“ผมเป็นคนไม่มีแม่ และนี่เป็นแบบของแม่ที่ผมนึกวาดภาพของผม” คุณครูมาลัย ชูพินิจ พูดประโยคนี้ เมื่อคืนวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๐๖ ในระหว่างการซ้อมละครเรื่อง “ฝันร้าย” ของมูลนิธิราชประชาสมาสัยฯ ที่บ้านคุณหญิงอุศนา ปราโมช ซอยเอกมัย

ละครเรื่องนี้ คณะอนุกรรมการเผยแพร่กิจการของมูลนิธิราชประชาสมาสัย  ซึ่งคุณครูมาลัยเป็นกรรมการอยู่ด้วยผู้หนึ่ง  ได้จัดขึ้นเพื่อแสดงทางโทรทัศน์ในวันที่ ๑๕ เดือนเดียวกันนั้น โดยคุณครูมาลัยเองเป็นผู้ประพันธ์บทจากเค้าโครงเรื่องของคุณหญิงอุศนา ประธานคณะกรรมการชุดนี้

ดิฉันไม่ได้ประหลาดใจเลย เมื่อได้รับทราบว่าจะต้องรับบทเป็น “แม่” เพราะดูจะเป็นบทที่ถนัดแสดงทั้งบนเวทีและในชีวิตจริง ดิฉันดีใจเสียด้วยซ้ำเมื่อได้ทราบว่า เป็นบทประพันธ์ของคุณครูมาลัย  แต่สิ่งที่ทำให้ดิฉันไม่มีวันลืมละครเรื่องนี้ได้ ก็คือโอกาสที่จะได้รู้ถึงความรู้สึกที่แท้จริงของ “แม่” ตลอดระยะเวลาประมาณ ๑ สัปดาห์ที่เราซ้อมละครเรื่องนั้น ดิฉันได้มีประสบการณ์ที่แปลกที่สุด คือรู้สึกเหมือนไม่ได้เป็นตนเอง หากเป็น “ปัทมา” ผู้แม่ในเรื่อง “ฝันร้าย” นั้นอยู่ตลอดเวลา

ก็ทำไมจะไม่เป็นเช่นนั้น ในเมื่อช่างเป็นความบังเอิญอะไรเช่นนั้น ที่คุณครูมาลัยมีเจตจำนงจะให้ชิวิตแก่บทของ “แม่” เพราะคุณครูต้องการจะได้เป็นแบบของแม่ ซึ่ตัวคุณครูเองไม่เคยได้มีโอกาสรู้จัก ! และก็ช่างเป็นความบังเอิญเช่นเดียวกันที่คุณอมเรศ ศิลาอ่อน ผู้แสดงเป็นตัวลูกชาย
ก็ไม่เคยรู้จักแม่ของเธอเองเลย  เพราะท่านจากไปตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ เธอจึงแสดงบทนี้ได้อย่างจริงใจเสียเหลือเกิน !

สำหรับตัวดิฉันเองนั้นตรงกันข้าม ความบังเอิญอยู่ตรงที่ว่าดิฉันเพิ่งรู้จักความเป็นแม่คนมาได้เพียงครึ่งเดียว  บุตรชายคนโตของดิฉันเพิ่งจะย่างเข้าสู่วัยหนุ่ม ครั้งแล้วครั้งเล่า ดิฉันเคยมองดูเขาพร้อมกับนึกถามตัวเองว่าอนาคตแห่งความเป็นแม่เขานี้ จะมีความชื่นชมสมใจหรือความผิดหวังขมขื่นประการไฉนรอคอยอยู่บ้านหนอ  บทบาท “แม่” ในเรื่อง “ฝันร้าย” มาเป็นเสมือนคำตอบ !

“แม่” ของคุณครูมาลัย คือ “ปัทมา” ที่คืนวันสิ้นปีไม่ได้นอนแต่หัวค่ำ แต่เมื่อลูกชายกลับมา
ถามว่าทำอะไรอยู่ ตอบว่า “แม่จัดดอกไม้ธูปเทียน สำหรับจะใส่บาตรอยู่” ซึ่งอันที่จริง ถ้าลูกจะคิดให้ซึ้งอีกสักนิด ก็คงจะได้รู้สึกถึงความเป็นห่วงใยและความรัก

และเมื่อลูกมีทุกข์ “แม่” ผู้นี้ก็มีความเข้าใจ และพร้อมที่จะร่วมรู้ร่วมกับทุกข์นั้น “เมื่อยังเล็กอยู่ เวลาขัดใจใครหรือไม่สบายใจ ลูกหันหน้าไปหาใครนอกจากแม่ เราเข้าใจกันดีไม่ใช่หรือลูกรัก
แม่รู้ดีว่าลูกมีความอดทนและไว้ตัวกลัวว่าจะหาทุกข์ไปสู่คนอื่น แต่นี่แม่นะ เราไม่ควรจะมีความลับระหว่างกันลูกรัก!” อันตัวลูกที่ “มีความอดทนและไว้ตัว กลัวว่าจะหาทุกข์ไปสู่คนอื่น” นั้นก็คงไม่ใช่ลูกคนอื่นใด นอกจากตัวผู้ประพันธ์เอง

และแม่ที่พร้อมที่จะร่วมทุกข์นั้นคือ “แม่” ที่คุณครูมาลัยวาดภาพไว้ด้วยคำเจรจาที่ย้ำความข้อนี้
                “ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับลูกที่จะทำให้แม่ตกใจได้…”
                “…อย่างน้อยที่สุด  ลูกก็ควรจะต้องเล่าให้แม่ฟัง...”
                สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักแม่ คุณครูมาลัยช่างทราบได้อย่างไรถึงความรู้สึกที่แม่มีต่อลูกได้ชัดเจนถึงอย่างที่เขียนไว้เป็นคำพูดของปัทมาที่บอกกับลุกชาย ซึ่งนำความทุกข์ความเดือดร้อนมาสู่ผู้เป็นแม่ เหมือนหนึ่งว่า ไม่รู้จักโตเสียสักทีปัทมาบอกว่า “ลูกเมื่อนอนเบาะหรือลูกเดี๋ยวนี้ก็เหมือนกันสำหรับแม่”

คุณครูมาลัยเคยหันหน้าเข้าหาเหล้าเหมือนกันในชีวิตของคุณครูเมื่อประสบปัญหา แต่ถ้าฟังถ้อยคำที่คุณครูเขียนให้ปัทมาผู้แม่พูด ใครได้ยินก็คงอดคิดไม่ได้ว่า ในยามเช่นนั้นคุณครูคงนึกปรารถนาให้มีแม่จริงมาบอกกับคุณครูว่า

“เวลาเผชิญปัญหาสำคัญของชีวิต จำไว้นะลูก คนเราต้องการความคิดที่แจ่มใส แม่ไม่คิดว่าเหล้าจะช่วยอะไรได้”

คุณครูมาลัยคงยังเคยนึกถึง “แม่” อีกมากมายหลายครั้งในชีวิต เพราะ “แม่” ของคุณครูช่างรู้จักชีวิตดีอะไรเช่นนั้น ปัทมาผู้เป็นแม่รู้ที่จะบอกลูกว่า

“ทุกปัญหามีทางออกทั้งนั้น ถ้าลูกพยายามพอ”…“ลูกต้องเผชิญกับความจริงข้อนี้ ตราบใดที่คนเรามีชีวิตอยู่ เราจะต้องเผชิญกับความจริงอย่างกล้าหาญ หันหลังให้มันเมื่อไร เราก็ไปไม่รอด”

และ... “แม่” ที่ทำให้เราผู้แสดง ดิฉันหมายถึงคุณอมเรศผู้แสดงเป็นลูกและตัวดิฉันเองผู้แสดงเป็นแม่...และทั้งผู้ชมอีกเท่าไร...และดิฉันอยากจะอาจหาญกล่าวว่าทั้งตัวคุณครูมาลัยเป็นผู้ประพันธ์เองนั้นอีกด้วย...ต้องน้ำตาไหลก็คือ “แม่” ผู้ที่พร้อมจะเดินทางที่มืดมนกับลูกทั้งๆ ที่ความหวังมีเพียงน้อยนิด เพื่อแต่เพียงจะให้ลูกนี้ไม่สิ้นหวัง “แม่” ผู้บอกว่า

“เชื่อแม่เถิดลูก คนตายไม่เคยเป็นประโยชน์แก่ใคร คนอยู่ซิถึงจะเป็น”
                และแม่ผู้กล้าพอที่จะบอกกับลูกว่า
                “ขอชีวิตใหม่ของลูกให้กับแม่เถิด”
                ดิฉันไม่ทราบว่า “แม่” ของคุณมาลัยในชีวิตจริง จะเป็นทุกอย่างที่คุณครูมาลัยใฝ่ฝันหรือเปล่า แต่ดิฉันแน่ใจยิ่งว่า หญิงใดที่มีวาสนาได้เป็นแม่คนอย่างคุณครูมาลัย ควรจะเป็นหญิงที่มีความสุขและความภาคภูมิยิ่งนักแล้ว

จินตนา ยศสุนทร
 
 

เมื่อประมาณ ๑๔-๑๕ ปีมาแล้ว ขณะนั้นข้าพเจ้าป่วยเกี่ยวกับโรคกระดูก  ซึ่งได้รับการทรมานเป็นอย่างยิ่ง ต้องใช้เวลาในการรักษาถึง ๕ ปี ๘ เดือน คนเราเมื่อนอนแกร่วอยู่เฉยๆ ก็รำคาญ
จิตใจก็ไม่สงบ หนังสือต่างๆ ก็อ่านจนไม่ทราบว่าจะอ่านอะไรต่อไปอีก และเมื่ออ่านมากๆ เข้าก็เกิดการอยากจะเขียนเองบ้าง เมื่อความรู้สึกอยากจะเขียนเองมีมากขึ้น  แม้ตนเองจะเดินเหินไปไหนมาไหนไม่ได้ก็ต้องพยายาม  ข้าพเจ้ายังจำได้ดีว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมของปี พ.ศ.๒๔๙๒ ข้าพเจ้าริเริ่มที่จะจัดทำหนังสือพิมพ์ (หนังสือเขียน) เพื่ออ่านกันเองในหมู่คนไข้ด้วยกัน และเพื่อแสดงความคิดเห็นและรับข้อคิดเห็น ตลอดจนเรื่องที่เพื่อนคนไข้ได้รับความเดือดร้อนมาแผ่ให้ทุกคนได้ทราบ
แต่ก็เกรงว่าเมื่อจัดทำขึ้นแล้ว บางสิ่งบางอย่างอาจจะไม่เป็นที่พอใจของคนบางคน และอาจเป็นผิดขึ้นได้ (กลัวผิดพระราชบัญญัติการพิมพ์)

ข้าพเจ้าจึงได้ติดต่อเรียนถาม และขอคำแนะนำ จากท่านอาจารย์มาลัย  ชูพินิจ ทั้งๆ ที่ไม่เคย
รู้จักท่านเป็นส่วนตัวมาก่อนเลย แต่ท่านก็ได้ให้ความกรุณาแนะนำให้เป็นอย่างดี  นอกจากนั้นท่าน
ยังได้จัดส่งเครื่องเขียนและอุปกรณ์ต่างๆ เท่าที่ท่านเห็นว่าจำเป็นจะต้องใช้ไปให้ และรับบริจาคสิ่งของต่างๆ เหล่านั้นจากผู้มีเมตตาจิต โดยท่านเป็นสื่อกลาง พร้อมทั้งเขียนบทความให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในที่สุด ข้าพเจ้าก็สามารถจัดทำหนังสือ “อักษรสาสน์” ออกมาได้ตามที่ใจปรารถนา และได้จัดส่งมาให้ท่านอาจารย์ มาลัย ชูพินิจ เพื่อเป็นการคารวะในโอกาสนั้นด้วย

อาจารย์มาลัย  ชูพินิจ ในความรู้สึกของข้าพเจ้า ท่านเปรียบเสมือนนักบุญที่บูชาเสรีภาพ
ท่านให้การสนับสนุนและส่งเสริมทุกวิถีทาง ในเรื่องการที่บุคคลจะแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของเขาโดยชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรม ท่านเป็นนักประชาธิปไตยตัวอย่างที่น่ายกย่อง ไม่มีการเลือกชั้นวรรณะ ถือยศ ถือศักดิ์ ไม่ว่าข้อคิดเห็นนั้นจะเป็นของใครก็ตาม ท่านรับฟังเสมอ แม้ความคิดเห็นของข้าพเจ้า เมื่อ ๑๔ ปีก่อนโน้นจะเป็นเพียงความคิดเห็นของเด็กหนุ่มที่เป็นเพียงคนไข้ของโรงพยาบาล ซึ่งมีอาณาเขตของสังคมอยู่เพียงขอบรั้วก็ตาม ท่านเป็นนักเขียนที่เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ แบะท่านก็พยายามอย่างยิ่งที่จะถือปฏิบัติตามอุดมการณ์ที่ท่านได้ตั้งเอาไว้ ความรู้สึกนึกคิดของท่านมีอยู่อย่างไร  ท่านเขียนออกมาเป็นตัวหนังสือถ่ายทอดให้เราทราบ และท่านก็สามารถปฏิบัติตามข้อคิดที่ท่านเองได้เขียนไว้

หนังสือที่ท่านแต่งเกือบทุกเรื่อง เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าสนใจมากที่สุด แต่สิ่งสำคัญที่ข้าพเจ้ารักก็ได้แก่บทความในคอลัมน์ ป.ล. ในสยามสมัยรายสัปดาห์และสัปดาห์วิจารณ์ในพิมพ์ไทยวันอาทิตย์ บทความในคอลัมน์ทั้งสองเป็นเสมือนทิพย์ธาราที่คอยปลอบประโลมให้คนผิดหวังมีกำลังใจอันที่จะยืนหยัดต่อสู้กับโลกและชีวิตต่อไปอย่างนักสู้ผู้ไม่หวาดหวั่นต่ออุปสรรคใดๆ ในเกมชีวิต ชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดของอารมณ์ในวัยและสภาพการณ์ต่างๆ กัน และเน้นให้เห็นถึงอันตราย ผลได้ผลเสียที่จะได้หรือได้รับ ในการที่ใช้หรือหมกมุ่นกับอารมณ์นั้นๆ พร้อมกันก็พยายาม โน้มน้าวจิตใจให้มุ่งยึดถือปฏิบัติแต่ในสิ่งที่ควรปฏิบัติ แยกแยะให้เห็นสิ่งผิดถูก ดี และชั่ว อย่าง แจ่มแจ้ง

อาจารย์มาลัย ชูพินิจ ไม่เพียงแต่เป็นนักเขียน แต่ท่านยังเป็นนักปฏิบัติที่ดีอีกด้วย การที่คนเราจะพูดหรือจะเขียนอะไรนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ยากเย็นอะไรเกินไปนัก แต่การที่จะปฏิบัติให้เป็นไป ได้ตามคำพูดหรือข้อเขียนนั้นๆ ซิ เป็นสิ่งที่ยากเหลือหลาย และเมื่อใครคนนั้นสามารถทำได้ เขาก็ควรแก่การยกย่องบูชา

บางท่านอาจจะคิดว่า ข้อคิดในคอลัมน์ ป.ล. และสัปดาห์วิจารณ์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระ
เพราะเป็นเพียงประสบการณ์ของบุคคลหนึ่งเท่านั้น แต่คิดให้ลึกซึ้งจะเห็นว่าการเรียนโลกและชีวิต
นั้น เรามิได้เรียนจากตำรับตำรา แต่เราเรียนจากประสบการณ์ต่างๆ แม้ในเรื่องของสังคม ตำรับตำรา
ที่เกิดขึ้นก็อาศัยจากประสบการณ์ในอดีตนั่นเอง อาจารย์มาลัย ชูพินิจ ใช่ว่าจะเป็นคนที่เคร่งขรึม
ปราศจากอารมณ์ขัน ท่านมีอารมณ์ขันเหมือนเราๆ ท่านๆ เช่นกัน ไม่เพียงแต่ในชีวิตส่วนตัว แม้ในนวนิยายก็แสดงออก เช่นตัวละครในเรื่องล่องไพร หรือในแผ่นดินของเรา บางตอนท่านก็แทรก
อารมณ์ขันเอาไว้

การที่ข้าพเจ้ายกย่องอาจารย์มาลัย ชูพินิจว่าเปรียบเสมือนนักบุญผู้บูชา เสรีภาพ บางท่านอาจจะค้านอยู่เงียบๆ ว่า เหตุไฉนนักบุญจึงนิยมเกมกีฬาออกป่าล่าสัตว์ ข้าพเจ้าไม่ทราบวิธีการล่าสัตว์ของท่าน แต่คิดว่านั่นเป็นสมัยหนึ่ง เมื่อคนเราอยู่ในวัยฉกรรจ์ อารมณ์ก็มักจะโลดแล่นคึกคะนองไปตามเพลง แต่จาก “ล่องไพร” ข้าพเจ้าเห็นว่าท่านเป็นเพียงนักนิยมไพรผู้รักธรรมชาติเท่านั้น ไม่ใช่ผู้ทำลายธรรมชาติ

คุณธรรมความดีของอาจารย์มาลัย  ชูพินิจนั้น มีมากเกินกว่าที่ข้าพเจ้าจะพรรณนาออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรได้อย่างถี่ถ้วน  ทุกคนที่เคยรู้จักกับท่านย่อมตระหนักอยู่แก่ใจของตนเองดีอยู่แล้วข้าพเจ้ามิได้พูดแบบ “คนตายแล้วดีหมด” แต่ข้าพเจ้าพูดจากความจริงใจและด้วยจริงใจ หลักฐานนี้จะพิสูจน์ได้จากผลงานของท่านที่เหลืออยู่ให้เป็นสมบัติของคนรุ่นหลัง ท่านได้จากเราไปแล้วแต่คุณธรรมความดีที่ท่านได้สร้างสรรค์ไว้มิได้สูญสลายไปด้วย เดชะพระบารมีคุณพระศรีรัตนตรัย กุศลใดที่ข้าพเจ้าเคยสร้าง ขอกุศลกรรมนั้นจงช่วยส่งผลให้วิญญาณอันบริสุทธิ์ของอาจารย์มาลัย ชูพินิจ จงสู่สุคติในสัมปรายภพนั้นด้วยเทอญ

อารมณ์ พุ่มพฤกษ์
 
 

ผมพบคุณมาลัย  ชูพินิจ ครั้งสุดท้ายในงานฌาปนกิจศพมิตรผู้หนึ่ง ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม ทักทายกันตามอัธยาศัย  ประโยคสุดท้ายที่คุณมาลัยกล่าวกับผมก็คือ
“อาจารย์มีอะไรให้ผมช่วยได้ บอกนะครับ ไม่ต้องเกรงใจ”
ซึ่งผมเข้าใจดี  คุณมาลัยหมายถึงงานส่งเสริมในด้านกล้วยไม้ แล้วคุณมาลัยก็กล่าวออกตัวว่า
“ผมไม่ใช่นักวิชาการหรอกครับ แต่ผมรักกล้วยไม้มาก”
ผมรู้สึกว่า คำพูดทุกประโยคมีความหมายซึ่งน่าชื่นชม

คุณมาลัยรักกล้วยไม้ ไม่ใช่รักกล้วยไม้ของตนเอง แต่รักกล้วยไม้ทั่วๆไปประจักษ์พยานก็คือ ได้ทุ่มเทเวลาส่วนตัวเพื่อส่งเสริมสนับสนุนวงการกล้วยไม้อย่างไม่เห็นเพื่อนนักกล้วยไม้อื่นๆ
มีกล้วยไม้สวยๆ เลี้ยงกล้วยไม้งามๆ และนั่นคือความสุขอย่างหนึ่งของคุณมาลัย นามปากกา “ลดารักษ์” ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือกล้วยไม้ภาษาไทยหลายเล่มจนเป็นที่รู้จักกันดีในวงการนักเล่นกล้วยไม้ของไทย ก็เป็นหลักฐานที่แน่นแฟ้นอันหนึ่งซึ่งแสดงว่า คุณมาลัย ชูพินิจ ได้เคยสร้างวงการกล้วยไม้ของไทยด้วยความอดทนและวิริยะอุตสาหะ แม้ระยะหลังๆ คุณมาลัยได้มีธุระจำเป็นอย่างอื่นๆ เข้ามาแบ่งแยกเวลาไปก็ตาม แต่ก็ไม่ลืมที่จะสังเกตและให้การสนับสนุนผู้ที่ทำงานด้านนี้ ดังจะเห็นได้จากหนังสือ “ดอกไม้” ซึ่งคุณมาลัยได้เป็นผู้ปลุกปล้ำก่อร่างสร้างขึ้น และทิ้งมรดก
ไว้ให้แก่ชนรุ่นหลังๆ ต่อไป แม้รายได้ของหนังสือเล่มนี้จะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย แต่หนังสือเล่มนี้ก็มิได้หยุดยั้ง เนื่องจากประโยชน์หลายประการที่ประชาชนได้รับ หนังสือ “กล้วยไม้” ปกแข็งเล่มหนึ่งที่มีปรากฏอยู่ในตู้หนังสือของนักเล่นกล้วยไม้หลายท่านปรากฏนามปากกาผู้เรียบเรียงว่า
“ลดารักษ์”

บางท่านอาจจะคิดว่าผมคงจะสนิทสนมกับคุณมาลัยมาก จึงได้นำเอาเรื่องราวของคุณมาลัย
มาลงในที่นี้ ความจริง ผมไม่ได้รู้จักคุ้นเคยกับคุณมาลัยมากไปกว่ารู้จักนามปากกา “ลดารักษ์” ที่นักกล้วยไม้ทั่วๆ ไปเคยรู้จัก แต่จากผลงานที่คุณมาลัยสร้างไว้ ไม่ว่าจะมีความหมายทางวิชาการมากน้อยเพียงใด แต่เป็นสิ่งที่แสดงออกและมีความหมายอย่างสำคัญทางด้านจิตใจเพื่อส่วนรวม อันเป็น
การสมควรแก่การสรรเสริญและจดจำ ผมได้มีโอกาสพบกับคุณมาลัยเพียงไม่กี่ครั้ง และมีอะไรๆ
หลายอย่างจากการคุยกันแสดงออกว่าเป็นผู้ที่หวังดีแก่วงการกล้วยไม้ของเมืองไทยอย่างแท้จริง

เมื่อทราบข่าวมรณกรรมของคุณมาลัย ชูพินิจ จึงทำให้ผมรู้สึกเศร้าสลดใจและรู้สึกว่าวงการกล้วยไม้ของไทยได้สูญเสียบุคคลสำคัญไปคนหนึ่ง คงเหลืออยู่แต่ผลงานของท่านไว้ให้เป็นอนุสรณ์ มิใช่แต่จะเรียกความทรงจำเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ให้แก่นักเล่นกล้วยไม้รุ่นลูกหลานต่อไป

ขอผลบุญที่ได้สร้างไว้ จงดลบันดาลให้ดวงวิญญาณของคุณมาลัย  ชูพินิจ จงไปสู่ความสุขในสัมปรายภพด้วยเถิด

ระพี สาคริก
 
 

มันเป็นวันสิ้นของเดือนกรกฎาคม ๒๕๐๖ ถ้าความจำของข้าพเจ้าจะไม่เลวจนเกินไป  ตั้งแต่สายของวันนั้น  ข้าพเจ้ากับเฉลิม วิเศษรัตน์ ประธานกรรมการจัดทำวารสาร สนท.ปีนี้
ห้อเฟี๊ยต ๑๑๐๐ สีเทาคู่ยากของเขาออกตระเวนหา “ต้นฉบับ” กันอย่างคร่ำเคร่ง เมื่อผ่านอาคารอันนโอ่โถงหรูหราของบริษัทไทยพณิชยการ  เจ้าของพิมพ์ไทย สยามนิกร และสยามสมัย ซึ่งย้ายจาก
วิกสีลมมาตั้งอยู่ถนนดินแดง  ปากซอยอรรณพนฤมิตรเมื่อเวลาใกล้เที่ยง ข้าพเจ้าบอกให้เฉลิมหยุดรถ พร้อมกับบอกเขาว่า

“แวะหาคุณครูมาลัยเดี๋ยว”
เป็นที่รู้จักกันอยู่ระหว่างข้าพเจ้ากับเฉลิม  ว่าการแวะหาคุณครูมาลัยนั้น หมายถึง “ต้นฉบับ” สำหรับ “วารสาร สนท.” ที่คุณครูมาลัยรับปากกับเฉลิมไว้ว่าจะมอบให้สัก ๒ เรื่อง
ขณะที่เราทั้งสองลงจากรถ  จะข้ามสะพานไม้ซึ่งทอดข้ามคูไปสู่ตัวอาคารอันหรูหราของบริษัทไทยพณิชยการ ก็พอดี คุณไชยยงค์  ชวลิต ผู้อำนวยการของบริษัทไทยพณิชยการ และคณะอีก ๒-๓ คน กำลังข้ามสะพานไม้มาพอดี พอเห็นข้าพเจ้ากับเฉลิม ก็ให้การทักทายเป็นอันดีพร้อมกับถามว่า
“จะมาหาใครครับ?”
“คุณครูมาลัยอยู่หรือเปล่าครับ?” ข้าพเจ้าสวนคำถามเข้าไป
“ไม่อยู่หรอกครับ...ป่วย” คุณไชยยงค์ตอบพร้อมกับยิ้มอย่างอารมณ์ดี “มีธุระอะไรหรือครับ?”
“ตั้งใจจะมาเอาต้นฉบับให้วารสารสนท. เพราะคุณครูบอกให้ไว้” เฉลิมตอบแทนข้าพเจ้า
ท่านผู้อำนวยการ บริษัทไทยพณิชยการหัวเราะด้วยอารมณ์ดีเช่นเคย พร้อมกับส่ายหน้า “โฮ้ย!...ไม่สำเร็จหรอกคุณ ขนาดจะต้องลางานผมเป็นเดือนๆ เรื่องต้นฉบับจากครูขอให้ถือว่าเป็นอันสละสิทธิ์ได้”
เป็นคำยืนยันอย่างหนักแน่นของคุณไชยยงค์ ก่อนที่จะแยกจากข้าพเจ้าและเฉลิมไป
เป็นอันว่าข้าพเจ้าและเฉลิมไม่ได้ต้นฉบับของคุณครูมาลัยสำหรับวารสารสนท. ฉบับแรกของปี ๒๕๐๖ และก็ไม่เคยคาดฝันแม้สักนิดว่าวารสารสนท. ฉบับต่อๆ ไป เราก็ไม่มีโอกาสจะได้ต้นฉบับจากคุณครูมาลัยอีกแล้ว...
“ไปเยี่ยมครูที่บ้านราชวิถีกันดีไหม?”
เฉลิมเอ่ยชวนข้าพเจ้าขระที่สตาร์ทเจ้าเฟี๊ยต ๑๑๐๐ ออกไปจากหน้าอาหารอันโออ่าของบริษัทไทยพณิชยการ
“ดีเหมือนกัน” ข้าพเจ้าคล้อยตามพลางนึกไปถึงความเจ็บไข้ได้ป่วยของครู ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยได้วี่แววมาก่อนเลย วัยร่วม ๖๐ ของคุณครูมาลัยยังแข็งแรงสมาร์ท เหมือนคนในวัย ๔๐

แต่แล้ววันนั้น... วันต่อๆ มา ด้วยธุระยุ่งๆ ของเรา ๒ คน คือข้าพเจ้าและเฉลิม ก็ยังไม่มีโอกาสที่จะได้ไปเยี่ยมครู  ตราบจนข้าพเจ้าได้ข่าวว่าคุณครูมาลัยต้องจากกระท่อม ป.ล. ที่ราชวิถีเข้าไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และแพทย์ห้ามเยี่ยม ข้าพเจ้ากับเฉลิมก็ยังมีความหวังกันอยู่ว่า พอแพทย์เปิดโอกาสให้เยี่ยมได้เมื่อไร เราจะไปเยี่ยมกันทันที

กระทั่งเช้าวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๐๖ ข้าพเจ้าออกเดินทางมาจากบ้านพักที่จังหวัดเพชรบุรีโดยรถยนต์โดยสารของบริษัทขนส่ง และได้มาถึงสถานีขนส่งสายใต้  ที่สามแยกไฟฉาย ธนบุรี เมื่อเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. พอลงจากรถ ข้าพเจ้าก็เตร่ไปดูหนังสือพิมพ์ที่วางจำหน่ายอยู่ที่ร้านในบริเวณนั้น  สิ่งที่สะดุดตาข้าพเจ้าถึงกับงงงันไปชั่วครู่ก็คือพาดหัว “สารเสรี” ๘ คอลัมน์เต็มเหยียดพื้นดำขาว ขนาดตัวไม้

“นักประพันธ์เอกชื่อก้อง “มาลัย ชูพินิจ” สิ้นชีพ”
ข้าพเจ้าเดินมาขึ้นรถโดยสารข้ามฟากมาฝั่งพระนครด้วยอารมณ์อันสลดหดหู่ในใจ  เพราะใจจริงข้าพเจ้า นับแต่เดินทางออกจากจังหวัดเพชรบุรีมาก็ได้ตั้งเตจำนงไว้ว่า เสร็จธุรกิจเกี่ยวแก่วารสาร สนท.ในวันนี้แล้ว จะชวนเฉลิมไปเซ็นชื่อเยี่ยมคุณครูมาลัยที่โรงพยาบาล  แต่อนิจจา...เจตจำนงของข้าพเจ้าสายไปเสียแล้ว!

ขณะนั่งรถโดยสารไปสู่ปลายทาง ภวังค์ของข้าพเจ้าหวนกลับคืนไปสู่อดีต เมื่อ ๓๕ ปีที่ผ่านมา  มันไม่ใช่เวลาอันเล็กน้อยเลยในวันอันยาวนานถึง ๓๕ ปีเช่นนั้น !

 พ.ศ.๒๔๗๑ ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนปีสุดท้ายของ ร.ร.มัธยมวัดสระเกศ ไม่ใช่มัธยม ๖ หรือ ­๘
แต่เป็นชั้นมัธยมปีที่ ๓ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุด ของ ร.ร.มัธยมวัดสระเกศในขณะนั้น โดยเรียนอยู่ที่เรือน   “ ศรียาภัย ” ใกล้ทางรถรางสายรอบเมือง (เยื้องตรงข้ามสำนักงาน น.ส.พ.ชาวไทย)

สุภาพบุรุษหนุ่มน้อยวัยไม่เกิน ๒๒ ปี นุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน สวมเสื้อนอกสีขาวสะอาดคอปิด กระดุม ๕ เม็ด สวมถุงเท้าใยบัวสีขาว รองเท้าสีดำหัวมันปลาบ หวีผมเป๋เรียบเป็นเงางามเหนือใบหน้าที่ค่อนข้างเก๋เหมือนดาราหนังไทยในยุคปัจจุบัน ดวงตาบ่งบอกความเข้มแข็งอยู่เหนืออารมณ์อันเยือกเย็น สุภาพบุรุษหนุ่มน้อยผู้นี้คือ ครูประจำชั้นข้าพเจ้า ผู้ซึ่งมีนามว่า มาลัย ชูพินิจ

ในชีวิตการเป็นครูของครูมาลัย ชูพินิจ ที่ ร.ร.มัธยมวัดสระเกศ เท่าที่พอจะจำได้ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นความกราดเกรี้ยว หรือการเฆี่ยนตีศิษย์ของคุณครูมาลัยแม้แต่ครั้งเดียว แต่ที่ข้าพเจ้าจำได้สนิทนักก็คือในวันหนึ่งอันเป็นชั่วโมงอ่านอังกฤษ ขณะที่คุณครูมาลัยชี้ให้นักเรียนคนโน้นคนนี้อ่านกันอยู่ขะมักเขม้น แต่ข้าพเจ้ากลับนั่งลอกต้นฉบับที่เพื่อนๆ เขียนส่งมาให้เพื่อลงวารสารประจำห้องอยู่อย่างเพลิดเพลินเจริญใจ

“แฉล้มอ่าน” เสียงคุณครูมาลัยกังวานขึ้น
ข้าพเจ้าสะดุ้งโหยง ลุกขึ้นหยิบหนังสืออ่านที่แบหราอยู่บนโต๊ะยืนขึ้นเหลียวไปข้างหลังและข้างๆ ซึ่งมี ถนอม หรือ อิทธิพล รัตจินดา (ปัจจุบันเป็นพ่อค้าอยู่กบินทร์บุรี) ม.ล.ปีย์ มาลากุล (ปัจจุบันเป็นเลขานุการในพระองค์) วงศ์ เรืองฤทธิ์ (ถึงแก่กรรม) สนิท พานโพธิ์ทอง ฯลฯ เพื่อที่จะอาศัยถามเขาว่าอ่านไปถึงไหนกันแล้ว แต่แววตาของคุณครูมาลัยที่จ้องอยู่ทำเอาเพื่อนฝูงที่นั่งอยู่ข้างๆ พากันขยาดไม่กล้าบอก เสียงเพื่อนฝูงหัวเราะกันครึกครื้น เมื่อคุณครูมาลัยทิ้งท้ายบอกข้าพเจ้าว่า
“ยืนดูอยู่เช่นนั้นก่อน”
หลังจากที่คุณครูมาลัยได้บอกให้นักเรียนแต่ละคนอ่านจนทั่วถ้วนหมดทั้งห้องแล้ว จึงได้บอกให้ข้าพเจ้าอ่านเป็นคนสุดท้าย พอข้าพเจ้าเสร็จเรียบร้อย คุณครูมาลัยก็ได้ออกคำสั่งให้ข้าพเจ้า
นั่งสะดุ้งเล่นว่า
“พักกลางวันนี้อย่าเพิ่งออก รอพบครูก่อน”
พอข้าพเจ้าลงนั่งก็ค่อยๆ เปิดลิ้นชักโต๊ะเรียนเก็บต้นฉบับและวารสารประจำห้องเข้าโต๊ะอย่างระมัดระวังที่จะไม่ให้คุณครูมาลัยเห็นเข้า  เพราะเกรงจะถูกเก็บเอาไปเสีย จะต้องเสียเวลานั่งลอกใหม่มือบวมแน่ จากนั้นก็จินตนาการเอาว่า “น่ากลัวกลางวันวันนี้อาตมาเห็นจะไม่แคล้วป้าบสองป้าย อย่างชั้นชั่วๆ ก็เห็นจะต้องนั่งอดอาหารกลางวันอยู่ในห้องเรียนนี่เสียเป็นแน่แล้ว”

เสียงระฆังทองเหลืองตีบอกเวลาหยุดพักกลางวัน  บรรดาเพื่อนๆ พากันออกจากห้องเรียนไปรับประทานอาหารกลางวันกันจนหมด ในห้องคงมืดแต่ข้าพเจ้าซึ่งนั่งท่องคาถาแคล้วคลาดอยู่ด้วยหัวใจระทึก  กับคุณครูมาลัยซึ่งกำลังนั่งตรวจงานอยู่  พอครูมาลับวางปากกาเงยหน้าขึ้น  ข้าพเจ้ายิ่งระดมว่าคาถาแคล้วคลาดอยู่ในใจยิ่งขึ้น  แต่พอเห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของคุณครู  กำลังใจของข้าพเจ้าดีขึ้นมาอย่างประหลาด  ทึกทักเอาว่าคาถาแคล้วคลาดของหลวงพ่อโตที่ภูเขาทองนี่ช่างศักดิ์สิทธิ์เหลือเกิน  คุณครูยิ้มมาก่อนแบบนี้เห็นจะไม่เป็นไรแน่

พอคุณครูมาลัยพยักหน้าเรียกให้ไปหาที่โต๊ะ  ข้าพเจ้าก็ออกไปคำนับและยืนสำรวมรอฟังคำสั่งอยู่อย่างสงบ
“หมู่นี้ดูไม่ใคร่เอาใจใส่การเรียนเลยนี่” คุณครูพูดช้าๆ ด้วยใบหน้าทั้งยังยิ้มๆ อยู่
“ปละ.....เปล่า.....ครับ” ข้าพเจ้าปฏิเสธชุ่ยๆ ออกไปอย่างที่ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไรดี
“เปล่าอะไรกัน  ครูสังเกตดูมาหลายวันแล้ว” เสียงของคุณครูค่อนข้างจะดังขึ้นอีกนิดที่เห็นข้าพเจ้าปฏิเสธเอาดื้อๆ “ถึงชั่วโมงอ่านอังกฤษทีไรเห็นลอกอะไรง่วน จดอะไรไม่ทันยังงั้นรึ”
“เปล่าครับ” ข้าพเจ้ายืนกระต่ายขาเดียว
“ไปหยิบเอามาดูซิ  ที่เขียนอะไรอยู่เมื่อกี้นี้น่ะ”
คำสั่งของคุณครูมาลัยคราวนี้  ทำเอาข้าพเจ้าใจเต้นไม่เป็นกระบวน กลัวต้นฉบับและวารสารประจำห้องที่เพื่อนอุตส่าห์เขียนมาให้ข้าพเจ้าลอกจะถูกรีบจะหยิบเอาสมุดจดวิชาอย่างอื่นไปให้  ก็เกรงจะถูกจับได้ว่าโกหก เรื่องจะไปกันใหญ่ แข็งอกแข็งใจเดินก้มหน้างุดๆ ไปที่โต๊ะของข้าพเจ้า หยิบเอาต้นฉบับที่เพื่อนๆ เขียนมา และข้าพเจ้าอุตส่าห์ลงทุนแรงนั่งลอกเลียนแทบล้มประดาตาย มายื่นส่งให้คุณครูมาลัยด้วยหัวใจเต้นรัวเหมือนถูกโหมด้วยกลองใบใหญ่

คุณครูมาลัยรับสิ่งที่ข้าพเจ้ายื่นให้ทั้งหมดวางไว้บนโต๊ะ แล้วหยิบวารสารที่ข้าพเจ้าพยายามจัดทำให้หรูหราที่สุดเท่าที่ความรู้ความสามารถในวัยเช่นนั้นจะทำได้ ค่อยๆพลิกดูทีละหน้าๆ จากนั้นก็ยืดอกตัวตรงพิงหนักเก้าอี้ ระบายยิ้มอยู่บนใบหน้าชัดเจน

“ยังงี้เองนี่เล่า  ถึงไม่ค่อยตั้งใจเรียน ทีหลัง...” คุณครูมาลัยหยุดไว้นิดหนึ่ง ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังสูดลมหายใจเข้าอย่างแรง “งานอย่างนี้เอาไว้ทำนอกเวลาเรียน เข้าใจไหม”
ใจข้าพเจ้ามาเป็นกระบุง พร้อมกับตอบสั้นๆว่า “ครับ”
พร้อมกันนั้น  คุณครูมาลัยก็ยื่นต้นฉบับ  พร้อมทั้งตัวฉบับวารสาร ที่ข้าพเจ้าใช้วิธีเขียนเอาแทนการพิมพ์ส่งให้  ข้าพเจ้ายื่นมือไปรับกลับคืนมาด้วยหัวใจอันปิติ  พร้อมกับโค้งลงคำนับอย่าง
งาม  และก่อนที่ข้าพเจ้าจะกลับหลังหันไปที่โต๊ะข้าพเจ้า  คุณครูมาลัยได้เอ่ยถามด้วยน้ำเสียงเรียบๆว่า
“เย็นนี้ครูจะให้สักเรื่อง”
รถโดยสารของบริษัทขนส่งสายใต้พาข้าพเจ้ามาถึงจุดหมายที่การไฟฟ้านครหลวงวัดเลียบ
พร้อมกับอดีตของข้าพเจ้าที่เรือน “ศรียาภัย” ร.ร.มัธยมวัดสระเกศเมื่อ ๓๕ ปีล่วงมาแล้ววูบหายไป
แต่สำนึกของข้าพเจ้าในขณะนั้น ยังครุ่นคำนึงอยู่ว่า จะทำอย่างไรดีถึงจะมีโอกาสได้ไปรดน้ำศพคุณครูมาลัยในเย็นวันนั้นที่วัดมกุฏกษัตริยาราม  ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้าไม่ได้คาดหมายมาก่อนว่าจะต้องมาประสบกับการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของคุณครู  ข้าพเจ้าจึงไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับเครื่องแต่งกายที่จะไปรดน้ำศพคุณครูอย่างสมเกียรติ แต่แล้วภายหลังที่ข้าพเจ้าได้พบคุณประกาศ
วัชราภรณ์ ผู้ช่วยบรรณาธิการ น.ส.พ.สารเสรีพิเศษที่สำนักงานหนังสือพิมพ์สารเสรี-ไทยรายวันในตอนกลางวัน ข้าพเจ้าก็ตัดสินใจที่จะไปคารวะศพคุณครูเป็นครั้งสุดท้ายในตอนเย็นที่วัดมกุฏกษัตริย์ฯ เพราะคุณประกาศบอกว่า
“ไม่เป็นไรหรอกน่า  ชุดที่สวมนี่ก็เรียบร้อยแล้วละ”
ขณะนั้น ข้าพเจ้าอยู่ในชุดกางเกงสีน้ำเงินแก่ เสื้อเชิ้ตขาวเขนยาว และผูกไทดำ
มีเรื่องที่น่าสงสัยสำหรับข้าพเจ้าอยู่เรื่องหนึ่ง  เกี่ยวกับประวัติของคุณครูมาลัยที่ข้าพเจ้าพบเห็นในหนังสือพิมพ์ทั่วๆ ไป เป็นความสงสัยไม่สามารถจะเก็บไว้ได้ เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่าความจำของข้าพเจ้าไม่ผิด ทั้งนี้เกี่ยวกับตอนที่ว่า
“คุณครูมาลัย ชูพินิจ เกิดวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๔๔๙ สิริรวมอายุได้ ๕๗ ปี ศิษย์เก่าของ ร.ร.เทพศิรินทร์  ร.ร.บพิตรพิมุข และสวนกุหลาบ เรียนจบม.๘ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗ ร.ร.สวนกุหลาบ ได้เป็นคุณครูอยู่ ๒ ปี ที่ ร.ร.วัดสระเกศ”

จากข้อความดังกล่าวข้างต้น ก็ย่อมหมายถึงว่า คุณครูมาลัย สำเร็จจาก ร.ร.สวนกุหลาบเมื่อ
พ.ศ.๒๔๖๗ แล้วไปเป็นครูที่ ร.ร.วัดสระเกศอยู่ ๒ ปี (หมายถึง พ.ศ.๒๔๖๘-๒๔๖๙) แล้วก็ขอลาออก ถ้าเป็นดังนี้ ข้าพเจ้าก็เห็นจะไม่ใช่ศิษย์ของคุณครูมาลัยแน่  เพราะคุณครูมาลัยสอนข้าพเจ้าที่เรียน “ศรียาภัย” ร.ร.มัธยมวัดสระเกศนั้นเป็น พ.ศ.๒๔๗๑ ซึ่งระหว่างนั้น ขุนซำนิอนุสาส์น (เสง
เล่าหะจินดา) อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการเป็นครูใหญ่ ถ้าข้าพเจ้าไม่ผิดก็เห็นจะสืบต่อจากคุณหลวงพร้อมพิทยาคุณ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ ข้อสงสัยของข้าพเจ้าเข้าใจว่า คุณครูมาลัยนั้นจะต้องเป็นครูที่ ร.ร.วัดสระเกศระหว่าง พ.ศ.๒๔๖๗ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๑ เพราะในปี ๒๔๗๒ นั้น ข้าพเจ้าไปเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ ๔ เป็นศิษย์ของอาจารย์ เอื้อ บุศประเกศ ที่ ร.ร.บพิตรพิมุข ซึ่งคุณครูมาลัย
เคยเป็นศิษย์เก่าที่นั่นมาเหมือนกัน

ข้าพเจ้าจำได้ว่า เมื่อข้าพเจ้าจับงานหนังสือพิมพ์อย่างจริงจังเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๑ โดยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวันผดุงชาติ  ซึ่งตั้งอยู่ที่สี่กั๊กเสาชิงช้าตรงหัวโค้งรถรางเลี้ยวไปสะพานช้างโรงสีนั้น  คุณครูมาลัยกำลังจะผละงานหนังสือพิมพ์ที่สำนักงาน “ประชาชาติ” ไปทำไร่ถั่วเหลืองที่หัวหิน  แต่แล้วคุณครูไปทำไร่อยู่ไม่นาน  ทนความเรียกร้องของกลิ่นหมึกพิมพ์อยู่ไม่ไหวก็หวนกลับมาสร้างค่ายใหญ่ขึ้นที่โรงพิมพ์อักษรนิติ  สี่แยกบางขุนพรหมอันเป็นของขุนวรกิจบรรหาร  โดยออกหนังสือพิมพ์รายวัน “ประชามิตร” ขึ้น โดยคุณครูมาลัยเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ
และต่อมา ณ สถานที่แห่งเดียวกัน ก็ได้ออกหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” อีกฉบับหนึ่ง ซึ่งภายหลัง
คุณครูก็ได้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ทั้ง ๒ ฉบับนี้

ระหว่างที่คุณครูมาลัยอยู่ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ประชามิตร-สุภาพบุรุษ  ข้าพเจ้าได้มีโอกาสแวะไปเยี่ยมเยียนเพื่อนฝูงที่นั่น  แต่ละครั้งก็มักจะพบคุณครูเสมอและก็ได้รับการถามไถ่
เรื่องงานการ  ข้าพเจ้าก็ได้เรียนให้คุณครูทราบว่าข้าพเจ้าเองก็ไม่สามารถที่จะสลัดดกลิ่นหมึกพิมพ์
ออกไปให้พ้นตัวได้ทั้งๆ ที่ไปรับราชการและเข้าทำงานมาหลายต่อหลายแห่ง  แต่ในที่สุดก็อดพิสมัยต่อเสียงฉับแกระและกองกระดาษไม่ได้

คุณครูคงได้แต่หัวเราะ เมื่อข้าพเจ้าบอกออกไปตรงๆ เช่นนั้น และก็เชื่อว่าคุณครูคงจะเข้าใจอุปนิสัยของข้าพเจ้าดีในระหว่างที่เป็นครูข้าพเจ้าอยู่ที่ ร.ร.มัธยมวัดสระเกศ  จากนั้นต่อมาเมื่อคุณครูมาร่วมกับคุณอารีย์  ลีวีระก่อตั้งบริษัทไทยพณิชยการ  ออกหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” กับ
“สยามนิกร” เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ ที่สีลม  ซึ่งขณะนั้นข้าพเจ้าประจำอยู่หนังสือพิมพ์ศรีกรุง นานๆ ครั้งจึงจะมีโอกาสได้พบกับคุณครูสักครั้งหนึ่ง  แต่ละครั้งที่พบคุณครูก็ยังแสดงความปรารถนาดีต่อข้าพเจ้าเรื่อยมา  แม้กระทั่งข้าพเจ้าออกจากบริษัทศรีกรุงเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ ไปดำเนินงานทำหนังสือพิมพ์เองหลายต่อหลายแห่ง  คุณครูมาลัยก็ยังปรารถนาดีต่อข้าพเจ้าไม่เปลี่ยนแปลง  เคยบอกให้ต้นฉบับอยู่เสมอ  แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ใคร่จะได้ไปรบกวนคุณครู  ตราบจนกระทั่งข้าพเจ้าถูกตั้งให้เป็นอนุกรรมการจัดทำวารสาร สนท. ปีนี้  พอจะไปรบกวน  มัจจุราชก็ชิงชีวิตคุณครูมาลัยไปเสียก่อน  ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้แต่คิดคำนึงอยู่ว่า “บุญข้าพเจ้าคงจะไม่ถึง” ที่จะได้ไปรบกวนคุณครู

ข้าพเจ้าเขียนเรื่อง “คุณครูมาลัย” เป็นคุรุบูชา  ในฐานะที่คุณครูมาลัยได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้สามัญในขั้นต้นให้แก่ข้าพเจ้าที่ ร.ร.มัธยมวัดสระเกศ  ไม่ใช่ในฐานะผู้ร่วมวิชาชีพหนังสือพิมพ์หรือในฐานะอุปนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ที่คุณครูดำรงตำแหน่ง
มาหลายยุคหลายสมัย  และก็ไม่ใช่ในฐานะศิษย์เก่าของ “บพิตรพิมุข” อีกด้วย

ถึงมรณกรรมของคุณครูมาลัย ชูพินิจ นักประพันธ์, นักหนังสือพิมพ์และนักสังคมสงเคราะห์อาวุโส แม้ว่าจะเป็นที่เศร้าและอาลัยกันอยู่ทั่วไปในหมู่ญาติมิตรหายตลอดจนผู้คุ้นเคยและศิษย์เป็นจำนวนมาก แต่เมื่อได้คำนึงถึงว่าทุกรูปทุกนาม เมื่อเกิดเป็นตัวตนมาแล้ว ก็ย่อมแตก สลายไปในที่สุด คงเหลือไว้แต่นามให้เป็นที่ทรงจำกันต่อไปเท่านั้น สมดังพุทธภาษิตที่ว่า "รูปชีวรติมจฺจานํ นามโคตตฺตํ น ชีรติ" ซึ่งแปลว่า "รูปของสัตว์ทั้งหลายย่อมย่อยยับไปส่วนชื่อและ โคตรหาย่อยยับไม่"

แฉล้ม ด่วนศิลกิจ