องไม่ได้ ได้ประกาศออกไปแล้ว แต่ต้นฉบับไม่มา นายเทพปรีชา ได้รับคำตอบในนาทีสุดท้ายว่า "ต้นฉบับหาย" ความอลหม่านก็เกิดขึ้นทันที เพราะไม่มีต้นฉบับจะส่งพิมพ์ คุณกุหลาบก็เลยโยนมาให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้ายังเรียนอยู่ ม.๘ ปีสุดท้าย เตรียมตัวจะสอบสกอล่าซิปไปเมืองนอก แต่ได้หลงรักตัวหนังสือจนหมดเนื้อหมดตัวแล้ว ก็นั่งอดนอนอยู่ ๗ วัน ๗ คืน ผลิตเรื่อง "คนละเลือด" ออกมา (เป็นภาพยนตร์เรื่องทาสหัวใจ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓) เสร็จทันเวลาที่หนังสือจะต้องวางตลาด เพราะคุณบุญทอง เลขะกุล ผู้จัดการฝ่ายพิมพ์โรงพิมพ์อักษรนิติซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเรา ได้ช่วยเร่งรัดให้จนออกวางตลาดได้อย่างเรียบร้อย

ในสมัยสำนักพิมพ์ "นายเทพปรีชา" ยุคนั้น พวกเรามี คุณมาลัย, คุณกุหลาบ, คุณสุกรี และข้าพเจ้าเป็นต้น มักใช้เวลาว่างเตร่ไปตามถนน อาศัยหาบเจ๊กในเวลาค่ำคืน, มีเฉโป, เต้าทึง, ข้าวต้มกุ๊ย , เป็นที่ประชุมหารือการงานเกี่ยวกับการแต่งหนังสือ ใครคิดพล็อตใหม่ๆ ได้ก็เล่าสู่กันฟัง มีวิจารณ์กันอย่างไม่อั้นประตูเพื่อช่วยต่อเติมเสริมสร้างให้พล็อตดีขึ้น สมัยนั้นก็มีร้านกาแฟน้อย, และเราก็ไม่นิยมการนั่งร้านกาแฟกัน เพราะเราไม่แตะต้องสุรายาดองเลย ถือว่ายังหนุ่มเกินไปที่จะริหัด กินเหล้า สมัยนั้นเด็กหนุ่มกินเหล้าถือว่าเสียหายขนาดเสียผู้เสียคนทีเดียว แลอนึ่งร้านกาแฟก็สะดวก สู้หาบข้างถนนไม่ได้ ข้างถนนได้บรรยากาศดีกว่า รถยนต์ก็ไม่มากเหมือนเดี๋ยวนี้ นานๆ จึงจะขับผ่านมาสักคันหนึ่ง ถนนแถวผ่านฟ้า, หลานหลวง, นางเลิ้ง (บ้านข้าพเจ้า) เป็นแดนชุมนุมของเรา พบกันครั้งหนึ่งก็นั่งจับกลุ่มกันอยู่นานๆ เป็นชั่วโมงๆ จนเจ๊กเอือมระอา ต่อมาคุณมาลัยออกจากโรงเรียนมาเริ่มอาชะครูอยู่โรงเรียนวัดสระเกศซึ่งคุณมาลัยมักเรียกว่าโรงเรียน "ศรียาภัย" เมื่อถูกถามว่าสอนอยู่โรงเรียนไหน อาชีพครูไม่ใช่อาชีพที่คุณมาลัยพิสมัยเลย พอข้าพเจ้าไปเรียนต่างประเทศแล้วไม่นาน คุณมาลัยก็ลาออกมายึดอาชีพเขียนหนังสืออยู่จนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต

ระหว่างที่คุณมาลัยเป็นครูอยู่ที่ ร.ร.วัดสระเกศ เราก็ยังคงเขียนหนังสือกันหามรุ่งหามค่ำ ข้าพเจ้าพลาดสะกอล่าซิปใน พ.ศ.๒๔๖๘ เพราะป่วย จึงสมัครแข่งขันอีกปีหนึ่งใน พ.ศ.๒๔๖๙ เพราะอายุยังไม่ครบ แต่ก็พลาดอีกเพราะไปหลงวิก "ไทยเขษม" ของหลวงสรรสารกิจและวิก "สวนอักษร" ของคุณทองใบ (อุเทน) พูลโภคา จนไม่เป็นอันดูตำรา ในปี ๒๔๖๙ นี้ ม.ชูพินิจมีชื่อเสียงเลื่องลือมากในวงประพันธ์ที่เขียนไม่เอาสตางค์ จาก "ศึกอนงค์" มาถึง "นามของหล่อนคือหญิง" ซึ่งใช้เวลาราว ๓ ปี ได้ทำชื่อแก่คุณมาลัยมากมาย ระหว่างนี้คุณมาลัยชอบเล่นดนตรีไทยมาก และที่ชอบมากคือ ซออู้ นอกจากนี้ยังริเป็นนักมวย อ่านตำรามวยหลายเล่มและฝึกผัดมวยด้วย โดยดึงเอา คุณกุหลาบกับข้าพเจ้าเข้าไปหัดด้วย มีครูทอง เอกบุศย์ และ ครูแนบ นิ่มรัตน์ เป็นครูของเรา คุณมาลัยชกได้ดีพอใช้ สมกับที่ใช้นามปากกา "สมิงกะหร่อง" วิจารณ์มวยในยุคต่อมา คุณกุหลาบก็ชก ไม่เลว มีข้าพเจ้าคนเดียวที่ไม่ค่อยจะได้ความเสียหายเลย เราซ้อมกันที่บ้านใหม่ของคุณพ่อ (พระจรูญภารการ) ถนนบรรทัดทองแทบทุกเย็น ซ้อมเสร็จก็กินข้าวกันริมบ่อน้ำใหญ่ในบริเวณบ้าน ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสวนผักเจ๊ก ไม่มีอาคารบ้านเรือนมากมายเหมือนเดี๋ยวนี้

สำนักพิมพ์ของ "นายเทพปรีชา" ทำเงินได้ดีพอใช้ในขณะนั้น เราจึงมีเงินติดกระเป๋ากันบ้างเป็นครั้งคราว คราวละ ๑๐-๑๕ บาท ซึ่งถือกันว่าร่ำรวยอย่างน่าภาคภูมิใจ ถึงขนาดเช่าแท็กซี่ซึ่งมีอยู่ ไม่กี่คันในกรุงเทพฯ ขี่กันได้ในวันดีคืนดีและมีการกินข้าวกันอย่างก้าวหน้าขึ้น คือย้ายจากหาบเจ๊กข้างถนนไปตามร้านเจ๊กเท่าที่จะพาตัวเข้าไปได้ แต่ก็ยังหนีอาหารเจ๊กไม่พ้นอยู่นั่นเอง (ระหว่างนั้น ยังไม่มีใครกินเหล้าเป็นเลย) ขณะนั้น คุณเฉวียง เศวตะทัต นักหนังสือพิมพ์การเมืองคนแรกในกลุ่มของเรา ได้เข้าครอบครองโรงพิมพ์เฮงหลีสะพานแม้นศรี (ที่ตั้งหนังสือพิมพ์ ชาวไทย เดี๋ยวนี้) ออก หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ "ธงไทย" โดยมีข้าพเจ้าช่วยเขียนบทความและการ์ตูนหน้าปก, คุณเฉวียง (เจ้าของลำตัดการเมืองวง "วงศ์เฉวียง") ได้เป็นนักทำหนังสือพิมพ์ที่แท้จริง ออกจากโรงเรียน เทพศิรินทร์ ราว พ.ศ.๒๔๖๕ โดยเรียนไม่ทันจบก็ไปทำหนังสือพิมพ์รายคาบ เช่น "ทศวารบันเทิง" "สิงหราช" ซึ่งข้าพเจ้าได้ร่วมมือเขียนบทกวีให้ ต่อจากนั้นก็ออกหนังสือพิมพ์ "สมานไมตรี" โจมตี ข้าราชการเกี่ยวกับเรื่องทุจริตทั้งนั้น หนังสือพิมพ์ "สมานไมตรี" ของคุณเฉวียงเป็นหนังสือพิมพ์ การเมืองรายสัปดาห์ที่ขึ้นชื่อลือชามาก เป็นที่หวาดกลัวของข้าราชการที่ไม่สุจริตทั้งปวง

ตอนที่คุณเฉวียงมาออกหนังสือพิมพ์ "ธงไทย" ที่โรงพิมพ์เฮงหลีโดยกินนอนอยู่ที่นั่น พวกเราได้มาชุมนุมกันจนกระทั่งห้องโถงของตึกที่คุณเฉวียงอยู่อันมีเก้าอี้นวมใหญ่หลายตัว ได้กลายเป็นสโมสรของพวกเราไป เราไปพบกันทุกวัน สนุกสนานเฮฮากันตามประสาหนุ่มน้อยที่กำลังคึกคะนอง คุณมาลัยก็มาอยู่ด้วยกับเราอย่างเคย หนังสือพิมพ์ "ธงไทย" เป็นหนังสือพิมพ์การเมืองรายสัปดาห์ ที่สร้างความเกรียวกราวให้แก่นักอ่านมากทีเดียว แต่รัฐบาลสมบูรณาญา- สิทธิราชก็ใจป้ำไม่เอะอะเอากับเราคนหนุ่ม ซึ่งตั้งต้นบำเพ็ญตนเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งอาจเป็นการเพาะนิสัยให้เราค้านเรื่อยมาจนเกือบจะเอาตัวไม่รอดก็ได้ โดยเฉพาะข้าพเจ้า คุณเฉวียงเป็นคนแรกในกลุ่มพวกเราที่มีหัวการเมือง แต่จะมีความคิดเห็นไปในทางใดอันเป็นสิทธิเสรีภาพของทุกคน ก็เป็นเรื่องของคุณเฉวียงและเป็นเรื่องของแต่ละคนที่พระเจ้าของเวลาได้บันดาลให้เป็นไปตามทางของกรรมลิขิตที่กำหนดไว้สำหรับคนหนึ่งๆ และก็เป็นที่น่าเศร้าใจที่พระเจ้าของเวลาในเวลาต่อๆ มา ได้แยกพวกเราบางคนออกไปในอาณาจักรของความคอดจนกระทั่งยากที่จะร่วมงานกันอีกได้ แม้ว่าเราจะยังเป็นเพื่อนกันอยู่

ควรจะกล่าวว่า ณ สำนักงาน "ธงไทย" นี้ คุณมาลัย ชูพินิจ ได้มาพบคุณโชติ แพร่พันธุ์เป็นครั้งแรก โดยที่คุณโชติยังไม่มีใครรู้จัก ข้าพเจ้าจำได้ว่าวันหนึ่งในขณะที่นั่งเฮฮากันอยู่ใน "สโมสรธงไทย" ของคุณเฉวียง มีมาณพร่างเล็กผอมเกร็งผิวคล้ำ ใส่เสื้อนุ่งกางเกงที่ไม่ใหม่นักเข้ามาในห้อง ที่เรานั่งอยู่ เราแปลกใจและดีใจ เพราะผู้ที่ก้าวเข้ามาคือคุณโชติ แพร่พันธุ์ นักเรียนเทพศิรินทร์ซึ่ง หายหน้าไปหลายปี ตั้งแต่คุณโชติหนีออกจากโรงเรียนไปแล้ว คุณเฉวียงเจ้าสำนักได้ต้อนรับเพื่อนเก่าที่กลับมาใหม่ผู้นี้อย่างตื่นเต้น ไต่ถามทุกข์สุขกันแล้วก็เลยชวนคุณโชติกินนอนทำงานอยู่ด้วยกัน และที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ "ธงไทย" นี่เอง "ยาขอบ" ก็เริ่มแสดงอัจฉริยภาพทั้งๆ ที่ยังไม่มีนามว่า "ยาขอบ" คุณโชติได้เริ่มทำงานเขียนหนังสืออย่างเป็นการเป็นงานด้วยการเขียนข่าวใน หนังสือพิมพ์ "ธงไทย" ที่ตึกบริเวณหนังสือพิมพ์ "ชาวไทย" ตั้งอยู่เดี๋ยวนี้ ซึ่งตอนนั้น "ม.ชูพินิจ" ได้เป็นดาราอยู่ในโลกหนังสือแล้ว ขณะนั้นเป็นเวลา ราว พ.ศ. ๒๔๗๐ แต่พอข้าพเจ้ากลับเข้ามา เมืองไทยอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ.๒๔๗๙ คุณโชติ แพ่พันธุ์ ก็มีนามกระเดื่องอยู่ในเมืองไทย ในฐานะเป็นเจ้าของ "ยาขอบ" ผู้เขียน "ผู้ชนะสิบทิศ" และคุณมาลัย ชูพินิจก็ได้ เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ประชาชาติของ "ท่านวรรณ" อยู่แล้ว และได้ถูกขุนปลดปรปักษ์ "ผู้ก่อการ" คุมทหาร มาจับตัวไปดื้อๆ ฐานลงข่าวทหารทุบตีคนขับสามล้อตอนต้นสมัยปฏิวัติรุ่น ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นปัญหา เรื่องสิทธิเสรีภาพของคนหนังสือพิมพ์ที่อื้อฉาวเกรียวกราวอยู่ในขณะนั้น ข้าพเจ้าได้จากคุณมาลัย ชูพินิจ ไปเรียนต่อยังฮ่องกงใน พ.ศ.๒๔๗๑ และจากฮ่องกงก็ขึ้นไปอยู่ปักกิ่งใน พ.ศ. ๒๔๗๔ เมื่อ สงครามกลางเมืองค่อยสงบลง ข้าพเจ้าอยู่ในเมืองจีน ๘ ปี โดยไม่มีโอกาสได้ร่วมงานกับพวกเรา อย่างใกล้ชิด ได้รับแต่จดหมายซึ่งคุณกุหลาบ,คุณมาลัย,คุณโชติ,คุณสนิท ฯลฯ เขียนเล่าไปให้ฟังว่า ชีวิตของพวกเราได้ก้าวหน้าไปมากในทางงานหนังสือพิมพ์ คุณกุหลาบได้ออกหนังสือพิมพ์สุภาพ บุรุษรายปักษ์ และคุณกุหลาบก็ได้แนะนำให้ข้าพเจ้ารู้จักคุณบุญยืนโกมลบุตร "สันต์ เทวรักษ์" ทาง จดหมาย เราได้คุณ "สันต์ เทวรักษ์" มาแต่เราก็เสียคุณสุกรี พยัคฆนันทน์ ("ดิฉัน") ไป เพราะถึงแก่กรรม

"สุภาพบุรุษ" ของคุณกุหลาบได้เกรียวกราวอยู่ในตลาดหนังสือในยุคนั้น โดยที่คุณมาลัยเป็นหัวแรงคนหนึ่งในการจัดทำ ข้าพเจ้าเขียนส่งมาจากฮ่องกงเป็นครั้งคราวเท่านั้นเพราะติดการเรียน ยุค "สุภาพบุรุษ" เป็นยุคจัดกลุ่มนักประพันธ์ยุคใหญ่ยุคหนึ่ง เป็นหัวเลี้ยวหนึ่งของโลกหนังสือของเมืองไทย เพราะนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงได้เกิดใน "สุภาพบุรุษ" อีกหลายท่าน และคุณมาลัย เป็นตัวตั้งตัวตีคนสำคัญคนหนึ่งที่เปิดยุค "สุภาพบุรุษ" ขึ้นในบรรณโลกของเมืองไทยจาก "สุภาพบุรุษ" คุณกุหลาบ, คุณมาลัยและพวกเราได้ก้าวต่อไปในงานหนังสือพิมพ์ ซึ่งขยายวงกว้างออกไปจนถึงหนังสือพิมพ์รายวัน เช่น "ไทยใหม่" และ "ประชาชาติ" อันเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่วงการเมือง

แล้วข้าพเจ้าก็กลับเข้ามาในเมืองไทยอีกครั้งหนึ่งในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๙ ข้าพเจ้าพบ คุณมาลัย ชูพินิจ ที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ถนนหลานหลวง ขณะนั้นคุณมาลัยได้เปลี่ยนมาทำหน้าที่ผู้ช่วยบรรณาธิการและคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นบรรณาธิการ ข้าพเจ้าได้ติดต่อกับคุณกุหลาบและคุณมาลัยตลอดเวลาที่อยู่ในปักกิ่ง โดยส่งบทความ "บาร์บารา" มาให้ทุกสัปดาห์ เมื่อกลับเข้ามาเมืองไทยแล้วก็ยังมาร่วมงานกับคุณมาลัยอีกที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ประชาชาติแห่งนี้และคุณมาลัยเป็นผู้ขอให้ข้าพเจ้าเปลี่ยนนามแฝจาก "บาร์บารา" เป็น "สากล" เพราะความบีบคั้นจากรัฐบาลในยุคนั้น อันเนื่องมาจากข้าพเจ้าเป็นข้าราชการ คุณมาลัยขณะนั้นได้ก้าวขึ้นสู่ความเป็น ผู้ใหญ่ในวงการหนังสือพิมพ์แล้ว ห่างไกลกับคุณมาลัยสมัยบ้านท่านเจ้าคุณมหาอำมาตยาธิบดี คุณมาลัยต่างกับ "ยาขอบ" ที่สามารถเขียนหนังสือได้ดีทุกชนิด ไม่ว่าจะเขียนอะไร "ยาขอบ" นั้น ชอบเขียนแต่นวนิยายเป็นส่วนมาก และเด่นไปในทางนวนิยายทางเดียว "ศรีบูรพา" หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ มาเริ่มเด่นทางบทความการเมืองในสมัยประชาชาติ โดยเกือบจะทิ้งนวนิยาย เพราะ เขียนน้อยลง ส่วนคุณมาลัยเขียนอยู่สม่ำเสมอทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น เรื่องยาว, สารคดี , คอลัมภ์, กวี แม้จนกระทั่งเรื่องหมัดมวย

เรารู้กันดีว่าคุณมาลัยสามารถจะเขียนหนังสือพิมพ์ได้ทั้งฉบับโดยไม่ต้องอาศัยใคร คือ เขียนได้ดีทุกรสนั่นเอง นับว่ามีอัจฉริยภาพที่น้อยคนจะทำได้ดีเหมือน สำหรับเรื่องสั้น คุณมาลัย เป็นคนแรกที่เขียนเรื่องสั้น ๕ นาทีได้มากที่สุดและดีที่สุด ในยุค "ประชาชาติ" นั้น "เรื่องสั้นจบในหน้าเดียว" ที่คุณมาลัยเขียนลงหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายสัปดาห์ ในนามของ "เรียมเอง" ได้เปิดยุคเรื่องสั้นขึ้นในเมืองไทย คนติดกันมาก แล้วมีคนถือเป็นแบบเอาไปเขียนกันต่อๆ มา แต่คุณมาลัย หาได้ทราบไม่ว่าเรื่องสั้นที่เขียนขึ้นอันมีจำนวนมากมายนี้เป็น "งาน" ขึ้นมาแล้ว คุณมาลัยได้เขียนไว้ในคำนำหนังสือรวมเรื่องสั้นว่า ไม่แน่ใจว่าเรื่องสั้นเหล่านี้จะเรียกว่าเป็นงานได้หรือไม่ คุณมาลัย อาจจะถ่อมตัว ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เรื่องสั้นของคุณมาลัยมีวิธีเขียนที่เป็นแบบฉบับอันหนึ่งทีเดียวในวงวรรณกรรมของเรา โดยไม่หมายถึงการผูกเรื่อง แล้วความอับปางก็เข้ามาสู่พวกเราในหนังสือพิมพ์ประชาชาติเพราะการบีบคั้นทางการเมืองในราว พ.ศ.๒๔๘๐ หัวหน้ารัฐบาลขณะนั้น (หลงพิบูลสงคราม) ไม่ชอบพวกเราเพราะเราชอบค้าน วันหนึ่งคุณกุหลาบ คุณมาลัย และพวกเราอีกหลายคน ได้ถูกท่านเจ้าของหนังสือพิมพ์ขอให้ลาออกไป ข้าพเจ้าเองได้รับโน้ตเล็กๆ จากหม่อมพร้อย วรวรรณ ขอให้ออกไปจากหนังสือพิมพ์ ประชาชาติทันที ในฐานะบุคคลที่หลวงพิบูลฯ ไม่ปรารถนา เราเดินออกจาก ประชาชาติ ทั้งหมดด้วยความสำนึกเป็นครั้งแรกว่า "ประชาธิปไตย" ข้าพเจ้านึกไปถึงสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชซึ่งเราเขียนเพื่อรักษาประโยชน์ประชาชนอยู่ใน "ธงไทย" ของคุณเฉวียง เศวตะทัต และสมัยที่ย้อนขึ้นไปเพียงไม่กี่ปี ซึ่งท่าน "อัศวพาหุ" หรือท่าน "รามจิตติ" ได้ทรงลดพระองค์ ลงมาเขียนตอบโต้กับราษฎรในหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ อนิจจา! เสรีภาพของหนังสือพิมพ์ในระบอบประชาธิปไตย!

เราแพแตกอยู่หลายเดือน ในที่สุด คุณสนิท เจริญรัฐ ได้วิ่งเต้นติดต่อท่านเจ้าของโรงพิมพ์ อักษรนิติ (คุณพี่ชะลอ รังควร) จัดการออกหนังสือพิมพ์ประชามิตรรายวันขึ้นที่บางขุนพรหม ใช้ตึกอักษรนิติเป็นสำนักงานโดยตั้งบริษัทไทยวิวัฒน์ขึ้นในวงทุน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ใน พ.ศ.๒๔๘๑ พวกเรามี คุณมาลัย, คุณกุหลาบ, คุณโชติ, คุณเฉวียง, ครูอบ ไชยวสุ, คุณนงเยาว์ ประภาสถิต, (คุณนงเยาว์เขียนร่วมกันมาสมัยเสนาศึกษา) ฯลฯ รวมทั้งตัวข้าพเจ้าก็เข้ามาจับกลุ่มกันอีกครั้งหนึ่ง คุณมาลัยเขียนทุกรสในประชามิตร ตั้งแต่นวนิยายยาวสั้น, สารคดี, คอลัมนิสต์, หมัดมวย, ตลอดจนบทความ, ข้าพเจ้ายังคงรับราชการอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ แต่ก็เอาเวลาตอนค่ำเขียนบทความการเมือง, นวนิยาย, ตลอดจนสารคดีประวัติศาสตร์มาลงพิมพ์ร่วมอยู่ด้วยเป็นประจำ ในตอนนี้ คุณประยูร จรรยาวงษ์ ได้เข้ามาเปิดอาณาจักรการ์ตูนขึ้นในประชามิตรเป็นครั้งแรก และผูกใจประชาชนได้ในทันที มีชื่อเสียงพุ่งขึ้นเหมือนพลุอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา

ในกลางสมัยประชามิตรนั่นเอง คุณมาลัยได้ข้ามไปช่วยสำนักสีลมทำพิมพ์ไทย และปักหลักแน่นอยู่ที่นั่นจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต นับว่าเป็นคนหนังสือพิมพ์คนหนึ่งที่เกิดมาด้วยวิญญาณของศิลปิน อยู่ด้วยเลือดของนักหนังสือพิมพ์ และตายอย่างนักหนังสือพิมพ์ ข้าพเจ้า ขอก้มศรีษะให้แก่ คุณมาลัย ชูพินิจ เพื่อเก่าผู้นี้ด้วยศรัทธา

นี่คือ ๔๐ ปีของ คุณมาลัย ชูพินิจ ที่ข้าพเจ้ารู้จัก ข้าพเจ้าไม่มีเวลาจะเขียนได้ยาวกว่านี้ แต่ก็เชื่อว่า ชีวิตในบั้นปลายของคุณมาลัยคงจะมีผู้เขียนไว้มากพอ และละเอียดพอที่จะยืนยันว่า "ม.ชูพินิจ" คือนักประพันธ์และนักหนังสือพิมพ์ที่แท้จริงคนหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งได้ใช้ชีวิตของเขาด้วย การเขียนหนังสืออย่างเดียว เขียนเพื่อชีวิตของตัวเอง เขียนเพื่อให้โลกสวยงามน่าอยู่ เขียนเพื่อให้ประชาชนได้อ่านหนังสือที่ดี หนังสือที่ไม่มีวันตาย

สด กูรมะโรหิต
 
 

ผมได้รับข่าวจากที่ประชุมกรรมการสมาคมภาษาและหนังสือว่าคุณมาลัย ชูพินิจป่วย งานที่ท่านรับไปทำจึงยังไม่ได้ทำ ในที่ประชุมนั้นยังไม่มีใครทราบว่าท่านป่วยเป็นอะไร จึงเข้าใจไปทางข้างดีกว่าว่าคงไม่เป็นอะไรมาก ต่อมาก็ได้รับข่าวที่ไม่ได้คิดฝันว่า คุณมาลัยถึงแก่กรรมเสียแล้ว ผมรู้สึกตกใจและอารมณ์วูบไปในทันที คุณมาลัยเป็นเพื่อนสนิทกับผมคนหนึ่งในสมัยตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศด้วยกัน ต่อมา เมื่อคุณมาลัยเป็นครูอยู่โรงเรียนวัดสระเกศ ผมเป็นครูอยู่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข คุณมาลัยมาปลูกเรือนอยู่ใกล้บ้านผม เราจึงเป็นเพื่อนบ้านกันอีกเปลาะหนึ่ง ทุกๆ เวลาเช้า คุณมาลัยเดินมารับหลานชายผมที่หน้าบ้าน และพาไปโรงเรียนวัดสระเกศด้วยกัน ผมคิดว่าเพื่อนของคุณมาลัยตั้งแต่สมัยนักเรียนในเวลานั้นคงจะเหลืออยู่น้อยคนแล้ว ถ้าจะได้ทราบเรื่องของคุณมาลัยในสมัยเด็กบ้าง บางทีจะทำให้ชีวประวัติของคุณมาลัย สมบูรณ์ขึ้น

ผมแรกรู้จักคุณมาลัยเมื่อไปเข้าเป็นนักเรียนฝึกหัดครูประถมที่ โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ใน พ.ศ. ๒๔๖๔ หลัดสูตรเวลานั้นมีสองปี เราจึงอยู่ในชั้นปีที่ ๑ ด้วยกัน นักเรียนฝึกหัดครูประถมส่วนมากเป็นนักเรียนที่ส่งมาจากต่างจังหวัดและอยู่กินนอนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ส่วนนักเรียนกรุงเทพฯ ดูเหมือนจะมีไม่ถึงสิบคน ซึ่งไปเช้าเย็นกลับ ทั้งผมและคุณมาลัยเป็นนักเรียนอยู่ในกรุงเทพฯ ด้วยกัน และเหตุที่เราสนิทกันนั้นไม่ใช่เพราะว่าเราไปเที่ยวหัวหกก้นขวิดด้วยกันก็หาไม่ แต่เพราะเรามีสภาพเหมือนกันอยู่สามประการ ประการแรก เราเป็นนักเรียนที่ยากจนด้วยกัน ประการที่สองก็คือ เราเป็นนักเรียน ที่ครูชมว่า ขยันด้วยกัน และประการที่สาม ก็เป็นหนอนหนังสือ ด้วยกัน

ในด้านความเป็นนักเรียนที่ยากจนด้วยกันนั้น อย่าให้ผมพูดมากเลยว่า เรามีความยากจนแค่ไหน นักเรียนฝึกหัดครูสมัยนั้นก็จัดว่าเป็นนักเรียนชั้นสูงอยู่แล้ว ใครๆ เขามาโรงเรียนก็สวมรองเท้าและถุงยาวกันหมด มีนักเรียนที่เดินแบร์ฟีตเด็ดมาโรงเรียนเพียงสี่คนเท่านั้น ซึ่งทุกวันจะต้องไปหลบนั่งอยู่กลางๆ ชั้น เพื่อไม่ให้ครูเห็น ผมและคุณมาลัยเป็นสองคนที่ไม่มีรองเท้าสวม ใครคนหนึ่งก็ไม่ทราบ เขียนเอาไว้เป็นภาษาฝรั่งแปลเป็นไทยว่า "ความยากจนนั้นเป็นพรอันประเสริฐ" ภาษิตนี้ถูกใจเราทั้งสองยิ่งนัก ดังนั้นแหละ เจ้าความยากจนนี้ จึงทำให้เราทั้งสองขยันเรียนมาก ซึ่งทำให้ครูออกปากชมอยู่บ่อยๆ ว่าเราเรียนได้ดี ทำการบ้านที่ให้ไปไม่มีขาด และผลที่ได้เมื่อสองปีผ่านไป เราก็สอบไล่ได้คะแนนดีด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งขณะนั้นเราก็เพิ่งมีอายุ ๑๗ ปีเท่านั้น ออกเป็นครูกันแล้ว

พูดถึงด้านการเป็นหนอนหนังสือด้วยกันบ้าง เราทั้งคู่ไม่ค่อยจะสนใจกับการกีฬา เราจะเล่นบ้างแต่ในพละศึกษาเท่านั้น ตอนหยุดพักกลางวันและตอนบ่ายหลังเลิกเรียนแล้ว จะพบเราอยู่ ในห้องอ่านหนังสือซึ่งอยู่ในห้องสมุดของโรงเรียนเสมอ เราอ่านหนังสือทุกชนิดที่มีอยู่ในห้องสมุด ผมว่าเพราะการเป็นหนอนหนังสือและรักการอ่านมากนี่แหละ ที่ทำให้คุณมาลัยเป็นนักประพันธ์มีชื่อดังขึ้นมา

ครั้งหนึ่งในชั่วโมงกวีนิพนธ์ ซึ่งขุนสุนทรภาษิตเป็นอาจารย์สอนแผนกนี้ ขุนสุนทรฯ ให้นักเรียนฝึกหัดครูแต่งลิลิต โดยสมมุติว่า ถ้าเราขึ้นเครื่องบินเข้ามาในจังหวัดพระนคร โดยผ่านทาง พระบรมรูปทรงม้า ใครเห็นอะไรบ้าง ให้แต่งเป็นลิลิตมาให้เสร็จภายใน ๔๕ นาที ผมแต่งพรรณนา ถึงแค่ลานพระบรมรูปทรงม้าเท่านั้น คุณมาลัยดูเหมือนจะเลยมาถึงสะพานผ่านฟ้าแล้ว ก็หมดเวลาเขียน ขุนสุนทรภาษิตเก็บไปตรวจดูทุกคน ปรากฏว่านักเรียนคนอื่นๆ แต่งได้เพียงโคลง บทสองบทเท่านั้น ขุนสุนทรภาษิตบอกว่า

"ฉันพยากรณ์ว่านายสองคนนี่ต้องเป็นนักประพันธ์ในอนาคตแน่"
เมื่อออกจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศแล้ว เราก็ต่างไปเป็นครูอยู่คนละแห่งดังกล่าวแล้ว คุณมาลัยจับการเขียนเป็นจริงเป็นจัง แต่ผมก็เป็นแต่ชอบอ่านต่อไป คุณมาลัยไม่เรียน ป.ม.ต่อ ผมไป ชวนเข้า ท่านบอกว่า

"ผมขอเอาดีทางเป็นนักเขียนดีกว่า"
ผมค้านว่า "เป็นนักประพันธ์น่ะมันจะไส้แห้งนะ"
คุณมาลัยบอกว่า "ทำไงได้ ผมชอบนี่"
ผมบอกว่าผมชอบแต่ขอเรียนต่อเสียก่อน ดังนั้น คุณมาลัยจึงเป็นนักเรียน ส่วนผมก็เรียนอะไรต่อเรื่อยไป แต่คอยอ่านเรื่องที่คุณมาลัยแต่งออกมาเรื่อยๆ แล้วก็ชอบเรื่องที่เขาเขียนเอามากๆ เสียด้วย เมื่อผมเริ่มเขียนบ้างนั้นคุณมาลัยขึ้นหน้าผมไปมากแล้ว บางทีจะเขียนเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ก่อนเขียนผมต้องเอาเรื่องของคุณมาลัยมาอ่านก่อนให้หัวแล่นก็มี เพราะฉะนั้นในกาลต่อมา เมื่อผมพบว่าคุณมาลัยได้ประสบผลสำเร็จในด้านการเขียนจนถึงขั้นสูงสุดในเมืองไทย ผมจึงไม่นึกอิจฉาเลย เพราะเห็นอยู่แล้วว่าเขาเอาดีทางเป็นนักเขียนจริงๆ จนยอมเสียสละงานการทางราชการไป

คุณมาลัยนี่เท่าที่อ่านแต่การเขียน ก็นึกว่าคงจะเป็นนักรักที่เก่งกาจจึงเขียนได้เพราะพริ้งมากนัก แต่ความจริงนั้น ในสมัยกำลังหนุ่มคะนอง คุณมาลัยเป็นคนอาภัพในเรื่องรักอย่างที่สุด คิดดูเถิดว่าคุณมาลัยไปรักผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งรู้จักกับผมดี แต่จดหมายของคุณมาลัยมีไปเท่าไรผู้หญิงเอามาให้ผมอ่านหมด ส่วนผมเองก็โง่ในเรื่องผู้หญิงไม่น้อยกว่าคุณมาลัยไปเลย ดังนั้นเมื่อคุณมาลัย เฟลไปแล้ว ผมก็เฟลไปด้วย

คุณมาลัยเพิ่งแยกกับผมเมื่อไปรับทำหนังสือพิมพ์ทางจังหวัดสงขลาแล้วเลยออกจากครูไป เราทั้งสองเพิ่งพบกันใหม่ เมื่อต่างเป็นผู้ใหญ่ด้วยกันแล้ว และต่างก็มีการมีงานมัดตัวคนละมากๆ แม้กระนั้นเราก็พบกันบ่อยๆ และมีมิตรภาพกันดีตลอดมา

บัดนี้คุณมาลัยได้จากไปแล้ว การจากไปของคุณมาลัย ทำให้ผมได้แนวความคิดหลายอย่าง โดยเฉพาะความแตกต่างกัน ในระหว่างนักทำกับนักทฤษฎี คนเราน่ะขอให้มีความตั้งใจไว้ดีและมีจุดหมายสูงไว้เถิด แล้วทำไปก็จะประสบความสำเร็จได้ในวันหนึ่ง อย่างคุณมาลัยเพื่อนของผมคนนี้เป็นต้น นับได้ว่า ท่านได้สิ้นไปอย่างคนมีประโยชน์คนหนึ่ง

ผมมีความเชื่อมั่นว่าด้วยความดีที่คุณมาลัยได้ทำมาตลอดอายุขัย ขณะนี้ท่านต้องอยู่ในสุคติภพเป็นแน่ ขอให้วิญญาณของคุณมาลัยจงเป็นสุขๆ เถิด

เอื้อ บุษปะเกศ หงสกุล
 
 

พวกเรากำลังพูดถึง มาลัย ชูพินิจ กันอยู่ทางนี้.
พวกเขากำลังพูดถึง มาลัย ชูพินิจ อยู่ทางโน้น
ขณะนั้นเป็นวันอังคารที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๖ เวลา ๑๗.๔๕ นาฬิกาตรงกันทั้งที่นี่และที่โน่น

มีผู้มาชุมนุมกันคับคั่ง ณ สถานที่แห่งหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นสโมสรหรือสมาคมนักเรียนเก่า...นักเรียนเก่าคือผู้ที่เคยเรียนมาก่อน และบัดนี้เลิกเรียนแล้ว จึงน่าจะอนุโลมให้ผู้ที่เคยเขียนหรือแต่งหนังสือมาแต่ก่อน และบัดนี้ได้เลิกเขียน เลิกแต่งแล้ว ว่าเป็นนักเขียนเก่าได้เหมือนกัน...นี่ว่าอย่างเอาสีข้างเข้าถู จะต้องด้วยหลักภาษาศาสตร์หรือไม่ ไม่รู้เลย

เจ้านายชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์ยังมิได้เสด็จมาสู่ที่ชุมนุม อาจทรงติดพระธุระสำคัญอยู่ก็ได้ เป็นต้น เสด็จในกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, เสด็จในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (ประเสริฐ อักษร), และเสด็จในกรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ เท่าที่เห็นเสด็จมาประทับอยู่ในแถวหน้าก็มีพระนาง เจ้าลักษมีลาวัณย์, กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) , หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์, หม่อมเจ้าหญิงจันทร์เจริญ รัชนี (จ.จ.ร.), ถัดไปก็เป็นเหล่าราชนิกุล มี ม.ล.บุปผา นิมมานเหมินทร์ (ดอกไม้สด) ติดต่อกับกลุ่มนักประพันธ์หญิงมี ถนอม มหาเปารยะ (ถนอม อรชุน), รวงทอง จันทพิมพะ (ร.จันทพิมพะ) , จงกลนี พุทธิแพทย์ (แขไข เทวิณ) ฯลฯ

ส่วนเทพ มหาเปารยะ นั้นแยกไปร่วมกลุ่มกับ ส่ง เทภาศิต , พระยาสุรินทร์ฤาชัย(แม่วัน), หลวงอรรถเกษมภาษา (คนดง), นายกิจสาราภรณ์ (สารถี), พระยาวิจิตรธรรมปริวัติ (อุบลวรรณ), พระสารประเสริฐ (นาคะประทีป) แล้วก็ถึงกลุ่มคณะครูบาอาจารย์ มีท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (ครูเทพ), พระยาเมธาธิบดี , พระยาอุปกิตศิลปสาร, พระพิสัณห์พิทยาภูน, พระวรเวทย์พิสิฐ (คุรุโวปกรณ์) พ่วงด้วย "เฮียแข" ของใครๆ ทุกคนคือ ขุนเศรษฐบุตรสิริสาร ต้นตำรับใหญ่ แล้วจึงถึงพระสารสาส์นพลขันธ์ (๕๕๕) และพระยาวินัยสุนทร (สมิงนครอินทร์) หลวงวิจิตรวาทการ (แสงธรรม) นั่งเงียบขรึมอยู่คนเดียว หลวงสาธานุประพันธ์ (แม่สะอาด) นั่งซุบซิบอยู่กับหลุยอับราฮัม (แม่สำอาง), ชวลิต เศรษฐบุตร (กุมารใหม่), "ครูเลี่ยม" หลวงวิลาสปริวัตร (นายสำราญ) กับชิต บุรทัต (แมวคราว) มี สมจิต ศิกษมัด (ศิกษวัต) ผู้สนใจในการกวีมิรู้สร่างนั่งฟังอยู่ด้วยอีกคน

ถัดไปนั้นเป็นกลุ่มใหญ่อีกหลุ่มหนึ่ง ระคนอยู่ด้วยนักเรียนเก่าหลายรุ่น มีวงศ์ กระแสสินธุ์, นายพลพันหุ้มแพร (สมุห์หอม), ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา (ไม้เมืองเดิม), บุญชู เอี่ยมกระสินธุ์ (ช.เอี่ยม กระสินธุ์) ผู้รักการสะสมหนังสือ,ทรง ศาลิตุล, แสน ธรรมยศ, พะยอม ชานนท์ (พวงพยอม), โพยม บุณยศาสตร์(พาณี), จำนง วงศ์ข้าหลวง (ปอง เผ่าพัลลภ), ขุนสวัสดิ์ฑิฆัมพร (ส.ฑิฆัมพร), ศิลป์ สีบุญเรือง (ทิดเขียว), สมจิตร เทียนสิริ (ส.เทียนศิริ), ทองคำ หรือวิบูลย์ รงคสุวรรณ (แก้วกาญจนา), สุกรี พยัคฆนันท์ (อีฉัน), สุดใจ พฤติศาลิกร (บุษราคัม), วรรณสิทธิ์ ปูชควณัช (วรรณสิทธิ์) เจ็งฮ้อ หรือประพันธ์ วรรธนะสาร, กีฬา พรรธนะแพทย์ (ก.พรรธนะแพทย์), ทองใบ หรืออุเทน พูนโภคา (ช่อราตรี), วุฒิ สุทธเสถียร (สุทธพันธ์), นักแซ็กโซโฟนและมือปืนใหญ่, เสริม บุณยรัตพันธุ์ (เติม รัตนางกูร) , ระคน เภกะนันทน์ (ภาสกร), ชาย วัสนตสิงห์ (วสันตสิงห์), อุดม อุดากร (อ.อุดากร)และอารีย์ ลีวีระ (บรรจง ศิวศิล)...คนหลังนี่ดูจะคอยการมาปรากฏตนของใครคนหนึ่งอยู่อย่างกระวนกระวาย

อีกกลุ่มหนึ่งก็มีท่าทีกระสับกระส่ายอยู่มากเหมือนกัน ชะเง้อมองไปทางที่เข้าที่ชุมนุมอยู่ไม่หยุดหย่อน มีปกรณ์ บูรณปกรณ์ (นายศิลป์, ป.บูรณศิลปิน), เฉวียง เศวตะทัต (วงศ์เฉวียง), ดำริห์ ปัทมะศิริ (ศรเหล็กรีไว้ทอ), ลำไย กำเนิดนพ, แล้วก็โชติ แพ่พันธุ์ (ยาขอบ)

ยังมีสมาธิที่ขาดชุมนุมไปอีกมากมายหลายคนทีเดียว อันเป็นสิ่งธรรมดาไม่ว่าจะเป็นที่นี่ ที่โน่นหรือที่ไหน

เสียงจ้อกแจ้กจอแจเงียบหายไปฉับพลันเมื่อ มาลัย ชูพินิจ (แม่อนงค์,เรียมเอง, น้อย อินทนนท์ ฯลฯ) ก้าวเข้ามาสู่ที่ชุมนุม...สีหน้าของเขายังตื่นอยู่ด้วยแปลกสถานที่ เขาละจากโลกมนุษย์ที่แสนจะวุ่นวายมาสู่โลกใหม่ที่มีแต่ความสงบ ได้พบท่านที่เคารพนับถือและเพื่อนฝูงเก่าแก่ ที่มีรสนิยมอย่างเดียวกัน ซึ่งล่วงหน้ามารอเขาอยู่ก่อนแล้ว ณ ที่นี้

เขาทำความเคารพท่านผู้ใหญ่และได้รับมิ่งชิงขวัญโดยทั่วถึงแล้วก็เวียนมาทักทายเพื่อนฝูงรุ่นราวคราวเดียวกัน ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้สึกงงต่อสภาพใหม่ที่ตนได้ประสบอยู่เดี๋ยวนั้น

"สวัสดี-ม้า" โชติ แพร่พันธุ์ ร้องทัก ยิงฟันขาวและยิ้มด้วยกลีบตาตามแบบของเขา "พวกเราขอต้อนรับน้องใหม่ด้วยความยินดี...นั่งลงก่อนซี เป็นยังไงบ้างโลกมนุษย์ทุกวันนี้ มีเรื่องแปลกๆ ใหม่ๆ อะไรจะมาโกหกให้พวกเราฟังบ้าง?" "เดี๋ยวก่อน ผมยังงงเต็มที" น้องใหม่กล่าวอึกอัก "นี่ผม-เอ้อ-พวกเราอยู่กันที่ไหน?"
"ในโลกอีกโลกหนึ่งซึ่งพ้นจากไตรภูมิออกมาไม่ใช่สวรรค์และก็ไม่ใช่นรก" ปกรณ์ บูรณปกรณ์ ชี้แจง
"ใครจะช่วยอธิบายให้ผมเข้าใจได้แจ่มแจ้งกว่านี้บ้าง?" เขาหันไปมองรอบๆ ตัวแล้วหยุดสายตาอยู่ที่ร่างอันแบบบางสุภาพสตรีนักประพันธ์คนหนึ่ง "ว่าไง-คุณเริ่ม?"
"ตามที่คุณป่วนบอกนั่นถูกแล้วค่ะ คุณมาลัย" ร.จันทพิมพะเร่เข้ามาสมทบ "ที่นี่เป็นโลกของพวกเรานักประพันธ์โดยเฉพาะ ไม่มีบุคคลประเภทอื่นเข้ามาปะปน ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหนแน่ อาจเป็นแดนสนธยาก็ได้ อยู่ระหว่างการหลับการตื่น ระหว่างกลางคืนกับกลางวัน ระหว่างความฝันกับความเป็นจริงสนุกสนานเหลือเกินค่ะ เราไม่ต้องทำอะไรสักอย่าง ไม่ต้องปวดหัวเพราะถูกเร่งต้นฉบับ หรือเดือดร้อนเรื่องไม่มีสตางค์จะใช้ เพราะเราไม่ต้องจับจ่ายใช้สอยอะไรเลย ไม่หิวไม่กระหายทั้งนั้น เพราะเราได้หิวและกระหายมามากพอแล้วจากโลกโน้น อยู่กันที่นี่เราไม่มีวันต้องไส้แห้งอีกต่อไป ไม่มีวันว้าเหว่ เพราะพวกเรามีอัธยาศัย และรสนิยมอย่างเดียวกันหมด และนับวันแต่จะมีมาเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยไป เป็นคนที่เรารู้จักและรักกันมาทั้งนั้นค่ะ ดิฉันมีเรื่องคุยกับพี่หนอมได้วันยันค่ำ..."
"นั่นซี ผมได้แต่นั่งฟัง" ลำไย กำเนิดนพ ยกมือขอพูดกับเขาบ้าง "แล้วไอ้คนอย่างผม ทำไมท่านถึงคัดให้มาเป็นนักประพันธ์กะพวกคุณเข้าได้ก็ไม่รู้ ไม่เคยแต่งเรื่องกะใครสักที..."
"พี่ใยลืมไปเสียเอง" โชติ แพร่พันธุ์ หันไปหลิ่วตา "แต่งใบเบิกเงินค่ารถ ขากลับจากไปเก็บค่าแจ้งความมาแล้วยังไงล่ะ มีกลิ่นไอเป็นนักประพันธ์กะเขาอยู่เหมือนกันนี่ หรือไม่ก็อีตอนแต่งจดหมายขอยืมตังค์..."
แต่ผู้มาใหม่ก็ยังไม่สิ้นความสงกา เขาหันไปมองดูรอบๆ ตัวอีกที "พวกคุณประชุมต้อนรับน้องใหม่...แล้วรู้กันได้ยังไงว่าผมจะมา?"
"พวกเรารู้ล่วงหน้าก่อนเสมอค่ะ" ถนอม มหาเปารยะ บอก
"งั้นใครจะมาถึงที่นี่ต่อจากผม?"
"ใจ สุวรรณทัต" เจ็งฮ้อ วรรธนะสารร้องบอกมาจากมุมโน้น
"แล้วคนต่อไปเล่า?"
"คุณพ่อของผมเอง" นั่นเป็นเสียงของกีฬา พรรธนะแพทย์
"แล้วคนต่อไปอีก?"
ตอนนี้สมาชิกสมาคมนักเขียนเก่าเหลียวมองดูหน้ากันแล้วอ้ำอึ้ง...น้องใหม่คนนี้มีความอยากรู้อยากเห็นมากเกินไปเสียแล้ว
"คุณอยู่ๆ ไปก็จะรู้ได้เอง ไม่ต้องให้มีใครคอยบอก" อารีย์ ลีวีระ เข้ามากระซิบ "พูดแล้ว ไม่น่าเชื่อ แต่ขอให้คุณดูไปก็แล้วกัน"
ก็ใครเล่าจะเป็นผู้มาถึงที่นี่ถัดต่อจากเจ้าคุณพณิชย์ศาสตร์วิธานไป?

สันต์ เทวรักษ์
 
 

จากประสบการณ์ในต่างประเทศของข้าพเจ้า มีสิ่งหนึ่งที่ได้พบเห็นแล้วรู้สึกพิมพ์ใจมากแสนมากเสมอมา สิ่งนั้นคือ ในต่างประเทศเขายกย่องเทิดทูนนักเขียนกันอย่างจริงจังโดยเขาไม่เพิกเฉยทิ้งทอดกัน ฉะนั้นเวลาที่นักเขียนผู้ใดถึงแก่กรรมลง จึงไม่ยอมให้เกิดการละเลยไม่เหลียวแลคุณงามความดีของนักเขียนผู้นั้น และตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ ทุกหนทุกแห่งจะลงรายละเอียดเกี่ยวกับชีวประวัติหรือเรื่องราวความเป็นมาของนักเขียนผู้ถึงแก่กรรมกันเป็นการใหญ่ ส่วนในประเทศไทยนั้น การโจษขานพูดกล่าวถึงนักเขียนผู้วายชนม์รู้สึกว่าเรายังทำกันน้อยไปไม่สมกับ คุณงามความดีมากหลายที่เขาให้ไว้แก่วงวรรณกรรมของประเทศ อันที่ถูกที่ควรแล้ว เราควรที่จะจดจำรำลึกและสำแดงการซาบซึ้งตรึงจิตใจสมรรถนะอัจฉริยะของนักเขียนผู้วายชนม์กันให้มากกว่าที่ทำๆกันมาแล้วมากกว่านี้

ฉะนั้น ในการพระราชทานเพลิงศพ คุณมาลัย ชูพินิจ นักเขียนผู้มีชื่อเสียงโด่งดังของประเทศไทยคนหนึ่ง ข้าพเจ้าจึงถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องกล่าวสดุดีให้เป็นอนุสรณ์คำนึงแก่นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของไทยคนหนึ่ง ให้สมกับความดีที่ผู้ตายได้ประกอบกรรมทำไว้ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่ โดยที่ข้าพเจ้าถืออย่างเด็ดเดี่ยวว่าเป็นการให้ความยุติธรรมอันถูกต้องแก่ผู้ตาย ด้วยคุณมาลัยกับข้าพเจ้าครั้งเมื่อเด็กๆ ได้เรียนหนังสืออยู่โรงเรียนเดียวกันมาถึง ๒ แห่ง คือโรงเรียนบพิตรพิมุขและโรงเรียนสวนกุหลายวิทยาลัย และทั้งได้เริ่มตั้งต้นเอาใจใส่ในการเขียนหนังสือในเวลาใกล้ๆ กันด้วย แต่คนหนึ่งตั้งหน้าตั้งตาบากบั่นมุ่งมั่นถึงการเขียนเป็นอาชีพ ส่วนอีกคนหนึ่งนั้นทั้งๆ ที่มีใจรักก็ยังถือการเขียนเป็นเพียงงานอดิเรกเท่านั้น ส่วนงานอาชีพประจำนั้นคงยังรักที่จะพึ่งพิงงานราชการเป็นอาชีพอยู่ เพราะทำให้ก่อเกิดเสถียรภาพในชีวิตของบุคคลได้มากกว่าตามสภาพของบ้านเมือง และตามความนิยมของผู้หลักผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ให้คำแนะนำ

ข้าพเจ้ารู้สึกว่า นักเขียนส่วนใหญ่ของเมืองไทยนั้น ก่อเกิดขึ้นมาจากการรักวรรณกรรมในจิตใจเป็นที่ตั้ง นักเขียนสมัยคุณมาลัยไม่มีผู้ใดมีโอกาสได้รับการศึกษาในวิชาอักษรศาสตร์และวารสารศาสตร์หรอก เพราะยังไม่มีวิทยาสถานสอนวิชาดังว่านี้ในประเทศไทย แต่ที่เป็นนักเขียนมาได้ก็ด้วย ๑) มีใจรักเป็นทุนเดิม ๒) ความสนใจในการอ่าน แล้วจดจำถ้อยคำสำนวนดีๆ และกินใจไว้ใช้เขียน ๓) ศึกษาการวางพล็อตทำนองแต่งและปรัชญาของเรื่องจากวรรณกรรมภาษาอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม แม้เพียงแค่เรียนจบสามัญศึกษา ไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัยก็ตาม แต่คุณมาลัยก็ได้แสดงสมรรถนะอย่างดีไว้ในวงวรรณกรรมของประเทศไทย ส่วนตัวข้าพเจ้านั้น ยังติดใจไม่หายถึงความรัดตรึงตรึงใจ ความละเมียดละไมและความเสนาะเพราะพริ้งในเรื่องสั้นหลายเรื่องที่คุณมาลัยได้เขียนไว้ในยุคแรกๆ แห่งการเขียนของเขา คือเรื่องที่ปรากฏในหนังสือเริงรมย์ เสนาศึกษาและสุภาพบุรุษ เพราะข้าพเจ้าจำได้แน่ถนัดว่า ได้รับความรื่นรมย์ใจในการอ่านวรรณกรรมของคุณมาลัยมากหลายทีเดียว

ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวมรณกรรมของคุณมาลัย ระหว่างที่พักฟื้นอยู่ที่บ้านหลังจากที่ได้รับการผ่าตัดใหญ่มาใหม่ ๆ ซึ่งทั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้าไม่สามารถไปร่วมชุมนุมในงานบรรจุศพได้ ข้าพเจ้ารู้สึกงงงันและใจหาย ไม่น่าเชื่อว่าข่าวนี้เป็นความจริง ข้าพเจ้าโต้แย้งใครๆ ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะคุณมาลัยนั้นร่างกายแข็งแรงและเป็นผู้มีสุขภาพดี แต่ความจริงนั้นคุณมาลัยได้ถึงมรณกรรมไปแล้ว จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม ข้าพเจ้ารู้สึกใจหายและระลึกถึงคุณมาลัย โดยที่เห็นกันอยู่หลักๆ ข้าพเจ้ายัง จำได้ดีว่าเมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้เอง เราพบกันในงานฌาปนกิจศพท่านผู้หนึ่ง ข้าพเจ้ายังได้ขับรถด้วย ตนเองพาคุณมาลัยมาส่งให้ที่บ้านและยังจำได้ถนัดถนี่ว่าเมื่อ ๒ ปีกว่าๆ มานี้เอง เราได้เป็นผู้แทนประเทศไทยไปเข้าร่วมประชุมสัมมนาต่อต้านการก่อกวนครั้งที่ ๒ ขององค์กรซีโตด้วยกัน ที่เมืองละโฮร์ ประเทศปากีสถาน

ในการประชุมครั้งนั้น ทางการจัดให้คณะผู้แทนประเทศไทยพักที่โรงแรมฟาเล็ตติ ซึ่งเป็นโรงแรมขึ้นหน้าขึ้นตาของนครนั้น และบังเอิญเขาจัดให้คุณมาลัยกับข้าพเจ้าอยู่ห้องเดียวกันด้วย ประสบการณ์ครั้งนั้นยังคงสดชื่นอยู่ในความทรงจำอันหอมหวนของข้าพเจ้า โดยที่เรานอนอยู่ห้องเดียวกันเป็นเวลา ๑ สัปดาห์เต็มๆ ซึ่งข้าพเจ้ากับคุณมาลัยได้จากกันไปเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี และในโรงแรมนี้ เรานอนคุยกัน รับประทานด้วยกัน ตื่นแต่เช้าตรู่ออกไปเดินเล่นกลางหมอกความหนาวเยือกเย็นของนครละโฮร์ด้วยกัน ข้าพเจ้ายังจดจำรำลึกได้อย่างถนัดชัดเจนถึงความรื่นรมย์ใจที่ได้รับใน ๗ วันที่พักอยู่ในนครละโฮร์ เราพูดคุยกันบนเตียงนอนถึงเรื่องหนังสือ ถึงพวกเพื่อนนักเขียนเก่าๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน ซึ่งบางคนก็ล้มหายตากจากไปแล้ว ส่วนบางท่านก็กระจัดกระจายพลัดพรากแยกย้ายกันไปสุดแต่ชะตากรรม

ในการพูดคุยกับคุณมาลัยในโรงแรมที่นครละโฮร์นี้ ข้าพเจ้าได้รับความรู้ใหม่อย่างหนึ่งซึ่งทำความแปลกใจให้ข้าพเจ้ามากก็คือ ก่อนหน้านี้ปีหนึ่ง คุณมาลัยของเราได้ไปชนะการประกวดการดื่มเหล้ามาจากไต้หวัน โดยได้รับโล่เป็นรางวัลติดให้เห็นเป็นพยานอยู่บนอกเสื้อนอกของคุณมาลัย ซึ่งอวดแสดงแก่ข้าพเจ้าด้วยความภาคภูมิใจ ทั้งนี้คุณมาลัยว่าได้ชนะนักดื่มคอแข็งๆ ของไต้หวันหลายคนซึ่งมีนายทหารรวมอยู่ด้วย ลักษณะดังว่านี้ทำให้เป็นที่แปลกใจแก่ข้าพเจ้า นับได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงในตัวคุณมาลัยได้อย่างหนึ่งหลังจากที่ได้จากกันไปเป็นเวลา ๒๐ กว่าปี คือก่อนที่ข้าพเจ้าไปอยู่เมืองนอกนั้น พวกเราดื่มเป็นกันแล้วอย่างช่ำโชก แต่คุณมาลัยนั้นแม้แต่จะเหล้าสัก หยดก็ดื่มไม่เป็น ครั้นเมื่อข้าพเจ้ากลับมา ทุกๆครั้งที่มีการดื่มกันในการสังคมที่เมืองละโฮร์ ข้าพเจ้ายอมแพ้คุณมาลัยเสมอ ที่พูดเล่ามานี้ก็เพื่อจะชี้แจงแสดงให้เห็นอย่างเดียว คือเพื่อน้าวเน้นให้เห็นถึงว่าคุณมาลัยนั้นมีสุขภาพอนามัยดีมากแค่ไหน แต่การที่จะต้องมาสูญเสียชีวิตลงครั้งนี้ ก็เนื่องด้วยเคราะห์กรรมที่ประสบชะตาของชีวิตลงด้วยโรคร้ายที่ใครๆ ก็ขยาดกลัวกันเป็นที่สุดแล้วเท่านั้น

ความรื่นรมย์ใจอีกอย่างหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้รับจากการสังสรรค์สนทนาวิสาสะกับคุณมาลัยระหว่างการประชุมที่นครละโฮร์ครั้งนี้ ข้าพเจ้าเพลิดเพลินจากการเล่าบรรยายถึงประสบการณ์ ในการล่องป่านิยมไพรของคุณมาลัย สันทนาในการนี้ของคุณมาลัยที่ชอบเข้าป่าก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่บ่งชัดให้เห็นลักษณะเป็นนักกีฬา และผู้ที่จะเป็นนักล่าสัตว์ซึ่งเดินกลางดินกินกลางทรายนี้ จำจะต้องเป็นผู้มีสุขภาพอนามัยดีด้วย อนึ่งคุณมาลัยมีจิตใจผูกพันอยู่กับการล่องไพรไม่น้อย ดังจะเล่าบรรยายในที่นี้ด้วยว่า ห้องที่เราอยู่กันในโรงแรมนั้นเป็นห้องเตียงคู่ ซึ่งมุ่งหมายให้เรานอนบนเตียงกันคนละเตียง ตอนเราเข้านอนในวันแรกที่เรามาถึงก็เห็นๆ อยู่ว่าคุณมาลัยนอนบนเตียง แต่พอตอนเช้ามืด ข้าพเจ้าตื่นขึ้นเห็นคุณมาลัยหายไปพร้อมทั้งหมอนและผ้าห่มนอน ไม่เห็นนอนอยู่บนเตียง ข้าพเจ้าลุกขึ้นจากห้องนอนเข้าไปในห้องรับแขกซึ่งอยู่ถัดออกไปก่อนถึงประตูที่เปิดออกไปสู่ทางเดินข้างนอกห้อง ข้าพเจ้าเห็นคุณมาลัยนอนหลับคุดคู้อยู่บนเก้าอี้โซฟาหน้าเตาผิง ซึ่งในเตานั้น มีไฟลุกโชนโดนใช้ฟืนท่อนใหญ่ๆ ใส่เป็นเชื้อเพลิงอยู่

คุณมาลัยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ติดนิสัยการนอนหน้ากองไฟในป่า ฉะนั้นเวลาที่จากบ้านมาทำให้คิดถึงป่าจึงอยากจะนอนแบบนอนในป่า โดยที่รู้สึกอบอุ่นและได้รับความสุขความพอใจดี ดังนั้นทุกๆ เช้ามืด ข้าพเจ้ามักตื่นมานั่งผิงไฟ เพื่อร่างกายได้รับความอบอุ่น และจ้องมองดูท่อนฟืน ที่ลุกช่วงโชติด้วยอารมณ์เบิกบานร่วมกับคุณมาลัย ไม่ช้าไม่นานบ๋อยจะนำน้ำชาตอนเช้ามาเสริ์ฟเรา ดื่มน้ำชาแล้วสูบบุหรี่ควันละเอียดกันคนละตัว และหลังจากสำราญใจดีแล้ว เราก็ออกเดินไปตามถนน ไปสวน หย่อนใจความชื่นบานตามประสาของผู้มีสันโดษอย่างเดียวกัน เราปฏิบัติเช่นนี้ทุกวันกระทั่งกลับ

ข้าพเจ้าเป็นคนมีจุดอ่อน คืออ่อนต่อการซึ้งเจตสิก หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Sentiments เมื่อเขียนมาถึงตอนนี้จึงทำให้ข้าพเจ้าอดที่จะรำลึกนึกถึงคุณมาลัยไม่ได้ เพราะเราได้อยู่ใกล้ชิดกัน และต่างก็ได้รับความชื่นบานรื่นรมย์ใจที่จะลืมเสียมิได้ในนครละโฮร์มาด้วยกัน

จริงหนอ ! คุณมาลัยได้จากเราไปแล้ว โดยที่คุณมาลัยมีคุณงามความดีอยู่มากหลาย อันเราจะไม่พูดไม่กล่าวเสียมิได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการหนังสือและภาษาของประเทศไทย และความดีอย่างหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าใคร่ขอยกให้เห็นเป็นพิเศษนั้นก็คือ คุณมาลัยมีคุณสมบัติประการสำคัญคือ เป็นผู้เชิดชูฐานะนักเขียนของประเทศไทย

มีความเจริญอยู่อย่างหนึ่งซึ่งไม่มีใครกล้าเถียงกล้าคัดค้านว่า ในประเทศไทยเรานั้น มีผู้คน เป็นอันมากยังไม่กล้านิยมเลือกเอาการเขียนหนังสือเป็นอาชีพจริงจัง ซึ่งผิดกับการปฏิบัติในประเทศอเมริกาเป็นอันมาก ทั้งนี้เพราะว่าอาชีพการเขียนหนังสือในประเทศไทยยังถือเอาเป็นล่ำสัน มั่นคงไม่ได้ แม้จะมีใจรักการเขียนใหญ่หลวงแค่ไหนก็ตาม การเขียนหนังสือต้องมีภาวะล้มลุกคลุกคลานและอดมื้อกินมื้อกันอยู่ คำกล่าวอันมีสำเนียงเย้ยหยันว่า "นักประพันธ์ไส้แห้ง" ยังคงกังวานอยู่ในหูพวกเราอยู่แต่นานมาแล้ว แม้จะทุกเมื่อเชื่อวันนี้ก็ยังเหลือร่องรอยให้เราได้ยินอยู่อีก ยังหาได้หมดสิ้นไปเสียทีเดียวไม่

แต่คุณมาลัย ชูพินิจ ได้ทำให้ใครๆ เห็นกันทั่วไป คำที่กล่าวว่า "นักประพันธ์ไส้แห้ง" นั้นไม่เป็นจริง ตามความรู้สึกของข้าพเจ้า คุณมาลัยเป็นบุคคลสำคัญในวงวรรณกรรมของประเทศไทยที่เชิดชูเกียรติและยกฐานะนักเขียนของประเทศไทยให้สูงส่งขึ้นมาก การจะกล่าวสดุดีนักเขียนไทยคนอื่นๆ ข้าพเจ้ารู้สึกว่ากล่าวสดุดีไม่ได้เต็มปาก ส่วนการกล่าวสดุดีคุณมาลัยนั้น ข้าพเจ้ากล้ากล่าวได้อย่างไม่มีการลังเลหรือต้องยับยั้งชั่งใจอันใดเลย ดังจะขอยกให้เห็นเป็นเครื่องยืนยันดังนี้

ประการแรก คุณมาลัยถาโถมเข้ามาสู่การประพันธ์ของเมืองไทยด้วยลักษณาการที่แน่วแน่เด็ดเดี่ยว และได้ยึดอาชีพนี้มาตลอดชีวิตโดยไม่มีการลังเลแคลนคลอนไม่แน่ไม่นอน ทั้งนี้ได้บ่ายหน้าเข้าสู่อาชีพนี้ตั้งแต่สำเร็จสามัญศึกษาจนกระทั่งชีวิตหาไม่ ซึ่งผิดกับลักษณะของนักเขียนไทยๆ อีกหลายคนซึ่งมีการหันเหและเปลี่ยนแปลงบ้างไม่มากก็น้อย

ประการที่สอง คุณมาลัยมีความบากบั่นวิริยะอุตสาหะไม่หยุดยั้งและย่นย่อท้อถอย ซื่อตรง จงรักต่อหน้าที่ในการเป็นนักเขียน พยายามอ่านและค้นคว้าฝึกฝนอบรมตนอยู่เสมอ จึงได้เป็นผู้มีความรู้ทันสมัยทันเหตุการณ์ของบ้านเมืองและของโลกอยู่เสมอ ทั้งขยันหมั่นเพียรในการงานถนัดถนี่ในทำนองเขียนหลายอย่างต่างๆ นานา ทั้งขยันหมั่นเพียรในการงานถนัดถนี่ในทำนองเขียน หลายอย่างต่างๆ นานา สามารถเขียนได้ไม่ว่าวรรณกรรมแบบไหน เรื่องยาว เรื่องสั้น บทนำ บทความ รายงาน ข่าว คอลัมน์เล็กๆ น้อยๆ กระจุ๋มกระจิ๋ม หน้าผู้หญิง หน้าหมวย บทละครวิทยุและ โทรทัศน์และอะไรต่ออะไรอีกมากมาย คุณมาลัยมีคุณสมบัติสนุกและเพลิดเพลินในการเขียน และเขียนได้วันยังค่ำโดยมิรู้เหน็ดรู้เหนื่อย อย่างนี้ข้าพเจ้าเป็นลักษณะพิเศษในตัวคุณมาลัย ซึ่งเราไม่ ค่อยจะได้ประสบพบเห็นหน้ากันนัก

ประการที่สาม นับได้อย่างหนึ่งว่าคุณมาลัยเป็นผู้มีอัจฉริยภาพ คือทั้งๆที่มิได้เคยได้รับการศึกษามาจากมหาวิทยาลัย ก็พยายามสร้างสรรค์อบรมตนเองจนเป็นผู้มีความรู้รอบด้านและใช้สำนวนโวหารได้ไพเราะเพราะพริ้ง ถ้าท่านอ่านวรรณกรรมชิ้นต่างๆ ของคุณมาลัยดู ก็จะประจักษ์ความจริงข้อนี้ได้เป็นอย่างดี

ประการที่สี่ ด้วยการอาศัยอาชีพนักเขียนนี้เอง คุณมาลัยมีงานการทำเป็นล่ำสัน เป็นผู้มีฐานะมั่นคง เป็นหลักเป็นแหล่ง มีครอบครัว มีลูกเต้า โดยได้รับยกย่องว่าเป็นพลเมืองดีของบ้านเมืองคนหนึ่ง สนใจและยื่นมือเข้าช่วยในกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ไม่น้อย

ประการที่ห้า คุณมาลัยเป็นผู้ที่ได้รับเกียรติจากสังคม จะได้รับการดูหมิ่นถิ่นแคลนจากใครๆก็หาไม่ ประจักษ์พยานแห่งการกล่าวนี้ก็คือคุณมาลัยถึงแก่กรรมลงในท่ามกลางความโอฬารของชีวิต ไม่ใช่ท่ามกลางความตกต่ำแต่อย่างใด คุณมาลัยกำลังไต่เต้าสูงขึ้นเรื่อยจนเกือบจะถึงจุดสุดยอดของชีวิตคนเรา ได้รับเกียรติอันใหญ่ยิ่งหลายอย่าง อาทิได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ทางวารสารศาสตร์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับเลือกให้เป็นรองนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ฯลฯ และเอาใจใส่สนใจในกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ต่างๆ ทั้งในหน้าที่การงานก็เป็นกำลังสำคัญของบริษัทไทยพณิชยการ ซึ่งออกหนังสือพิมพ์ไทย สยามนิกร และสยามสมัย อีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นด้วยว่ามืออาชีพประจำอันล่ำสันมั่นคง

ดังนั้น ในฐานะที่คุณมาลัยยึดอาชีพการประพันธ์เป็นหลักโดยไม่มีการเอนเอียง โดยที่คุณมาลัยแสดงอัจฉริยภาพ ได้ทิ้งงานวรรณกรรมไว้เป็นประจักษ์พยานมากหลาย และโดยที่คุณมาลัย เป็นผู้มีฐานะทางครอบครัวดี ได้รับการยกย่องนับถือจากสังคมว่าเป็นพลเมืองดี จนทำให้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์และเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญต่างๆ เหล่านี้ย่อมหาได้ชี้ให้เห็นเป็นอย่างอื่นไม่ นอกจากเกียรติชื่อเสียงและความมีหน้ามีตาของคุณมาลัยเท่านั้น คุณมาลัยจึงเป็นเสมือนเพชรน้ำหนึ่งในวงการประพันธ์ คุณมาลัยได้สำแดงให้ประจักษ์ว่า นักประพันธ์นั้นไม่ไส้แห้งหรอกได้รับเกียรติและได้รับความยกย่อง และนับหน้าถือตาในสังคมเป็นอย่างดีด้วยเหมือนกัน ฉะนั้น ข้าพเจ้า จึงว่า คุณมาลัย เป็นผู้เชิดชูฐานะนักเขียนของประเทศไทย และพวกเราชาวนักเขียนจึงรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ คุณมาลัยอยู่ไม่น้อย

ฉุน ประภาวิวัฒน์
 
 

Bon Voyage  เป็นชื่อภาพยนตร์เรื่องหนึ่งของ ดิสนีย์  นำแสดงโดยแม็คมอเรย์ กับ เจน
ไวแมน ฉายที่แกรนด์ เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๐๖ มีชื่อในภาษาไทยว่า มนต์รักปารีส

ผมดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วเกิดความคิดถึงคุณมาลัยขึ้นมาอย่างทันทีทันใด ก็เพราะจากฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ ในงานราตรีสโมสรอันหรูหรางานหนึ่งนั่นเอง  นายเฟร็ตสามี กับ เจนภรรยา ได้รับเชิญไปร่วมงานด้วย ในงานนี้ มีเสือผู้หญิงแชมป์โลกคนหนึ่งรวมอยู่ด้วย หมอนี่เจอเจนเข้าก็ติดพันทันที แต่นายเฟร็ต แกมัวคื้นเครงกับสุราเพลินอยู่ เครื่องดื่มชนิดนี้มีสีเขียวขุ่นปานสีมรกตใส่แก้วเชิงขนาดเล็กๆ  เรียงมาในถาดผู้เสริ์ฟ ทีแรกนายเฟร็ตแกก็ลองเอาไปจิบดูถ้วยหนึ่งก่อน เห็นจะพึงพอใจในรสอันหวานอ่อนและไม่ฉุนเฉียวของมันนั่นเองจึงเรียกมาอีก คราวนี้เอารวมใส่แก้วใหญ่จากหลายๆ ถ้วยเล็ก ผู้เสริ์ฟถึงกับมองตาค้าง แล้วเตือนว่า

“เหล้าชนิดนี้ มันไม่พิสมัยคนอื่นเร็วนักหรอกครับ”
กระนั้นนายเฟร็ตก็ไม่เข้าใจ ดื่มไปจนหมดแล้วก็เอาใหม่อีก ถามคนเสริ์ฟว่า
“นี่เหล้าอะไร”
คนเสริ์ฟตอบว่า “แอ็บแซ่ง”

นายเฟร็ตแกก็ไม่สนใจตามเคยกับนามกรของเจ้าสุราชนิดนี้ คงได้แต่ดื่มไปครึกครื้นใจไป
จนเหลียวหน้าไปเจอะแม่เจนเมียรักกำลังถูกเจ้าเสือพรานตัวนั้นกำลังจะทำให้เสียหน้าผู้สามี  เขาจึงคิดจะไปกำราบให้อยู่มือ พอก้าวเท้าเข้าไปก้าวเดียวเท่านั้น ก็มีอันเป็นต้องล้มผลึ่งลงไปเพราะฤทธิ์-
แอ็บแซ่ง!

คุณมาลัย  ชูพินิจ ได้เคยแปลเรื่องแอ็บแซ่งหรือเวิร์มวู๊ดของแมรี่ คอเร็ลลิในชื่อไทยว่า “เถ้าสวาท” เจ้าตัวเอกของเรื่องดื่มแอ็บแซ่งเป็นประจำ จึงฝันเฟื่องตลอดเรื่อง

แอ็บแซ่งนี้ เขาว่าทำมาจากกัญชา จึงเมาซึมเด็ดขาดนัก

เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๓๗ ซึ่งผมเริ่มจะมีชื่อเสียงในทางการประพันธ์ขึ้นแล้ว แต่เวลานั้นยังเป็นทหารอยู่ที่บางซื่อ วันอาทิตย์หนึ่ง บรรดานักประพันธ์หนุ่มทั้งหลายกับสาวๆ รวมกันประมาณ ๒๐ กว่าคน ลงเรือยนต์จากท่าสะพานพุทธฯท่องเจ้าพระยา จะพากันไปเยี่ยมบ้านนักเขียนอาวุโสท่านหนึ่งคือ คุณรวม  ยอดทัย ที่ปากเกร็ด นนทบุรี

บรรดานักเขียนเหล่านี้ มีคอทองแดงอยู่หลายคน เช่นคุณแก้วกาญจนา, คุณวงศ์เฉวียง,คุณบุศราคำ, คุณอ.ก.รุ่งแสง, คุณศรีบูรพา, คุณวรยิน สุทธิพิบูลย์ และก็มีอยู่หลายคนที่ดูจะไม่ประสีประสาต่อเหล้ายาเสียเลยในตอนนั้น ก็เห็นมีคุณศรีสุรินทร์, คุณยาขอบ, คุณสถิต เสมานิล, คุณอบ ไชยวสุ แล้วก็คุณแม่อนงค์ นี่แหละ

เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๓๗ ซึ่งผมเริ่มจะมีชื่อเสียงในทางการประพันธ์ขึ้นแล้ว แต่เวลานั้นยังเป็นทหารอยู่ที่บางซื่อ วันอาทิตย์หนึ่ง บรรดานักประพันธ์หนุ่มทั้งหลายกับสาวๆ รวมกันประมาณ ๒๐ กว่าคน ลงเรือยนต์จากท่าสะพานพุทธฯท่องเจ้าพระยา จะพากันไปเยี่ยมบ้านนักเขียนอาวุโสท่านหนึ่งคือ คุณรวม  ยอดทัย ที่ปากเกร็ด นนทบุรี

สมัยนั้น คนไทยนิยมเหล้าฝรั่ง คือตราดำ ตราขาว บรั่นดี เฮ็นเนสซี่เป็นต้น พลาดจากนั้นก็ยาดองจีนไทยหรือไม่ก็ตราขาวไทยไปเลย  เรือของเราแล่นไปถึงที่หมายเมืองนนท์ ตราขาวฝรั่งหมดไปนับเป็นโหล แถมขากลับยังเอากะแช่มาอีกหลายไฟ มาหมดเกลี้ยงเสียตั้งแต่ยังไม่ถึงท่าเรือบางกระบือ

เรื่องนี้ทำให้ผมเจ็บใจนัก  ผมเข้าใจพวกเราในที่นั้นดีว่า เมื่อได้อ่านเถ้าสวาท ของแม่อนงค์กันแล้ว ต่างก็ขยาดเจ้า แอ็บแซ่ง กันมากๆ ทั่วหน้า อย่ากระนั้นเลย ผมเคยเห็นว่าที่สโมสรทหารม้าที่อยู่ใกล้ๆ บางกระบือนั่นแหละ มีเจ้าแอ็บแซ่งอยู่ขวดหนึ่ง แต่ราคามันปาเข้าไปตั้งขวดละ ๒๕ บาท
ทั้งที่ตราดำก็เพียงขวดละ ๕ ตราขาวก็เพียง ๔ บาท แล้วก็ก๋วยเตี๋ยวผัด , ข้าวผัดสมัยนั้นมันจานละ ๑๐ สตางค์ ๑๕ สตางค์เท่านั้น

ตัดสินใจให้เรือแวะจอดที่ท่าเรือบางกระบือ แล้วผมก็เข้าไปเซ็นเอามันกลับมาหาน้ำแข็งเปล่าไม่ใส่น้ำมารินแจก  เอ้อเฮอ!สีมันเขียวคล้ำแล้วก็เป็นสายยังกับน้ำเชื่อมยังไงยังงั้น วันนั้น         แอ็บแซ่งพร่องไปถึงกั๊ก เอาไปฝากไว้ที่สวนสนุกลุมพินีที่เราชอบดูมวยกัน ก็กินไปอีกตั้งเดือนกว่าถึงได้หมดขวด

ผมรู้จักงานของคุณมาลัยมาพร้อมๆ กับที่ผมชอบอ่านหนังสือนิยายเริงรมย์นี่แหละครับ แต่ผมได้ชอบคุณมาลัยอย่างจริงจัง ก็เมื่อได้อ่าน “ศึกอนงค์” ซึ่งเป็นเรื่องของขวานั่นแหละ ตอนนั้นเห็นจะราว พ.ศ.๒๔๖๙-๗๐ คงได้ แต่มารู้จักตัวจริง เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ ที่ห้องเกษมศรีของคุณ ฮิวเมอริสต์ที่หน้าวัดชนะสงคราม เมื่อผมพบหน้าคุณมาลัยตอนนั้น  ผมก็นึกไปถึงท่านสอกระติส ที่โกนหนวดเคราทิ้งเสียแล้วยังไงยังงั้น แถมพูดจารึก็แสนสุภาพ อ่อนหวาน รับคำว่าคร๊าบ คร๊าบ ไม่ขาดปาก เล่นเอาผมซึ่งเคยถูกอบรมให้ตะโกนข้ามฟากสระน้ำหัดทหารชักอายในกิริยาวาทีของ ตนเองไปเลย  ตอนนั้น คุณมาลัยเป็นครูสอนอยู่โรงเรียนวัดสระเกศ

แต่อย่าเข้าใจผิดไปนะครับ  ว่าคุณมาลัยเป็นคนอ่อนแอ หากแต่เป็นคนสุภาพอ่อนโยน
ยิ่งกว่านั้น ถึงว่าร่างกายของคุณมาลัยจะโปร่งบาง มีกิริยาท่าทางเป็นคนนุ่มนวลจนเกือบจะกลายเป็นหนุ่มนิ่มไปก็ตาม แต่คนคนนี้ เป็นคนแข็งแรงทรหดอดทนอย่างหาตัวจับได้ยาก สามารถทำงานเขียนหนังสือได้นับเป็นวันละสิบๆ ชั่วโมง เคยเป็นคู่ซ้อมมวยกับแนบ นิ่มรักย์ นักมวยเอกสมัยนั้น เป็นนักผจญภัย เช่ยเคยฝ่าห่ากระสุนปืนมาแล้วร่วมกับนายสงัด  ศรีเพ็ญ นายอำเภอบางซื่อ
เมื่อคราวไปจดข่าวการปราบขบถวรเดชใน พ.ศ.๒๔๗๖ เป็นพรานป่าล่าสัตว์มือดีผู้หนึ่ง ซึ่งสมัยเมื่อคุณมาลัยสะสมเล่นกล้วยไม้อยู่นั้น เคยถูกล้อเลียนว่าเป็นพรานป่าล่ากล้วยไม้ ชะรอยเป็นการยั่วยุให้เกิดความเจ็บใจขึ้นมาก็เป็นได้  คุณมาลัยจึงคว้าปืนขึ้นรถจิ๊บไปส่องกวางป่าใส่หน้ารถมาให้ชมฝีมือ
กันเล่นเป็นขวัญตา  คุณมาลัยสนใจในกีฬาอีกอย่างหนึ่งเป็นอันมาก นั่นคือการชกมวย คุณมาลัยเป็นทั้งนักมวยสมัครเล่นและเป็นคนเขียนข่าว การชกมวยเป็นยอดและก็เคยเขียนตำราชกมวยสากลไว้เล่มหนึ่งในนามปากกา “แบ็ตตลิ่งกร๊อบ” ผมเคยได้ยินสมาน ดิลกวิลาศ แชมป์มวยครั้งสวนสนุกเรียกคุณมาลัยว่า “ครู” เสมอจนติดปาก จะว่าเป็นคนสอนหนังสือก็คงจะไม่ใช่เพราะคุณสมานแกเป็นนักมวยที่มีอายุใกล้ๆ กันกับคุณมาลัย

ถ้าจะเทียบลักษณะนิสัยของคุณมาลัยเป็นนักผจญภัยชาวอังกฤษผู้หนึ่ง ซึ่งคุณมาลัยมีความนิยมมาก จนถึงกับแปลชีวประวัติลงไว้ในหน้าหนังสือพิมพ์เป็นสารคดีเรื่องยาวแล้ว ก็เห็นจะได้แก่ พ.อ.ลอเร็นส์แห่งอเรเบีย เพราะนักผจญภัยผู้นั้นเป็นทั้งนักรบ นักประพันธ์ นักกวี และนักปรัชญา ซึ่งชีวประวัติของท่านผู้นี้ ได้ถูกถ่ายทอดมาทำเป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปีไปแล้ว เสียดายเหลือเกิน ที่ถ้าคุณมาลัยได้มีชีวิตทันอยู่ชมภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีความชื่นชมสมใจสักเพียงไหน แต่ทว่าก็ไม่แน่นัก เพราะอักษรในชีวประวัติที่คุณมาลัยได้วาดเอาไว้แล้วอย่างโลดเต้นมีชีวิตชีวา จะไม่ทำให้คุณมาลัยได้วาดมโนภาพเกี่ยวกับท่านผู้นี้เข้าไว้ในสมองบ้าง อันอาจจะดียิ่งไปกว่าเรื่อง ในภาพยนตร์ก็ได้

คุณมาลัยได้เข้าร่วมงานกับผมอย่างจริงจัง เมื่อพ.ศ.๒๔๗๔ โดยที่เมื่อผมได้ออกจากเป็น นายทหารประจำการแล้ว และได้มาเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อ "ผู้นำ" ซึ่งตั้งขึ้นใหม่โดยมีคุณเทียน เหลียวรักวงษ์ เจ้าของโรงพิมพ์สยามพณิชยการ (เก่า) เป็นเจ้าของ คุณเอ็ม อิสไมล์ เป็นผู้จัดการ

ชื่อ "ผู้นำ" นี้ คุณมาลัยเป็นคนตั้งให้ และชื่อนี้ ก็เป็นนามปากกาของคุณมาลัยนามหนึ่งด้วย ใช้สำหรับเรื่องประเภทบทความ ส่วนม.ชูพินิจ ใช้สำหรับเรื่องปัญหาชีวิต ถ้าเป็นเรื่องบันเทิงเริงรมย์ ใช้ "แม่อนงค์" และใช้ "นายฉันทนา" สำหรับเรื่องสารคดี เรื่องหมัดมวยใช้ "แบ็ตตลิ่งกร๊อบ" เรื่องระหว่างเพศใช้ "เรไร" เรื่องผู้หญิงใช้ "ผุสดี" นี่เป็นนามปากกาที่ใช้สมัย "ผู้นำ" ซึ่งมีผมเป็นบรรณาธิการ ส่วนนามปากกา "น้อย อินทนนท์" มาเริ่มใช้เมื่อออกหนังสือพิมพ์ "พิมพ์ไทย" แล้ว

บางทีอาจจะมีผู้สงสัยผมที่ว่า คุณมาลัยเป็นนักรบนั้น เป็นทหารอะไร? ก็ระหว่างที่ร่วมงาน กันที่ "ผู้นำ" นี่แหละ คุณมาลัยเป็นพลทหารอยู่กรมเสนารักษ์ทหารบก ซึ่งตั้งอยู่ที่ปากคลองหลอด ท่าช้างวังหน้า เวลาวันเสาร์หยุดครึ่งวัน คุณมาลัยจะเดินจากโรงหมอที่นั่นมาส่งต้นฉบับให้ที่โรงพิมพ์ถนนสีลมเป็นประจำ นี่แหละ เป็นเครื่องแสดงถึงความแข็งแกร่งอดทนของคุณมาลัย ดังกล่าว ยิ่งกว่านั้นเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ตั้งแต่มัชฌิมวัยมาจนถึงปัจฉิมวัย คุณมาลัยเป็นนักเดินป่าที่มีความอดทนเป็นยอด เดินด้วยเท้า ไม่ใช่ด้วยรถ และเดินขึ้นเขาลงไปเป็นชั่วโมงๆ และเป็นวันๆ

ที่โรงพิมพ์สยามพณิชยการสมัยนั้น จัดว่าเป็นที่ชุมนุมนักเขียนรุ่นราวคราวเดียวกันอยู่หลายคน ที่เรียกว่าเป็นประจำนั้น นอกจากคุณมาลัยแล้ว ก็มีคุณบุญยืน โกมลบุตร หรือคุณวสันต์ เทวรักษ์ ซึ่งสมัยนั้นก็เขียนเรื่องยาวลงอยู่ในผู้นำหลายเรื่อง เช่นเรื่องม่านบังตา หนามงิ้ว เป็นต้น นอกจากนี้ก็มี โพยม โรจนวิภาต หรือ คุณ อ.ก.รุ่งแสง คุณพัฒน์ เนตรรังสี คุณโชติ แพร่พันธุ์ หรือ "ยาขอบ" ผู้ชนะสิบทิศ ของท่านทั้งหลายนั่นแหละ โดยมี คุณเทียนกับคุณอิสไมล์ เป็นตัวยืนโรงประจำสำนัก ท่านเหล่านี้พบกันเข้าเมื่อใด เป็นจับกลุ่มนั่งคุยกันไปเถิด ดึกดื่นเที่ยงคืนก็ไม่ยอมกลับไปนอนเสียที คุยกันไป หัวเราะกันไป หน้าตาเริงรื่นชื่นบาน ยิ้มกันจนฟันแห้งแล้วแห้งอีก ตั้งแต่รู้จักกันมา จากบัดนั้นจนบัดเดี๋ยวนี้ ผมไม่เคยเห็นคุณมาลัยมีสีหน้าบอกอาการโกรธจัดฟัด เฟียดตวาดผู้ใดเลยสักครั้งเดียว ดูเหมือนเวลาไม่พอใจมาก คุณมาลัยกลับยิ้มเอามากๆ เสียด้วย !

คุณ อ.ก.รุ่งแสง ก็ดี คุณยาขอบ ก็ดี คุณ พ.ษ. ก็ดี คุณเทียนในนามปากกา "ลำโพง" ก็ดี ล้วนแต่ได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนเรื่องประเภทขบขันมือดีทั้งนั้น แต่สำหรับคุณมาลัยซึ่งเขียนหนังสือได้ทุกแบบ ผมเองไม่เคยเห็ยบทร้อยกรองหรือกวีนิพนธ์ของเขาเลย ในหมู่เรื่องสั้นที่ใช้นามปากกา "เรียมเอง" ผมก็ไม่เคยอ่านพบเรื่องประเภทขบขันของเขา จะมีบ้างก็ประเภทคมคายที่เขียนในแบบค่อนขอด โดยใช้นามปากกา "อาตมา" พูดถึงนักเขียนเหล่านี้ผมมาแปลกใจเอาที่คุณเทียนนี่สิ ที่สามารถสร้างเรื่องขบขันขนาดใหญ่ไว้ถึงสองเล่ม คือเรื่อง "ผู้พิชิตมัจจุราช" กับ "วิญญาณพเนจร" ผมสงสัยว่าคุณมาลัยคงไม่มีโอกาสได้อ่านเรื่องทั้งสองนี้ ถ้าได้อ่านแล้ว คงจะนั่งหัวเราะอย่างยกใหญ่เป็นแน่

เราได้มาร่วมงานอย่างใกล้ชิดกันอีกที่ "ประชาชาติ" ของเสด็จในกรมนราธิปฯ เมื่อหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ตอนนั้นคุณมาลัยออกจากทหารแล้ว และมานั่ง ประจำทำงานได้อย่างเต็มที่ ที่ประชาชาตินี้เป็นที่ชุมนุมนักเขียนหนุ่มไว้มาก และมีอยู่ไม่น้อยที่ใช้ชีวิตราตรีกันอย่างฟุ่มเฟือย แต่เท่าที่ผมทราบมาและรู้จัก คุณมาลัยเป็นผู้ที่ใช้ชีวิตให้หมดไปด้วยการงานและชีวิตในครอบครัวเท่านั้น

ต่อมา ประชาชาติ ก็มาถึง สุภาพบุรุษประชามิตร และที่ประชามิตรนี่เอง ท่านศุกรวรรณดิศ ช่างภาพแผนกโฆษณาของกรมรถไฟสมัยนั้นท่านสามารถถ่ายภาพยนตร์ ๑๖ มม.สีได้อย่างสวยงาม ได้คิดทำหนังเรื่องกันขึ้น เพราะผมเคยคิดกับท่านมานานแล้ว ตั้งแต่บริษัทภาพยนตร์ไทยหรือฟิล์มยังตั้งอยู่ทุ่งมหาเมฆ ในชั้นแรกท่านขาวอยากจะได้ฝีมือบทเขียนทั้งเรื่องจากคุณมาลัย แต่จะต้องไปเขียนกันตามภูมิประเทศจริงที่เชียงใหม่ คุณมาลัยติดงานทางโรงพิมพ์ไปด้วยไม่ได้ จึงบอกไว้ว่าถ้า หนักหนาเหลือกำลังก็จะขึ้นไปช่วยสัก ๔ ซ้า ๕ วัน พวกเราใจตรงกันที่จะใช้กล้วยไม้ชั้นดีที่เชียงใหม่เป็นชื่อเรื่อง คุณมาลัยเสนอชื่อฟ้ามุ้ย ผมฟังดูคล้ายกับหน้ามุ่ยก็ยังลังเล พอดีเวลานั้นคุณสงัด บรรจงศิลป์ ซึ่งเป็นคนเชียงใหม่ทำงานเป็นหัวหน้าข่าวต่างประเทศอยู่ที่ประชามิตรนั้นด้วย ผมจึงถามชื่อกล้วยไม้ชั้นดีและหายากของเชียงใหม่ว่ามีอะไรบ้าง คุณสงัด บอกให้ทันทีว่า "สาม ปอยหลวง" ผมก็ถามถึงคำแปล อ๊ะ เหมาะอะไรอย่างนั้น ! ท่านศุกรวรรณดิศพาคณะทำหนังถ่าย ทำกันเรื่อยไป จากหัวลำโพงไปจนถึงเชียงใหม่ แล้วก็ไปถ่ายทำกันต่อที่เชียงใหม่ โดยเขียนบทกันไปถ่ายกันไป ท่านศุกรวรรณดิศเป็นผู้ตัดทอนบทให้เป็นภาพยนตร์ ตานี้มาถึงตอนบทรักหวานจ๋อย อันเป็นจุดเด่นของเรื่องนี่สิ จรดปากกาไม่ค่อยจะลงเลย ต้องร้อนถึงโทรเลขเชิญตัวคุณมาลัยจาก กรุงเทพฯไปเชียงใหม่ให้ไปโม่นวดคลึงบทรักต่างๆให้แต่ในภาพยนตร์ใช้ชื่อ "เวทางค์" ผู้เดียว แต่ความจริงแล้วบทภาพยนตร์สีธรรมชาติเรื่องแรกของไทย ใช้คนเขียนบทสามคนมี "แม่อนงค์" รวมอยู่ด้วยอีกหนึ่ง ผมเขียนมาในที่นี้ นอกจากจะแถลงความจริงให้ทราบกันแล้ว ก็เป็นด้วยความระลึกถึงเป็นอย่างมากด้วย

จากประชามิตร ก็ไปถึงสวนอักษร แล้ว "พิมพ์ไทย" ซึ่งคุณมาลัยได้นั่งเก้าอี้เป็นที่ปรึกษามา จนตราบวาระสุดท้ายของชีวิต ตลอดเวลาที่เรารู้จักกันมา ผมสารภาพตามตรงว่าจำไม่ได้ว่าคุณมาลัยเคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บ้างหรือเปล่า ผมตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องนี้ขึ้นจากความทรงจำอันแท้จริง จึงไม่อยากจะไปสอบถามใคร แต่ผมเข้าใจเอาว่า คุณมาลัยคงเคยเป็นบรรณาธิการ อยากจะไปสอบถามใคร แต่ผมเข้าใจเอาว่า คุณมาลัยคงเคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติมาสมัยหนึ่งในราว พ.ศ.๒๔๗๗-๗๘ ซึ่งสมัยนั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม กำลังเรืองอำนาจใหม่ๆและจากผลงานในหน้าที่นั่นเอง คุณมาลัยถูกรถเกราะมารับเอาตัวไป ทำให้ผมเวลานั้นซึ่งกำลังเป็นบรรณาธิการ "ผิวเหลือง" รายวันอยู่ด้วย จึงเขียนความเห็นลงไปในหนังสือพิมพ์ อันกล่าวถึงความสำคัญของคำว่า "กองทหารจะต่างกับกองโจรซึ่งถืออาวุธเหมือนกัน ก็ที่ยุทธวินัย"

วันรุ่งขึ้น ผมยืนอยู่บนเฉลียงสำนักงานหนังสือพิมพ์ที่ท่าช้างวังหลวง มองไปยังถนนเลียบพระบรมมหาราชวัง คอยดูอยู่ช้านาน ว่าจะมีรถเกราะมาเยี่ยมเยียนผมบ้างหรือไม่ เงียบไปตลอดเช้า จนบ่าย แต่ในตอนบ่ายนั่นเอง นายทหารคนสนิทของเจ้ากรมสัสดี ได้มาตามตัวผมไปพบกับเจ้ากรม ซึ่งท่านมีศักดิ์เป็นลุงของผม แล้วท่านก็บอกผมว่า "เมื่อเช้าฉันได้ไปประชุมที่กระทรวงกลมโหม ทราบข่าวเรื่องในหนังสือพิมพ์ที่แกเป็นบรรณาธิการอยู่ ฉันขอเตือนว่า ถึงแกจะเป็นนายทหารกองหนุน แต่ก็ยังอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโม การเขียนเช่นนั้น จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทใส่ร้ายผู้บังคับบัญชาด้วย" ฮ่า!

ที่ผมนำเรื่องนี้มาเขียนไว้ในที่นี้ ความปรารถนาส่วนใหญ่ ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคุณมาลัยเท่านั้น

คุณมาลัยเป็นคนเมืองกำแพงเพชร ผมเป็นคนเมืองตาก และก็มีญาติเป็นคนเมืองกำแพงเพชรเหมือนกัน ผมจึงนับถือคุณมาลัยเสมือนญาติคนหนึ่ง เป็นความรู้สึกที่อยู่ในส่วนลึกของจิตใจ และก็อาจจะเป็นความจริงด้วย แต่ผมก็ไม่อยากจะไปถามใคร แต่คุณมาลัยอาจจะทราบความจริงว่าเราเป็นญาติกันจริงๆ ก็ได้ ครั้งหนึ่งคุณมาลัยเดินมาหาผมที่โต๊ะทำงานประชามิตร ถามผมว่า ;

"เอ ผี! บ้านท่าไม้แดงนี่ อยู่เหนือหรือใต้กำแพงเพชร? หมายถึงเมืองกำแพงเพชร"
ผมมองหน้าคุณมาลัย ยิ้มอย่างภาคภูมิเป็นอย่างยิ่ง ที่คนเราจัดเจนภูมิประเทศแถบนั้นดีอย่างคุณมาลัยยังต้องมาถามคนอย่างผม แล้วผมก็ตอบไปว่า
"ไม่รู้"

คุณมาลัย ยกด้ามดินสอที่ถือติดมือมาด้วย เคาะแสกหน้าผมเบาๆ ๑ ครั้ง อย่างสัพยอก แล้วเดินยิ้มพึมพำกลับไปว่า "ผีมันจะรู้อาร๊าย"

อ้อ ผมนึกออกอีกเรื่องหนึ่ง เพราะผมรู้เรื่องตลกของคุณมาลัยเข้าเรื่องหนึ่งรู้โดยความจงใจเสียด้วย แต่ผมบอกไว้ในที่นี้แต่ชื่อเรื่องเท่านั้นว่า "ฮื่อ-ฮื่อ-โว้ย" ผู้ใดอยากทราบเรื่อง ให้ถามได้ที่คุณอุดม ชาตบุตร หรือที่คุณสนิท กังศานนท์

พวกเราชอบตั้งฉายาให้เรียกกันตามความสนิทชิดชอบ ผมเองถูกเรียกว่า "ไอ้ผี" ตามสันดานที่ชอบหยอกหลอกล้อกันเล่นเสมอ คุณกุหลาบถูกเรียกว่า "หมาป่า" เห็นทีจะเป็นผู้ชอบรับประทานลูกแกะ คุณเฉวียงถูกเรียกว่า "งูเห่า" คุณสนิทถูกเรียกว่า "นกเล็ก" ผมก็เลยติดนิสัยอันนี้ ชอบตั้งชื่อเรียกเพื่อนฝูงบางคนเช่นคุณปกรณ์ บูรณปกรณ์(ป่วน บูรณศิลปิน) ว่า "ไอ้ตี๋" เรียกคุณผมน้อย ต่วน บุญชูช่วย ว่า "ไอ้โกร๋น" เรียกคุณธนวนต์ จาตุประยูร ว่า "ไอ้อ้วน" เรียกคุณเหม เวชกรว่า "ลุงเม๋" เป็นต้น

สำหรับคุณมาลัยนี้ ผมมาเรียกฉายาของเขา ก็เมื่อทำงานร่วมกันที่ประชาชาติปีแรกอันเป็นระยะเวลาที่เราชอบตั้งฉายาให้แก่กัน ครั้งหนึ่งผมเห็นคุณมาลัย เขียนนามของตนเองในท้ายหนังสือ ฉบับหนึ่ง ตัวหนังสือที่เขียนนั้น ถ้าจะอ่านก็ได้แก่คำว่า "ม้า" ผมจึงเรียกขึ้นว่า "ม้า" คุณมาลัยก็เหลียวหน้ามายิ้มรับรอง ผมก็เรียกคุณมาลัยว่า ม้า มาแต่ครั้งนั้น แต่เมื่อคุณมาลัยชื่อ มาลัย บางคนก็เลยเข้าใจว่า "ม้าลาย" ด้วยประการฉะนี้

ผมพบกับคุณมาลัยครั้งสุดท้าย เมื่อวันฌาปนกิจศพ ม.ล.ต้อย ชุมสาย หรือ "น้อย อภิรุม" ในโลกของนักเขียน ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม หลังจากออกมาจากเมรุแล้ว คุณมาลัยจึงได้เห็นผม เดินมาหาผมช้าๆ ด้วยใบหน้าอันยิ้มแย้มและมองดูผมคล้ายกับสงสารและปลง แล้วพูดช้าๆ ตามนิสัยว่า

"ยังมาได้ก็นับว่าดีแล้ว"
กับพบกันอีกครั้งหนึ่งในวันบรรจุศพที่วัดเดียวกันนี้ ผมพบกับคุณมาลัยครั้งนี้ ในขณะที่เรือนร่างของคุณมาลัย กำลังสันติสุขอยู่ในโลงอันประดับประดาอย่างสวยงาม และมีภาพถ่ายขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนขาหยั่งข้างหน้าโลงนั้น...

ผมพินิจดูภาพถ่าย เป็นภาพในเครื่องแปบบสวมเสื้อครุยดุษฎีบัณฑิต มีโบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส อิ่มเอิบ เต็มไปด้วยความภูมิฐานสมกับจะเป็นความภาคภูมิของชาวหนังสือพิมพ์เมืองไทย สมัยนี้ ที่มีคนอย่างนี้รวมอยู่ด้วยผู้หนึ่ง และอยู่ร่วมกันอย่างมีฐานะเป็น "ผู้นำ" ของชาวหนังสือพิมพ์สมัยอายุขัยของเขาอย่างเหมาะสมที่สุดอีกด้วย ผมขอเรียกชื่อท่านในที่นี้ว่า ดร.มาลัย ชูพินิจ

Bon Voyage – มาดีไปดี – ม้าลาย !

ทองอินทร์  บุณยเสนา
(เวทางค์)

 
 

คุณมาลัยชูพินิจ เคยเขียนขึ้นต้นเรื่องสั้นของท่านเรื่องหนึ่ง ซึ่งผมยังจำได้ว่า "ชีวิตคืออะไรก็ได้" แต่ชีวิตอย่างคุณมาลัยไม่ใช่ชีวิตคืออะไรก็ได้ แต่เป็นชีวิตที่มีชีวิต เต็มไปด้วยชีวิตและชีวา ต่อการต่อสู้กับชีวิตอย่างทรหดอดทน ในบ้านเมืองและในโลกที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างในทุกวันนี้

มรณกรรมของคุณมาลัย คือการสูญเสียอย่างใหญ่หลวง คุณมาลัยได้พาเอานักเขียนอีกหลายนามปากกาพลอยตามไปด้วยเช่น ม.ชูพินิจ แม่อนงค์ น้อย อินทนนท์ เรียมเอง สมิงกะหร่อง แบ๊ตตลิ่งกร๊อบ ตลอดจนตาเกิ้น ตาเกิ้น พรานชาวกะเหรี่ยงที่ออกมากระโดดโลดเต้นให้คนฟังวิทยุ เห็นจริงเห็นจังเหมือนกับว่าจะมีตาเกิ้นจริงๆ อยู่ในโลกนี้

คุณมาลัย ชูพินิจ เกิดที่จังหวัดกำแพงเพชร บิดาเป็นพ่อค้าซุง ภายหลังเมื่อขาดทุนรอนลงไปก็เป็นกำนันปกครองราษฎรในตำบลของท่านอย่างสุจริตและยุติธรรม ภายหลังในบั้นปลายของ ชีวิตได้มาป่วยที่โรงพยาบาลศิริราชและถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลนั้น ตลอดเวลาคุณมาลัยได้จัดการ รักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ วิ่งเต้นเที่ยวซื้อหาหยูกยา ซึ่งโรงพยาบาลสั่งให้ซื้ออย่างเต็มที่แปลว่าได้กระทำการสนองคุณต่อบุพการีสมกับที่เป็นลูกที่กตัญญูคุณบิดามารดา

คุณมาลัย ชูพินิจ ได้รับการศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบ แต่ได้ไปเรียนภาษาอังกฤษกลางคืนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ดังนั้นคุณมาลัยก็เลยพลอยเป็นลูกเทพศิรินทร์กับเขาไปด้วย แล้วออกมาเป็นครูอยู่โรงเรียนวัดสระเกศออกจากครูก็ไปเป็นทหารเสนารักษ์ ผมได้พบคุณมาลัยในเครื่องแบบทหาร ผมตื่นเต้นเหลือเกินที่ได้พบกับนักประพันธ์ผู้นี้ ในมือถือกระเป๋าเอกสารที่อัดแน่นจนโป่ง เปล่า ไม่ใช่เสื้อผ้าหามิได้ แต่เป็นต้นฉบับเรื่องแปล หรือว่านวนิยายอันได้บรรลุสรรพ เรื่องราวของชีวิตมนุษย์กับมนุษย์-มนุษย์กับธรรมชาติ-มนุษย์กีบสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกกันว่าสังคมรอบๆ ตัวเราเอง

ผมคิดว่าจะไม่กล่าวถึงประวัติของคุณมาลัย ชูพินิจ เพราะว่าคนอื่นคงจะเขียนได้ละเอียดและถี่ถ้วนกว่า ผมหลับตานึกถึงคุณมาลัยคราวใด ภาพในอดีตก็ผุดขึ้นมาในสำนึก ตลอดเวลาที่ผมได้ร่วมทำงานอยู่ด้วยกับคุณมาลัยในฐานะผู้น้อย ซึ่งคุณมาลัยได้ให้ความเมตตากรุณาตามสมควร งานที่ผมเคยทำร่วมกับคุณมาลัยก็คือ งานที่หนังสือพิมพ์ประชามิตร ผมไม่ได้เข้าทำงานด้วยที่ประชาชาติก็เพราะว่าผมทำงานอยู่ถึง ๒ แห่งด้วยกัน คือหนังสือพิมพ์หลักเมืองกับหนังสือพิมพ์ ๒๔ มิถุนา ผมจะได้เขียนถึงอุปนิสัยใจคอของคุณมาลัยเท่าที่ผมจำได้ โดยไม่ต้องเยินยออะไรกันเกินไปนัก นอกจากเขียนไปตาม ความสัตย์จริง เท่าที่ได้เคยประสบพบเห็นมาเป็นประจำวัน

ชีวิตคุณมาลัย ชูพินิจ ไม่ใช่ชีวิตคืออะไรก็ได้อย่างที่ท่านกล่าวไว้ แต่ชีวิตคุณมาลัยเป็นชีวิตที่ไม่มีรอยด่างพร้อยอย่างใดเลย คุณมาลัยเคยเขียนถึงผม ๒-๓ ครั้งด้วยการสัพยอกในคอลัมน์ของท่าน บอกว่าได้พบผมครั้งแรกใน "กาเฟเดอลาเปส์" ซึ่งฟังๆ ดูแล้วโก้พิลึกคล้ายๆ พบกันที่ปารีสยังงั้นแหละ แต่ที่แท้แล้วกาเฟเดอลาเปส์ ตั้งอยู่ที่สะพานพุทธฝั่งธนบุรีนั่นเอง เวลานั้นสถานที่เต้นรำเรียกกันว่า "ฮอลล์" ไม่ใช่ไนต์คลับอย่างเดี๋ยวนี้ มีสถานที่เช่นนี้มากที่สุดอยู่ที่ถนนสุริวงศ์ คอนเสริ์ตฮอลล์ โรสฮอล์ มูแลงรูช ลูน่าฮอลล์ ตั้งเรียงรายกันอยู่ ทางด้านบนก็มีซ่วนหลีบาร์ สยามโฮเต็ล สะพานพุทธฝั่งพระนคร ก็มีเซลเล็คและฮอลล์อื่นๆ อีก ๒ ฮอลล์ ผมลืมชื่อไปเสียแล้ว ข้ามมาทางสะพานพุทธฝั่งธนก็มีแม่น้ำบาร์อยู่ใต้สะพานและกาเฟเดอลาเปส์ และยังมีที่เต้นรำอื่นๆ อีก ๒ แห่ง ผมลืมชื่ออีกเหมือนกัน ผมกับยศ วัชรเสถียร ก็ได้มีโอกาสติดท้ายนักประพันธ์ใหญ่เหล่านี้ไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนอารมณ์กับเขาด้วย

มาถึงตอนนี้แล้วก็ไม่อยากที่จะเขียนถึงความแปดเปื้อนบางอย่าง เพราะนักประพันธ์ศิลปินทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้พิทักษ์รักษาวัฒนธรรมอันดีงาม แต่เราก็ต้องรู้ต้องเห็นสังคมมนุษย์ตั้งแต่ต่ำต้อยไปจนสูงส่ง เมื่อเดินเตร่ไปเตร่กันมาก็ลองเข้าไปรีวิวช่องโสเภณีดูบ้าง ข้าพเจ้ากล่าวดังนี้ก็เพื่อจะให้พฤติการณ์ต่างๆ นี้ส่งรัศมีของคุณมาลัยให้เป็นรัศมีเด่นชัดขึ้นในความไม่มีด่างพร้อยหรือราคี อันที่จริงเราก็ไม่มีความทะยานอยากกันแต่อย่างใด แต่ก็เข้าไปเพื่อดูชีวิตในแง่มุมต่างๆ เท่านั้นเอง หรือเพื่อดูความลี้ลับของชีวิตหญิงประเภทนี้เท่านั้นเอง ทุกๆคนจะเข้าไปนั่งเล่น ไม่มีใครเกี่ยวข้อง คุณมาลัยจะกล่าวช้าๆ เนิบๆ สุภาพเหมือนเสียงผู้หญิงแต่เพียงว่า

"ผมขอคอยอยู่ข้างนอกนะคร้าบ" ก็เท่านั้นเอง นี่ผมก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วนะครับว่าชีวิตคุณมาลัยปราศจากไฝฝ้าจริงๆ ในเรื่องความเย้ายวนของโลกีย์วิสัย ถึงพวกนักเรียนนักประพันธ์ที่เข้าไปสรวลเสเฮฮากันอยู่ภายในวิมานโคมเขียวหรือวิมานนรกนั้น ก็ไม่มีใครยุ่งเกี่ยวเลยสักคนเดียว นี่เป็นสัตย์จริงของผมที่จะรับรองได้โดยสัตย์จริง

คุณมาลัย ชูพินิจ เป็นคนพูดช้ามาก แต่ชัดถ้อยชัดคำ มีสำเนียงอันหวานหู เมื่อพบผมก็มักจะกล่าวว่า "ไง-คุณมาน้าด" ดังนี้เสมอจนกระทั่งพิทย์ บุณยพุทธหัวเราะก๊ากเมื่อได้ยิน และเขาจะทำเสียงคุณมาลัยเสมอเมื่อพบกับผมโดยใช้คำว่า "คุณมาน้าด" เช่นเดียวกัน ถ้าหากว่าจะมีใครสักคนไปถามคุณมาลัยว่าคุณมาลัยกำลังทำงานอะไรอยู่ คุณมาลัยก็คงจะตอบว่าขุดเอาความจริงและ นวนิยายขึ้นมาจากพื้นดินให้ได้มากที่สุด จากธรรมชาติให้ได้มากที่สุด แล้วก็ขุดหรือสอยเอาดวงดาวและหมู่เมฆ จ้วงเอาจากท้องทะเลลมยมนา มาให้มากที่สุดที่จะมากได้เพื่อการดำรงชีวิต อยู่อย่างสบายด้วย และเพื่อพัฒนาเกียรติภูมิและชื่อเสียงให้มันโด่งดังขึ้นไปอย่างไม่มีวันที่จะสิ้นสุด

นักประพันธ์คนแล้วคนเล่าไม่มีใครเลยที่จะเอาอย่างคุณมาลัยได้สำเร็จ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เคยเปรียบคุณมาลัยไว้ว่า ถ้าคุณมาลัยเป็นนักมวยก็จะเป็นนักมวยชนิดแอ ม่วงดี ชกไม่เลือก แพ้ชนะเอาทั้งนั้น ก็อาจเป็นจริงเพราะคุณมาลัยเขียนหนังสือมากเหลือเกินเหมือนมือเป็นเครื่องจักร ใครต้องการก็เขียนให้ทั้งนั้น ครั้งหนึ่งมีสุภาพบุรุษเดินหน้าเซียวๆ ขึ้นมาบนโรงพิมพ์ พอคุณมาลัยเหลือบไปเห็นเข้าเท่านั้นก็ลุกขึ้นยืน วางหนังสือพิมพ์ลงบนโต๊ะยาวสำหรับเขียนข่าว

"มาเอาต้นฉบับหรือคร้าบ?"
"ครับ ! ผมมาขอรับต้นฉบับจากคุณครู"
"เห็นจะต้องคอยสักหน่อยละครับ" คุณมาลัยพูดช้าๆ อ่อนโยนและสุภาพ
"ครับ ! ไม่เป็นไร ผมคอยได้ครับคุณครู"

คุณมาลัยหยิบกระดาษโทรเลขทรานโอชั่นหรือรอยเตอร์ไปสองแผ่น เดินกระวีกระวาดเข้าไปในห้องของท่าน หายไปสัก ๒๐ นาที หรือกว่า นั้นสักเล็กน้อยก็เดินกึงๆ ออกมาพร้อมด้วยต้นฉบับเรื่องสั้น สุภาพบุรุษหน้าเซียวผู้นั้น ค่อยมีสีหน้าแดงเรื่อขึ้นมาด้วยความหวังอันเต็มเปี่ยม เขียนเร็วแต่ไม่ใช่เขียนชุ่ย ทุกเรื่องเต็มไปด้วยชีวิต เต็มไปด้วยบรรยากาศและธรรมชาติ และจบลงด้วยไอเดียอันสวยงามเหลือเกิน

คุณมาลัยเองก็ยังเคยเขียนไว้ว่า "ข้าพเจ้าจะไม่ยอมฝืนใจเขียนหนังสือเป็นอันขาด" ซึ่งใครๆ ก็ปฏิบัติตามเสมอมมาในข้อนี้ ครั้งหนึ่งเคยเตือนผมว่าให้ผมอ่านหนังสือให้มากๆ เผอิญตรงที่นั่งผมมีขวดน้ำเย็นตั้งอยู่ คุณมาลัยก็เลยชี้ให้ดูแล้วสาธยายต่อไปอีกว่า ไอ้น้ำในขวดนี้กินเข้าไปๆ แล้ว มันก็จะหมด ถ้าไม่ตักมาเพิ่มเติมมันเข้าไปอีก ตั้งแต่นั้นผมก็ชักจะจับอ่านหนังสือพิมพ์กับเขาบ้าง แต่แล้วก็ค่อยๆ โรยราไปเพราะถูกหนังสือมันอ่านเอาหลับไปทุกที

หนังสือของมหาวิทยาลัย หนังสือของวิทยาลัย หนังสือของสมาคมการกุศล หนังสือของ มูลนิธิต่างๆ ที่จะออกกันขึ้นเพื่อเก็บเงิน หรือเพื่อเป็นอนุสรณ์อะไรกันก็ตาม นักเขียนคนแรกที่เขาจะต้องวิ่งมาหาก็คือคุณมาลัย หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ออกใหม่ หนังสือพิมพ์รายคาบจิปาถะ คุณมาลัยจะต้องเข้าร่วมอยู่เสมอ ดังนั้นคุณมาลัยจึงไม่มีเวลาที่จะลุกขึ้นจากโต๊ะทำงานได้มากนัก ไม่มีเวลาแม้แต่จะออกมาคุยที่โต๊ะเขียนข่าวซึ่งเป็นที่สนทนาสนุกสนานกันอย่างครื้นเครง

ผมเองให้อดรู้สึกประหลาดใจไม่ได้ว่าคุณมาลัยวางตัวได้อย่างไรในการที่ไม่เคยถูกใครล้อเลียนได้เลย ทั้งๆที่คุณมาลัยก็มีฉายาที่คุณโชติ แพร่พันธุ์ตั้งไว้ให้ว่าม้าลาย เรื่องฉายาที่จะได้นี้นัยว่าเกิดจากจีนขายกาแฟที่ปากตรอกกัปตันบุศอันเป็นที่ตั้งโรงพิมพ์ไทยใหม่ พูดกับคุณมาลัยว่า
"อานายม้าลาย-ลื้อไม่ได้เป็นใหญ่แล้ว อาคุณสนิทเป็นใหญ่แล้ว"

คุณโชติแอบไปได้ยินเข้าก็เลยให้ฉายาว่า "คุณม้าลาย" ตลอดมา แต่ก็ล้อได้เฉพาะคุณโชติเท่านั้น คนอื่นผมยังไม่เห็นใครไปล้อได้เลย สำหรับคุณโชติแล้วเรื่องตั้งฉายาคนแล้วเป็นวาจาอันศักดิ์สิทธิ์นัก ครั้งหนึ่งที่หนังสือพิมพ์นิกรช่างภาพคนหนึ่งหน้ายิ้มอยู่เป็นนิจ คุณโชติตั้งฉายาให้ว่านายยิ้มเกินตัว ตั้งแต่นั้นมาคนในโรงพิมพ์ก็เรียกตามกันหมด และที่ "นิกร" มีมหาอยู่คนหนึ่งไปทำป้ำๆ เป๋อๆ อะไรเข้าไม่ทราบถูกคุณโชติถอดยศลงเป็นเณร คนทั้งโรงพิมพ์ก็เรียกกันเณรตลอดไปทั่วทั้งโรงพิมพ์ แต่ความมีอัจฉริยะของคุณโชติตั้งดูจะเป็นหมันไป

คุณหอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา นักหนังสือพิมพ์ชั้นราชาของเมืองไทยเคยกล่าวกับผมว่า บรรณาธิการที่ดีก็ ควรจะต้องเป็นนักข่าวมาก่อน สำหรับคุณมาลัย โดยมากก็เป็นบรรณาธิการ หรือไม่ก็ผู้ช่วยบรรณาธิการ ถ้าหากว่าคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นบรรณาธิการ ผมยังไม่เคยได้ยินหรือได้เห็นเลยว่าคุณมาลัยเป็นนักข่าวมาก่อน แต่ถึงบทที่ท่านจะสวมวิญญาณของนักข่าว คุณมาลัยก็ขึ้นถึงสุดยอดเลย คือการเดินทางไปที่จังหวัดสุพรรณบุรี สัมภาษณ์เสือฝ้าย ซึ่งเป็นข่าวใหญ่อยู่ในเวลานั้น ขุนโจรฝ้ายหรือผู้ใหญ่ฝ้ายเป็นขุนโจรอิทธิพลเพียงไรในเวลานั้น ถ้าอายุไม่น้อยไปสักหน่อยก็คงจะทราบกันดีอยู่แล้ว การไปสัมภาษณ์เสือฝ้ายก็ไปกับสมบุญ ณ ฤกษ์ ช่างภาพร่างอ้วนเพียงสองคนด้วยกันเท่านั้น

สมบุญ ณ ฤกษ์ ผู้นี้เป็นช่างภาพที่ตลกพอใช้ ครั้งหนึ่งจอมพลแปลกถูกนายพุ่ม ทับสายทอง ยิงที่สนามหลวง สมบุญของเราได้ภาพอย่างแจ๋วทีเดียวเพราะใกล้ชิดกับเหตุการณ์ เขารีบกระหืดกระหอบเผ่นกลับโรงพิมพ์รวดเร็วราวกับลมเพชรหึง แต่พอมาถึงโรงพิมพ์และออกมาจากห้องมืด หน้าของเขาซีดเหมือนไก่ต้ม เขาลืมชักสไลด์ออก ตกก็ว่าไม่ได้ภาพเลย ก่อนจากโรงพิมพ์ก็ไม่ได้พูดอะไรมากนอกจากบอกว่าเห็นจะต้องไปพบกับตาฝ้ายเสียสักหน่อย ใครๆก็คิดว่าพูดเล่นกันทั้งนั้น แต่คุณมาลัยไปจริงๆ ถ่ายได้ภาพชุดเสือฝ้ายเขาเขียว เขาใหญ่มาพร้อมมูล ทั้งนี้โดยความอนุเคราะห์ของข้าหลวงประจำจังหวัดสุพรรณบุรีในสมัยนั้นกับพันตำรวจเล็ก กำเนิดงาม ซึ่งใช้เสือฝ้ายเพื่อเอาตัวเสืออื่นมาสู่เงื้อมมือของกฎหมาย นี่ก็แสดงว่าคุณมาลัยมีวิญญาณและเลือดเนื้อของหนังสือพิมพ์โดยแท้จริง หาได้เป็นแต่นักประพันธ์เท่านั้นไม่

เมื่อกลับมาถึงโรงพิมพ์ คุณมาลัยก็ไม่เห็นว่าจะพูดอะไรมาก พูดออกมานิดเดียวแต่เพียงว่า เสือฝ้ายไม่มีลักษณะที่จะเป็นขุนโจรอย่างไรเลย ถ้าจะมีก็มีอย่างเดียวเท่านั้นคือนัยน์ตา นัยน์ตาเสือฝ้ายคมเหมือนปลายเข็ม คุณมาลัยเขียนเสียหลายวันกว่าจะจบ เขียนให้คุ้มกับที่ได้ลงทุนรอนไปสัมภาษณ์อ้ายเสือหรือขุนโจรมาทั้งที นิสัยคุณมาลัยนอกจากจะสุภาพอ่อนโยนพูดช้าๆ และไพเราะในน้ำเสียงแล้ว การแสดงความเมตตากรุณาต่อผู้น้อยก็ได้ทำให้พวกเราที่ได้ร่วมทำงานกันอยู่ตัวยอดที่จะหัวเราะไม่ได้

ครั้งหนึ่งช่างเรียงพิมพ์หนุ่มน้อยคนหนึ่งเรียงพิมพ์เรื่องของคุณมาลัยผิดอย่างสาหัสสากรรจ์ ทีเดียว เรื่องเรียงพิมพ์ผิดอย่างร้ายกาจนี้ ถึงแก่คุณ ร.จันทพิมพะได้เคยร้องไห้มาแล้ว คุณมาลัยตรวจบรู๊ฟเองก็แก้ลงไปแล้วอย่างเรียบร้อย แต่พอหนังสือขึ้นแท่นพิมพ์ออกมาเสร็จสรรพ ก็ปรากฏว่าช่างเรียงหน้ามนคนนั้นไม่ได้แก้ให้เลย คุณมาลัยโกรธแค้นมาก แต่อย่างโกรธที่สุดก็จะพูดแต่เพียงว่า

"อะไรโตๆ ด้วยกันแล้ว ทำไมทำงานกันอย่างนี้" ซึ่งประโยคนี้คุณมาลัยใช้เป็นประจำทีเดียว "เห็นจะต้องลงโทษกันเสียบ้างแล้ว ขืนปล่อย ต่อไปก็จะสะเพร่าอย่างนี้อีก"

ครั้นแล้วคุณมาลัยก็สั่งการไปทางกองจัดการโดยเด็ดขาด ให้ตัดเงินเดือนช่างเรียงผู้นั้นเป็นเงิน ๔ บาท อันว่าเงินสมัยนั้น ๔ บาทก็ใช่เล่นเสียเมื่อไหร่ ก๋วยเตี๋ยวชามละ ๕ สตางค์ และโอยัวะ แก้วละ ๓ สตางค์เท่านั้น เรื่องก็เป็นอันว่าคุณมาลัยได้ลงโทษผู้กระทำผิดตามสมควรแก่โทษานุโทษ

ทีนี้ในเวลาบ่าย ๔ โมงเย็น คุณกุหลาบและคุณมาลัยตลอดจนพวกเราทั้งหมด ก็มักจะมานั่งหย่อนอกหน่อยใจกันที่ร้านสี่แยกบางขุนพรหม ถ้าใหญ่หน่อยก็ไปร้านแม่เจ๊ที่เทเวศร์ ดื่มเหล้ากันเบาะๆ กับแกล้มและของว่างพอบางๆ ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปคนละทิศละทาง มันก็เห็นจะเป็นเรื่องบังเอิญอีกน่ะแหละ พอดีพ่อช่างเรียงหน้ามนคนนั้นก็เดินผ่านหน้าร้านมาพอดี และคุณมาลัยก็เผอิญเหลือบไปเห็นเข้าเสียด้วย

"มานี่แน่ะ!" คุณมาลัยพูดลากๆ ตามนิสัย ช่างเรียงเดินเข้ามาและยืนหลังโค้งอยู่ตรงหน้า "ไง! เขาตัดเงินเดือนเราแล้วซีนะ"

"ตัด ๔ บาทครับ" ช่างเรียงพูดเสียงปกติ

คุณมาลัยรีบล้วงซองธนบัตรออกมาจากกระเป๋า หยิบธนบัตรฉบับละ ๑๐ บาทออกมา แล้วก็ยื่นไปให้

"เอ้า เอาไปใช้ โตแล้วนี่นะ ทำงานอย่าสะเพร่าซี"

ใครจะเห็นขันหรือไม่ก็ตาม แต่พวกที่เห็นขันก็หัวเราะเบาๆ กันเสียจนตัวงอนี่ก็แสดงว่าคุณมาลัยมีความเมตตากรุณาเพียงใด

ปี พ.ศ.๒๔๘๕ เกิดอุทกภัยน้ำท่วมบ้านเมืองเป็นการใหญ่กว่าทุกครั้งที่ได้เคยมีมาในรอบศตวรรษ ทีแรกรถราก็ยังพอแล่นกันได้ คนยังเดินบุกน้ำมาทำงานกันได้ แต่ต่อมาอีก ระดับน้ำมันสูงขึ้นมาถึงหัวเข่า เลยหัวเข่าจนบางแห่งถึงบั้นเอว ก็สุดที่จะเดินท่องน้ำมาทำงานกันได้ ก็ต้องใช้เรือเป็นพาหนะกันอยู่ทั่วไป ทั้งเรือบดเรือพายเรือจ้างเข้ามาแล่นเอ้อระเหยกันอยู่ตามถนนระยะนี้คุณมาลัยลางานไป ๒-๓ วันไม่มาทำงาน ครั้นวันหนึ่ง ผมโผล่หน้าต่างเยี่ยมหน้าออกไปดูเรือที่สัญจรไปมาตามท้องถนน จากสี่แยกบางขุนพรหมไปตามทางถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ ผมก็แลเห็นคุณมาลัยกำลังพายเรือเหยิบมาทีเดียวพร้อมด้วยกระเป๋าเอกสารวางไว้ข้างหน้า

ผมเลยเรียกพรรคพวกให้มาดูเรือคุณมาลัย คนที่วิ่งออกมาดูก็หัวเราะกันครืนไปทีเดียวรูปร่างมันกว้างแต่สั้นม่อต้อ ดูๆ ก็เหมือนเรือลำเอียงพอขึ้นบกหรือไม่ก็เหมือนรองเท้างิ้วที่ทำไว้สำหรับกงเต็ก คุณมาลัยกว่าจะพายมาถึงโรงพิมพ์ได้ก็เหงื่อกาฬแตก เพราะหัวมันทู่เหลือเกิน เมื่อขึ้นมาบนโรงพิมพ์แล้วคุณมาลัยก็ยังอวดเสียอีกว่าท่านเป็นโรบินสัน ครูโซ เสียวันเต็มๆ กว่าจะต่อเรือได้เสร็จ มันมาช้าก็อีตอนยาเรือนี่แหละ กว่ามันจะแห้งและเอาลงน้ำได้ ในเรื่องช่างคุณมาลัย ถนัดนัก บ้านช่องที่ถนนราชวิถี ถ้าไม่จำเป็นก็จะไม่ยอมใช้ช่างไม้เลย ลงมือเลื่อยไม้ไสกบและต่อเอาเองทั้งสิ้น

ครั้งหนึ่งเมื่อลูกระเบิดลงหนักชนิดเทกระจาด คุณมาลัยอพยพหลบหนีไปอยู่ในคลองแสนแสบ คุณมาลัยก็ปลูกบ้านพักเอาเองด้วยตัวเองคนเดียวจนกระทั่งเสร็จเรียบร้อยเข้าอาศัยอยู่ได้เป็นอย่างดี ฝ่ายคุณกุหลาบไปเห็นบ้านอพยพของคุณมาลัยในคลองแสนแสบเข้าก็ชอบใจ คุณมาลัยอีกนั่นแหละแสดงตนเป็นนายสถาปนิกสร้างบ้านให้คุณกุหลาบอีกหลังหนึ่ง โดยลงมือเลื่อยไม้ไสกบเองเหมือนกัน เมื่อมีคนไปถามคุณมาลัยว่าเหนื่อยไหม? คุณมาลัยยิ้มน้อยๆ แล้วก็สั่นหน้าออกมาอย่างช้าๆ และลากเสียงตามเคยว่า

"แย่จริง-ให้เราปลูกบ้านให้ด้วยแล้วยังจะต้องแถมออกค่าตะปูไปเสียอีกด้วย" แล้วคุณมาลัยก็หัวเราะอย่างอารมณ์ดีเป็นทำนองตลกเข้าไป เวลานั้นตะปูไม่ใช่กิโลละ ๙-๑๐ บาทเหมือนอย่างในเวลานี้ หายากที่สุด แพงที่สุด และไม่มีขายในท้องตลาดเสียอีกด้วย

อีกครั้งหนึ่งที่ผมจะเว้นมิได้ที่จะเล่าไว้ เรื่องนี้เป็นเรื่องผจญภัยที่ล่อแหลมครั้งหนึ่งของคุณมาลัย คือคุณมาลัยถูกจี้ในขณะที่นั่งรถไปในรถสามล้อ คุณมาลัยตกใจมากแต่ก็คุมสติไว้ได้มั่นคงทั้งๆ ที่มีดปลายแหลมเล่มเบ้อเร่อจ่ออยู่ที่คอหอย คุณมาลัยจะกลับจากดูหนังหรือกลับจากสนามมวยเวทีราชดำเนินผมลืมไปเสียแล้ว นั่งรถสามล้อถีบไปตามถนนราชดำเนินจนถึงพระบรมรูปทรงม้า แล้วเลี้ยวเข้าหลังพระที่นั่งอนันตสมาคม ตอนที่รถกำลังเลี้ยวครึ่งวงกลมตามรั้วพระที่นั่งอนันต์นั่นเอง คนร้ายก็จู่โจมเข้ามาบังคับรถให้หยุด

ถึงคราวแล้วที่คุณมาลัยจะไปมัวพูดช้าๆ อยู่ไม่ได้ แต่คุณมาลัยคงยังพูดด้วยเสียงเป็นปกติอยู่นั่นเอง อธิบายให้คนจี้ฟังว่า รู้สึกเห็นใจผู้จี้เป็นอย่างมากที่ทำไปดังนี้ก็ด้วยความยากจน เพราะเวลานี้เป็นเวลาสงคราม คราวจนย่อมจะไม่ยอมลดราวาศอกให้แก่ใครๆ ตัวคุณมาลัยเองก็มิใช่ว่าจะร่ำรวยอยู่เมื่อไร ไม่ได้เป็นเศรษฐีสงคราม เลี้ยวมุมตึกนิด หรือยกหูโทรศัพท์กริ๋งเดียวก็ได้กำไรกันเป็นหมื่นเป็นแสน คุณมาลัยทำงานหนังสือพิมพ์เป็นปากเป็นเสียงให้แก่คนจน เราหัวอกอันเดียวกันอย่าทำกันเลย พวกเราไม่มีเงินหรอก มีก็พอกินไปวันๆ หมดแล้วก็หาใหม่ไปเท่านั้น

เมื่อคุณมาลัยเล่ามาถึงตอนนี้ พวกที่โรงพิมพ์คนหนึ่งก็ถามว่า
"แล้วคุณมาลัยให้อะไรมันไปบ้างครับ?"
"ผมล้วงมือลงไปในกระเป๋ากางเกง" คุณมาลัยเล่าทั้งๆ ที่ปากคาบบุหรี่ "แกไม่ยอมให้ล้วง แกคิดว่าผมจะควักเอาปืนออกมา ผมก็บอกว่าอ้ายผมน่ะไม่มีปืนกับเขาหรอก ถ้ามีก็คงจะขายไปเสียนานแล้ว แกยอมให้ผมก็ควักเอาบุหรี่ออกมาสองซองแบ่งให้แกซองหนึ่ง ผมเอาไว้ซองหนึ่ง แล้วผมก็บอกให้สามล้อขี่ต่อไป ก็ไม่เห็นแกว่ากระไร"

อภินิหารของการพูดเนิบๆ ของคุณมาลัยก็ทำให้คนร้ายเกิดเมตตาสงสารขึ้นมาได้บ้างเหมือนกัน จี้คุณมาลัยทั้งที่ได้ไปแต่บุหรี่ไพแร็ตซองเดียวเท่านั้น!

มิตรที่ดีนั้นก็ย่อมไม่ทิ้งกันในยามยาก เหมือนภรรยาที่ดีจะเห็นได้ในเมื่อผัวเจ็บป่วยได้ไข้ คุณมาลัยเป็นมิตรที่ดีของเพื่อนในยามยาก เหมือนภรรยาที่ดีจะเห็นได้ในเมื่อนิสัยของคุณมาลัยในข้อนี้เด่นชัดขึ้นก็ คือว่า ครั้งหนึ่งตำรวจสันติบาลได้มาล้อมโรงพิมพ์ (ประชามิตร) เวลานั้นยังเช้าอยู่ ผมเองก็เกิดเป็นคนขยันขึ้นมาไปทำงานแต่เช้า เลยถูกกักตัวอยู่ในโรงพิมพ์ด้วย พวกที่มาทำงานทีหลังก็เลยไม่เข้าโรงพิมพ์ ไปคอยกันอยู่ในร้านกาแฟที่สี่แยก เจ้าหน้าที่ไปตรวจค้นเอกสารในโรงพิมพ์ทั้งหมด โดยเฉพาะในห้องคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ คุณกุหลาบสั่งให้ผมไปคอยดูในเวลาค้น ถ้าเห็นตำรวจเอาเอกสารอะไรใส่ลงไปให้ผมจัดการคัดค้านหรือเอะอะขึ้น ผมก็ตามตำรวจไปทุกย่างก้าว คอยสังเกตการณ์ดูว่าจะใส่อะไรเข้าไปบ้างหรือเปล่า เป็นอันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจค้นอะไรอันจะเป็นหลักฐานในทางการเมืองไม่ได้เลย แต่คุณกุหลาบถูกนำตัวไปขังไว้ที่สถานีตำรวจพระราชวัง

เวลานั้นคุณมาลัยหายไป ๒-๓ วัน ไม่รู้ว่าไปไหน หลายคนก็ได้แต่รำพึงคะนึงกันอยู่แต่ในใจว่า คุณมาลัยอาจกลัวเป็นปลาติดหลังแหไปด้วยก็ได้ บ้างก็ว่าคุณมาลัยอาจกำลังวิ่งเต้นช่วยเหลือคุณกุหลาบก็ได้ ประการแรกอาจผิดแต่ประการหลังถูกอย่างไม่มีปัญหาเลย คุณมาลัยไปวิ่งเต้นช่วยเหลือคุณกุหลาบจริงๆ พวกเราไม่รู้กันว่า แต่ปางหลังครั้งจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ยังเป็นทหารร้อยโททหารปืนใหญ่อยู่นั้น เคยเช่าบ้านอยู่ในแพร่สรรพศาสตร์ ซึ่งเผอิญเหลือเกินที่คุณมาลัยก็เช่าบ้านอยู่ในแพร่งนั้นด้วย คุณมาลัยจึงชอบพอกับท่านผู้หญิงละเอียดแต่ครั้งยังเป็นคุณนายอยู่เป็นอันดี แต่ต่อมาเมื่อคุณนายละเอียดมีฐานะอันสูงส่งเป็นสตรีหมายเลข ๑ ของประเทศไทย คุณมาลัยก็ไม่เคยได้เข้าไปยุ่งหรือสุงสิงด้วยเลย คราวนี้คุณมาลัยต้องเข้าไปหา เทียวไปพบอยู่หลายวัน ในที่สุดก็ได้พบ ท่านผู้หญิงละเอียดจึงรับปากว่าจะช่วยเหลือ แต่ขอให้รอไปก่อนสัก ๒-๓ วัน

วันนั้นบ่ายแล้ว คุณมาลัยมาที่สำนักงานแล้วสั่งผมให้ไปเยี่ยมคุณกุหลาบ ซึ่งผมก็ได้ไปเยี่ยมอยู่แล้วทุกๆวัน บอกให้ผมไปบอกคุณกุหลาบว่าไม่ต้องตกใจได้เข้าไปพบท่านผู้หญิงละเอียดมาแล้ว ขอให้รอไปอีกสัก ๒-๓ วัน

ผมไปถึง ส.น.พระราชวัง ก็ได้เห็นคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ กำลังร้องให้อยู่ในห้องขัง ไม่ใช่ร้องไห้เพราะทนความลำบากตรากตรำไม่ไหว หรือไม่อาจทนทานต่อความข่มขื่นในที่คุมขังได้ คุณกุหลาบร้องไห้เพราะสมผล (เดี๋ยวนี้เป็นบรรณาธิการหนังสือหมัดๆ มวยๆ) ซึ่งทำงานในโรงพิมพ์ อุตส่าห์เอาลูกเงาะไปเยี่ยมด้วยความรักใคร่นับถือ แต่ตำรวจไม่อนุญาตให้นำลูกเงาะเข้าไปในห้องขัง เกรงจะมีของร้ายซุกซ่อนอยู่ เป็นต้นว่าเอกสารหรือยาพิษ

เมื่อผมไปถึง ผมก็พูดกับคุณกุหลาบ พูดได้ ๓ คำก็ถูกห้าม
"จะพูดกับผู้ต้องขังไม่ได้ ถ้าจะพูดก็ต้องพูดดังๆ ให้ตำรวจได้ยินด้วย"
ผมก็เลยพูดดังๆ พอที่จะได้ยินได้ทุกคนภายในห้องโถงนั้น
"คุณกุหลาบครับ คุณมาลัยให้มาบอกว่าไม่ต้องตกใจ คุณมาลัยได้ไปพบท่านผู้หญิงละเอียดมาแล้ว ท่านรับปากว่าจะช่วย แต่ขอให้ทนเอาอีกสัก ๒-๓ วัน--"

ผลแห่งการพูดดังๆ ของผมก็ทำให้คุณกุหลาบค่อยหายใจหายคอคล่องขึ้น เพราะว่าอิทธิพล ในคำว่าท่านผู้หญิงแต่เพียงคำเดียวเท่านั้น ซึ่งมันอาจแผ่ขยายเข้าไปได้จนถึงรูหนู และซอกเล็กมุมน้อยทุกแห่งหนไป เพราะท่านเป็นศรีภริยาของผู้นำ ครั้นแล้วคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้รับเสรีภาพอิสรภาพ หลุดออกมาจากห้องขังได้อีกครั้งหนึ่ง

ในทางดนตรี คุณมาลัยถนัดดนตรีไทย เครื่องมือที่ถนัดที่สุดคือซออู้ รองลงมาก็คือไวโอลิน ดังนั้นเมื่อเวลาบรรยายถึงเสียงดนตรีจึงทำได้ถนัดมาก จนกระทั่งเมื่อพระเอกสีซอ ใบไม้ถึงกับพลิกใบของมันเป็นต้น ในเรื่องหมัดๆ มวยๆ ก็โปรดปรานมาก แต่จะได้ขึ้นชกมวยนักเรียนหรือเปล่าไม่ปรากฏ เคยตั้งฉายานักมวยไว้มากต่อมากเช่นกัน ฉายาของถวัลย์ วงเทเวศร์ว่าอ้ายตื้อ ตั้งฉายา ประยุทธ อุดมศักดิ์ว่าสุภาพบุรุษประยุทธ ตั้งฉายาศุขว่ายักษ์สุข คนเขียนกีฬามวยก็ได้อาศัยใช้ตามอยู่เสมอ

ครั้งหนึ่งคุณมาลัยเดินออกมาหาผม
"คุณมาน้าด-ผมอยากได้รายงานจีฉ่างชกกับยัง หาญทะเล ช่วยไปค้นให้สักที"
ผมรีบจับรถบึ่งไปหอสมุด ขอเจ้าหน้าที่ดูหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ พ.ศ. ๖๓-๖๔ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าจะเป็นปีไหน ? จีฉ่างคนนี้เป็นนักมวยจีน ก่อนชกก็เล่าลือกันนักว่าใช้นิ้ว ๒ นิ้วเป็นอาวุธ สามารถที่จะใช้นิ้วคู่นั้นเลียะแผ่นอิฐที่วางซ้อนกัน ๕-๖ แผ่นแตกหมด เมื่อผมค้นพบข่าวมวยนั้น เข้าแล้ว ก็เห็นว่าจีฉ่างชกกับยังหาญทะเลไม่ถึงยก ยังหาญทะเลก็แตะเอาจีฉ่างลงไปนอนกองอยู่กับ ผืนผ้าใบนับเท่าไรไม่ลุก ผมลอกถ้อยคำทุกตัวอักษรเอามาให้คุณมาลัย คุณมาลัยเขียนข้อความตามที่ผมคัดเอามาไม่ถึงครึ่งคอลัมน์นั่นเองเสียเป็นวรรคเป็นเวรหลายฉบับติดต่อกันจนหระทั่งจบลง

ผมได้ทำงานกับท่านอย่างผู้น้อย ๒-๓ ปีเท่านั้น ก็ไม่เห็นว่าชีวิตคุณมาลัยด่างพร้อยแต่อย่างใด คุณมาลัยเคยหันเหชีวิตไปในทางกสิกรออกไปทำสวนมะพร้าวที่พนังตักจังหวัดชุมพร แต่แล้ว ก็ต้องหันกลับมาสู่หนังสือพิมพ์อีกพาชีวิตขึ้นไปสูงส่งแล้วก็ดับวูบลงไปอย่างไม่ได้นึกฝัน สิ่งที่ผม เศร้าใจก็คือคุณมาลัยไม่รู้เลยว่าตัวนั้นเป็นโรคมะเร็งที่ปอด หมอกับญาติพี่น้องเท่านั้นที่รู้ สำหรับคุณมาลัย คงคิดแต่ว่าตัวท่านเองเป็นไข้หวัดมาจากเชียงใหม่

ผมเองเคยถูกคุณมาลัยสัพยอกหลายครั้ง ครั้งหนึ่งว่าผมอดเหล้า แต่พอเมียเผลอผมเข้าไปกินน้ำหอม อีกครั้งหนึ่งผมเอากล้วยไม้ไปให้ ๑๒ กระเช้า คุณมาลัยก็ล้อในคอลัมน์ของท่านว่า ผมเลี้ยงกล้วยไม้โดยใช้ใบกระท่อมเป็นปุ๋ยดังนี้เป็นต้น

ครั้งหนึ่งคุณมาลัยถูกล้อจากนักเขียนอ่อนอาวุโสกว่า คุณมาลัยกลับยิ้มแล้วตอบว่า

"คนอ่านเขารู้ครับ! ว่าอะไรจริงหรือไม่จริง ผลที่สุดเขานั่นแหละจะแย่เพราะไม่รู้อะไรจริงแล้วเขียนลงไป--" อย่างโกรธของคุณมาลัยก็มีอยู่แค่นี้เอง

ผมขอให้คุณมาลัยจงไปเป็นสุขในภพที่เราไม่อาจแลเห็นได้ด้วยสายตา นอกจากความคิดและคำนึงถึง

มนัส จรรยงค์