นิยาย ผจญภัยในป่าดงพงไพร ของเมืองไทยมีไม่มากนัก และแทบจะไม่เพิ่งขึ้นจากที่มีอยู่สักเท่าใด

นอกจากนี้นักประพันธ์ส่วนใหญ่สมัยนี้ ไม่ค่อยมีใครสนใจเขียนนิยายประเภทนี้ และบรรดานักนิยมไพรก็หาใช่นักประพันธ์ไปเสียทุกคนไม่ แล้วถึงอยากจะเขียนนิยายเกี่ยวกับป่าดงพงพีสักแค่ไหน ก็คงนึกไม่ออกว่าจะไปหยิบยกเอาสถานที่ใดมาเป็นฉากในท้องเรื่อง

เพราะสมัยนี้ ป่าดงพงพีแทบจะไม่มีอะไรเหลือไว้เป็นไพร เป็นป่าอีกแล้ว เขียนออกไป แทนที่จะเป็นเรื่องตื่นเต้นผจญภัย จะกลายเป็นนิยายขำขันไปเสียเปล่าๆ

ย้อนอดีตไปสมัย “กึ่งพุทธกาล” ไม่นานมานี้ แค่สามสิบหกปีเท่านั้นเอง สมัยนั้น ทุกคืนวันจันทร์ พอใกล้จะสามทุ่ม ทุกคนในบ้านไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ทุกเพศทุกวัย จะไปชุมนุมรุมล้อมกันอยู่ที่หน้าเครื่องรับฟังวิทยุ เพื่อฟังละครที่ยังไม่มีเรื่องใดลบสถิติความยิ่งใหญ่ลงได้แม้ในปัจจุบัน ทางสถานีวิทยุ ท.ท.ท.

ละครวิทยุเรื่องนั้นชื่อ “ล่องไพร” เป็นนิยายผจญภัยในป่าเขียน โดย “น้อย อินทนนท์” คนนำมาจัดทำเป็นละครวิทยุคือ สรรพสิริ วิรยศิริ โดยมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด หรือจะว่าชัดๆ ก็ข้าราชการจากกรมประชาสัมพันธ์ที่ถูกส่งมาทำงานในบริษัทนั้นเป็นผู้แสดง

ตัวละครสำคัญในเรื่องซึ่งเป็น “ตัวยืน” ออกอากาศแทบจะทุกตอนมีอยู่แค่ ๓ คนเท่านั้น คือตัว “ข้าพเจ้า” หรือ “ศักดิ์ สุริยัน” ซึ่งรับบทโดย “สมชาย มาลาเจริญ” “ร.อ.เรือง ยุทธนา” แสดงโดย “อาคม มกรานนท์” และ “ตาเกิ้น” รับบทโดย “ธนะ นาคพันธุ์”

“ล่องไพร” ครองความยิ่งใหญ่ เป็นขวัญใจแฟนๆ มานานหลายปี โด่งดังชนิดที่ไปถามคนที่เดี๋ยวนี้อายุ ๕๐ ปีขึ้นไป ไม่มีใครที่ไม่รู้จักหรือลืมเลือนพฤติการณ์ของกระทิงร้ายอย่าง “อ้ายแก” ช้าง “งาดำ” และความอับโชคของ “พะสะอู” “มนุษย์นาคา” อย่างไลสง “ป่าช้าช้าง” ของดิเรก “ตุ๊กตาผี” หรือ “มนุษย์หิมพานต์” ฯลฯ

จากนั้น “น้อย อินทนนท์” ก็สร้างนิยายผจญภัยในไพรพฤกษ์เรื่องใหม่ โดยตั้งใจจะให้เป็นของขวัญแก่เยาวชนนักอ่านโดยเฉพาะ

นิยายเรื่องนั้นคือ “ลูกไพร” ที่ท่านกำลังถืออยู่ในมือขณะนี้นั่นเอง

แม้จะเป็นการเผชิญภัยของเด็กๆ และมีขนาดความยาวเพียงตอนเดียวจบ แต่ความสนุกของ “ลูกไพร” ก็มิได้ด้อยไปกว่า “ต้นฉบับ” อย่าง “ล่องไพร” แม้แต่น้อย

ตัวเอกไม่เก่งกาจขนาด “ตาเกิ้น” พรานใหญ่ใน “ล่องไพร” เพราะวัยและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน แต่ในฐานะลูกพรานผู้เกิดและเติบโตมาในป่าเป็นเวลาช้านานตามสมควร ทำให้ “เขิ่ง” มีความสามารถพอตัวในการดำรงชีวิตในป่า รวมทั้งพา “นายน้อย” ของแกให้รอดพ้นจากภัยอันตรายทั้งปวงอย่างน่าตื่นเต้น แม้จะเป็นเด็กในวัยเล็กขนาดนั้น

ผู้เขียนคงไม่คาดฝันมาก่อนว่า ทั้ง “ตาเกิ้น” ใน “ล่องไพร” และ “เจ้าเขิ่ง” ใน “ลูกไพร” จะกลายมาเป็นมนุษย์จริงๆ ที่มีชีวิต มีเลือดเนื้ออย่างในปัจจุบัน เพราะเมื่อข้าพเจ้าเอามาตั้งเป็นชื่อเล่นให้ลูกชายคนโตและคนรองตามลำดับนั้น เป็นเวลาที่ “คุณปู่” ของทั้งสองคนล่วงลับไปนานแล้ว โดยที่ทั้งปู่และหลาน ต่างฝ่ายต่างไม่มีโอกาสพบหน้าค่าตากันเลยในชีวิตจริง

นอกจากเป็นอนุสรณ์ให้ตัวละครในนิยายผจญภัยบริสุทธิ์ทั้งสองเรื่อง ซึ่งข้าพเจ้ารักมาก แม้จะมิใช่เรื่อง “ดีที่สุด” ของพ่อ ข้าพเจ้ายังหวังจะให้ทั้ง “เกิ้น” และ “เขิ่ง” เติบโตขึ้นมาด้วยความรักในป่า ดุจเดียวกับตัวละครทั้งสอง แม้ปัจจุบันแทบจะไม่เหลือป่าไว้ให้รักสักเท่าใดก็ตาม

เหนือสิ่งอื่นใด เขาจะได้ตระหนักว่า ป่าคือธรรมชาติที่ควรหวงแหนเอาไว้ อย่างน้อยที่สุด มนุษย์ก็พอจะหาความจริงใจจากป่าได้ยิ่งกว่าในเมือง

สุคต ชูพินิจ
(จากล่องไพร ตอนอ้ายเกและงาดำ)