ดิฉันเป็นลูกที่หน้าตาเหมือนพ่อมากกว่าลูกคนอื่นๆ ใครๆ เห็นก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า

“ยายหน่อยนี่หน้ามันเหมือนพ่อนะ ดูจมูกซิ ถอดพ่อออกมาเลย”

ตอนที่ทำงานกับคนหูหนวก และจะต้องมีสัญลักษณ์ที่เป็นท่ามือแทนชื่อ ท่ามือชื่อของดิฉันคือ ห่อมือครอบบนจมูกคือพูดง่ายๆ ว่า ทั้งหน้าดิฉันนี่จมูกคือส่วนที่เด่นที่สุด กรรมเวรจริงๆ

นอกจากจะหน้าเหมือนพ่อแล้ว ดิฉันยังเป็นครูเหมือนพ่อ

พ่อเป็นนักหนังสือพิมพ์ เมื่ออยู่ที่อเมริกา สามีและดิฉันก็ช่วยกันเข็นหนังสือพิมพ์ชื่อ“ทรรศนะ” ออกมาให้ชาวเวอร์จีเนีย แมรี่แลนด์ วอชิงตัน ดีซีและนิวยอร์ค ได้อ่านเล่นกันสนุกสนานอยู่หลายปี ดิฉันรับตำแหน่งเป็นรองบรรณาธิการ เพราะฉะนั้น ก็เลยอยากจะพูดว่า เคยเป็นนักหนังสือพิมพ์อยู่ระยะหนึ่ง

พ่อเป็นนักเขียนใหญ่ ดิฉันก็เป็นนักเขียนได้ด้วยนะ ถึงจะเป็นเพียงตัวเล็กๆ ก็เถอะ อย่างน้อยก็เคยมีผลงานออกมาพอสมควร

พ่อเคยได้เชิญไปประเทศเยอรมัน และเมื่อกลับมา พ่อได้พูดถึงประเทศนี้อย่างชื่นชม

พอดิฉันเข้าเรียนที่โรงเรียนเจตรียมอุดมศึกษา และมีโอกาสเลือกเรียนภาษาต่างประเทศ จะเป็นฝรั่งเศสหรือเยอรมันก็ได้ ดิฉันก็เลยเลือกเรียนภาษาเยอรมัน ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกผิดๆ เพราะดิฉันเป็นนักเรียนสายศิลป์ ซึ่งเลือกเรียนเยอรมันแล้ว ก็ยังไม่รู้เลยว่า จะเอาความรู้ที่ได้รับไปทำอะไร

และสุดท้าย พ่อเป็นมะเร็ง อะฮ้า...ดิฉันก็เป็นได้เหมือนกัน เดี๋ยวจะว่าไม่รักกันจริง พ่อเป็นอะไร ดิฉันก็เจริญรอยตามได้หมดเลย แต่ดิฉันโชคดีกว่าพ่อนิดหนึ่ง คือมีโอกาสหาย อาจจะเป็นเพราะตอนที่ดิฉันเป็นมะเร็งดิฉันอยู่ที่อเมริกา การวินิจฉัยโรคและการรักษาพยาบาล เป็นไปอย่างรวดเร็ว ดิฉันจึงสามารถมีชีวิตรอดมาได้จนบัดนี้ ๕ ปีกว่าแล้ว แต่พ่อเข้าโรงพยาบาลได้เพียง ๑๘ วัน ก็เสียชีวิต ทั้งนี้เพราะพ่อเป็นมะเร็งที่ปอด และเป็นแบบที่เขาเรียกกันว่า “Acute” ซึ่งเป็นชนิดที่รุนแรงและทำลายอวัยวะต่างๆ อย่างรวดเร็ว

เมื่อฉายเอ็กซ์เรย์ตอนพ่อเข้าโรงพยาบาลใหม่ๆ พบจุดดำๆ ที่ปอด ครั้งแรกหมอคิดว่าพ่อเป็นทีบี แต่หลังจากนั้นเพียงไม่ถึง ๒ อาทิตย์ ฉายเอ็กซ์เรย์อีกครั้ง ปอดของพ่อเหลือเพียงข้างเดียวเท่านั้น

ช่วงที่พ่ออยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ แม่ไปนอนเฝ้าทุกวัน ดิฉันซึ่งขณะนั้นเป็นนักเรียนเตรียมฯ ก็เลยถือโอกาสใช้โรงพยาบาลเป็นบ้าน เช้าขึ้นก็นั่งรถจากโรงพยาบาลมาโรงเรียน เพียง ๒-๓ ป้ายก็ถึง แสนสบาย ผิดกับการต้องขึ้นรถสาย ๑๘ จากบ้านที่วังสวนจิตร มาลงที่แยกราชเทวี แล้วต่อรถสาย ๑๖ มาลงหน้าโรงเรียน

รถสาย ๑๘ นี้ เมื่อก่อนมีชื่อว่า “ไทยถาวร” แต่เรามักจะเรียกกันว่า “ไทยทรมาน” เพราะรถมันจะแน่นจนบางวันต้องยืนขาเดียวตลอดทาง

สมัยดิฉัน นักเรียนแผนกศิลป์ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาทั้ง ๒ ปี เรียนที่เรือนไม้ ซึ่งก่อนหน้านี้จะเรียกว่า เตรียมอรชร แต่พอรุ่นดิฉัน (รุ่น ๒๕) ซึ่งเป็น ม.ศ.๔ รุ่นแรก มาเรียนที่เรือนไม้นี้ เราไม่ยอมเรียกตัวเราว่าเป็นเตรียมอรชร เพราะเราเป็นนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา เพียงแต่ไม่รู้เหมือนกันว่าโรงเรียนใช้ระบบอะไร นักเรียนแผนกศิลป์ทั้งหมด จึงต้องอพยพมาเรียนกันที่เรือนไม้ข้างคลองอรชรด้านถนนอองรีดูนองต์

ดิฉันยังจำได้ว่า วันนั้นดิฉันนั่งหลับอยู่ในห้องเรียน ซึ่งเป็นชั่วโมงของ Mr. Lee อาจารย์ชาวอังกฤษ ซึ่งคงกำลังกลุ้มใจว่า จะทำยังไงดีกับนักเรียนคนที่นั่งฟุบหลับเอาๆ อยู่กับโต๊ะ

ก็พอดีอาจารย์แผนกทะเบียน เอากระดาษแผ่นเล็กๆ มายื่นให้ Mr. Lee ก็เลยเดินมาเรียกดิฉัน แล้วบอกว่า ให้ดิฉันไปที่โรงพยาบาลเดี๋ยวนี้

ดิฉันหายง่วงเป็นปลิดทิ้ง คว้ากระเป๋าหนังสือได้ก็รีบขึ้นรถเมล์ไปโรงพยาบาลทันที

และพ่อก็เสียชีวิตในวันนั้น วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๐๖

ถ้าพ่อยังมีชีวิตอยู่ วันที่ ๒๕ เมษายน ปี ๒๕๔๙ นี้ พ่อก็จะอายุครบ ๑๐๐ ปีจริงๆแล้ว ดิฉันไม่ใช่ “ลูกรัก” ของพ่อ ไม่เหมือนพี่นิด (คุณขนิษฐา ณ บางช้าง) นั่นเขาเป็น“ลูกพ่อ”

เราทั้งสองคนอยู่โรงเรียนประจำ “วัฒนาวิทยาลัย” แถวถนนสุขุมวิทตั้งแต่เล็กๆ เวลาดิฉันซนและโดนครูทำโทษ พ่อก็จะบอกว่า

“ไอ้ก๊อกกี้นี่ซนจริงแฮะ โดนครูทำโทษเป็นประจำ”

แต่ถ้าพี่สาวลูกคนโปรดโดนบ้าง ก็จะเป็นว่า

“เด็กฉลาดก็ต้องซนเป็นธรรมดา”

เฮ้อ !.......................................

ดิฉันมีพี่น้อง ๕ คน ผู้ชาย ๒ คน และผู้หญิง ๓ คน พ่อเรียกพวกเราทั้ง ๕ ด้วยชื่อที่ไม่เหมือนใคร คนทั้งโลกเรียกเราว่า แดง น้อย นิด หน่อย และตุ๊ก ส่วนพ่อเรียก คต ตี๋ จิ๋ว ก๊อกกี้ และแจ๋วแหวว

คต มาจาก “สุคต” ซึ่งเป็นชื่อจริงๆ ของพี่แดง

ตี๋ สำหรับพี่น้อย ดิฉันคิดว่า คงจะเป็นเพราะเมื่อเล็กๆ เขาหน้าตาเหมือน “อาตี๋”

สำหรับพี่นิด พ่อไม่อยากเรียก “นิด” เพราะใครๆ ที่ไหนก็ นิด นิด กันทั้งนั้น ก็เลยเรียก“จิ๋ว” ซึ่งก็มีความหมายเหมือนกับนิด

ตุ๊กซึ่งเป็นลูกคนสุดท้อง เกิดมาหน้าตาน่าเอ็นดู ตาแจ๋วแหวว เลยได้ชื่ออย่างนั้น

ส่วนดิฉัน ทำยังไงก็ตีปริศนาไม่ออกว่า ได้ชื่อ “ก๊อกกี้” มาจากไหน

ทั้งหมดนี้เป็นความคาดคะเนของดิฉัน ไม่รู้เหมือนกันว่าจะโดนพ่อเขกหัวเอาเมื่อไหร่ ฐานเดาความคิดพ่อผิด

พ่อเป็นคนที่มีจิตวิทยาที่สุด หลายๆ ครั้งที่พ่อจะสอนลูกโดยลูกๆ ไม่รู้ตัว พ่อมักจะให้เราคิดเอาเองว่าอะไรถูก อะไรผิด และเราควรจะเลือกปฏิบัติอย่างไร

ดิฉันได้ประสบการณ์นี้เมื่อสมัยเรียนอยู่โรงเรียนประจำ ซึ่งเป็นโรงเรียนของมิชชันนารี นิกายเพรสไบทีเรียน

วันหนึ่งดิฉันกลับบ้าน แล้วบอกกับพ่อว่า ดิฉันอยากจะเปลี่ยนศาสนา

พ่อวางดินสอที่กำลังเขียนต้นฉบับอยู่ลงช้าๆ แล้วถามดิฉันว่า

“ทำไมถึงคิดยังงั้น”

ตอนนั้นดิฉันอายุ ๑๒ หรือ ๑๓ ปี เห็นจะได้ พอพ่อถามอย่างนั้น ก็พยายามร่ายยาวคำสั่งสอน ที่ได้รับมาจากศาสนาจารย์ที่โรงเรียนให้พ่อฟัง สรุปก็คือศาสนาคริสต์นี่ดี ดิฉันควรจะนับถือ เพื่อจะได้เป็นคนดี

พ่อนิ่งอยู่พักหนึ่ง แล้วก็บอกว่า

“ตามใจ ถ้าลูกคิดว่าศาสนาคริสต์นี้จะทำให้ลูกเป็นคนดี พ่อก็ไม่ว่าอะไร”

พ่อเงียบไปนิดหนึ่งแล้วก็พูดอีกว่า

“พ่อว่า ศาสนาอะไรก็ดีทั้งนั้น ขอแต่ให้ลูกทำตามคำสั่งสอนของศาสนานั้นๆ เท่านั้นเอง”

ผลของการคุยกับพ่อวันนั้น ดิฉันกลับไปโรงเรียนและบอกศาสนาจารย์ว่า ดิฉันเปลี่ยนใจ และจะไม่รับศีลเพื่อเปลี่ยนเป็นคริสต์ศาสนิกชน ศาสนาจารย์ถามว่า

“คุณพ่อคุณแม่ขัดข้องหรือ”

ดิฉันบอกว่าเปล่า ก็เพราะท่านไม่ขัดข้องน่ะซิ ดิฉันเลยตัดสินใจไม่เปลี่ยนศาสนา ก็ศาสนาไหนๆ ก็ดีทั้งนั้น แล้วดิฉันจะเปลี่ยนศาสนาเพื่ออะไรกัน

สมัยที่อยู่โรงเรียนประจำนี้ ตามธรรมดาเราจะกลับบ้านได้ทุกวันพุธและกลับมาโรงเรียนอีกครั้งในวันศุกร์เช้า และกลับบ้านได้อีกครั้งในวันอาทิตย์ หลังจากเสร็จพิธีในโบสถ์แล้ว และกลับมาโรงเรียนในวันจันทร์เช้า

แต่ทุกๆ อาทิตย์สิ้นเดือน เราไม่กลับบ้านในวันพุธ แต่จะกลับในวันศุกร์ตอนบ่าย และกลับมาโรงเรียนในวันจันทร์เช้า

และเหตุระทึกใจก็เกิดขึ้นในวันศุกร์สิ้นเดือนหนึ่ง ดิฉันและพี่สาวรอพ่อมารับตั้งแต่บ่ายจน ๕ โมงเย็นซึ่งเป็นเวลากินข้าว พ่อก็ยังไม่มารับ กฎของโรงเรียนมีอยู่ว่า ถ้าผู้ปกครองไม่มารับนักเรียนก่อน ๖ โมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาอาบน้ำ นักเรียนก็จะอดกลับบ้าน

กินข้าวเย็นเสร็จ ดิฉันกับพี่สาว ก็ออกมารอพ่อที่สนามหน้าโรงเรียน ดิฉันนั้นใจไม่ดี เพราะกลัวอดกลับบ้าน แต่ใจยังชิ้นอยู่นิดหนึ่ง ตามที่มีพี่สาวอยู่ด้วย พ่อคงไม่ลืมมารับน่ะ (ถ้าเป็นดิฉันคนเดียวละก็ไม่แน่)

วันนั้นพ่อมารับเราก่อน ๖ โมงนิดเดียว พอขึ้นรถพ่อก็บอกลูกๆ ว่า

“พ่อขอโทษ พ่อไปบรรยายให้นักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ฟัง และพูดเพลินจนลืมว่าจะต้องมารับลูกที่โรงเรียน”

พ่อในความทรงจำของดิฉัน คือผู้ชายร่างสันทัต หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสเกือบจะเรียกได้ว่า ดิฉันไม่เคยเห็นพ่อหน้าบึ้ง เวลาพ่อดุ หน้าพ่อก็จะเฉยเสียงที่พูดจะเนิบนาบ

“ก๊อกกี้ ทำไมไปเอาของพี่เขามา เอาไปคืนเขาซะ แล้วอย่าทำอย่างนี้อีกนะ”

พ่อไม่เคยตีลูก ยกเว้นครั้งเดียวที่ดิฉันเห็นพ่อโกรธพี่แดงกับพี่น้อยเพราะหนีไปเล่นน้ำที่คลองข้างวังสวนจิตร พ่อได้ห้ามแล้วว่าอย่าไป แต่ทั้งสองวัยรุ่นคิดว่าพ่อยังไม่กลับบ้าน โชคร้ายที่พ่อเผอิญกลับบ้านเร็ว

ครั้งนั้นเป็นครั้งเดียวที่ดิฉันเห็นพ่อตีลูกชายทั้งสองคน และดิฉันไม่เคยเห็นพี่แดงกับพี่น้อย ออกไปเล่นน้ำในคลองหน้าวังอีกเลย

พ่อเป็นคนทำงานหนัก ทุกๆ คืน ไปในห้องพ่อจะเปิดอยู่จนเกือบสว่าง ช่วงเวลาดึกจนถึงใกล้รุ่ง เป็นช่วงที่บ้านเราซึ่งมีสมาชิกอาศัยอยู่เกือบ ๓๐ คน เงียบสงบ พ่อขอใช้เวลานั้นเขียนหนังสือ

ต้นฉบับของพ่อมีคนอ่านออกอยู่ ๓ คน คือแม่ , พี่นิด และช่างเรียง ที่โรงพิมพ์ พ่อไม่เคยใช้ปากกาหรือพิมพ์ดีดเวลาเขียนเรื่อง ที่โต๊ะทำงานของพ่อมีกล่องสูงใส่ดินสอที่เหลาด้วยมีดหลายสิบแท่ง

โต๊ะเขียนหนังสือของพ่อเป็นสถานที่ต้องห้ามสำหรับดิฉัน แต่แน่นอน ถ้าเป็นพี่นิด “ลูกรักของพ่อ” จะเข้าไปจัดโต๊ะ เช็ดโต๊ะ เหลาดินสอ หรือทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าดิฉันย่างกรายเข้าไปใกล้ ก็มักจะได้ยินเสียงไม่ใครก็ใครบอกว่า

“ยายหน่อย ออกมา อย่าเข้าไปยุ่งที่โต๊ะทำงานพ่อ เดี๋ยวก็ไปรื้อของเขาอีกหรอก”

บางครั้งพ่อจะทำอะไรโดยไม่มีแผน บางวันเรานั่งกินข้าวกันอยู่ พ่อกลับมาตอนเย็น ก็บอกแม่ให้จัดของ เอาข้าวใส่ปิ่นโตไปกินกลางทาง แล้วเราก็ออกไปต่างจังหวัดกันในคืนนั้นเอง เวลาขับรถ ถ้าพ่อเกิดง่วงขึ้นมา พ่อจะหยุดขับ จอดรถเข้าข้างทาง แล้วบอกพวกเราว่า

“ขอพ่องีบนิดหนึ่ง”

แล้วแม่ก็จะเอาปิ่นโตข้าวออกมา ตักใส่จานให้ลูกๆ ซึ่งมักจะมีแต่ลูกสาว เพราะราการกะทันหันอย่างนี้ ลูกชายทั้งสองจะปฏิเสธไม่ไปด้วยนั่นเขาชอบไปกับพ่อเวลาออกป่า มาทะเลอย่างนี้ ไม่สนุกสนานสำหรับเขา

พ่อชอบพาพวกเราไปที่หาดวงพระจันทร์ ที่บังกะโลของ “คุณกุล” กับ “คุณเทพ” บางทีพ่อไปพักอยู่เป็นเดือนๆ โรงพิมพ์ต้องส่งคนไปรับต้นฉบับที่นั่น บางครั้งพ่อยังเขียนไม่เสร็จ แม่ก็จะมีหน้าที่หาข้าวหาปลาให้ผู้มารับต้นฉบับกินระหว่างรอ

สมัยนั้น พัทยายังเป็นเพียงหาดที่มีโรงแรม ๔-๕ แห่ง บางคืนเราเดินจับปูกันจากหาดวงพระจันทร์ไปจนถึงพัทยา ได้ปูกลับบ้านกันเต็มถังทุกคน พอถึงบ้านก็จะชุบแป้งทอดกินกันอร่อยเหาะ สมัยนี้คงไม่มีปัญญาเดินและคงไม่มีปูให้จับมากขนาดนั้น

พ่อชอบหาดแถบนั้นมาก ในที่สุดก็ตัดสินใจซื้อที่ผืนเล็กๆ บนหาด ส.น.อ. (ดิฉันไม่แน่ใจว่าปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นอะไรไปแล้ว จำได้แต่ว่า ปากทางเข้ามีวัดใหญ่ และหาดนี้อยู่ก่อนจะถึงพัทยานิดเดียว)

ก่อนที่จะซื้อที่ผืนนี้ พ่อพาเราไปกางเต็นท์นอนกันที่ริมหาด พวกผู้หญิงนอนในเต็นท์ ส่วนพ่อแม่ และตุ๊กซึ่งตอนนั้นยังเป็นเด็กนิดเดียวนอนใต้ผ้าใบที่พ่อกางออกมาจากรถ บรรยากาศแบบนี้ คนสมัยนี้อาจะงงว่า ทำกันยังไง

ต่อมาเราสร้าง “กระท่อม” เล็กๆ บนที่ที่ซื้อจาก “ลุงพิงค์” เจ้าของไร่มันสำปะหลัง มันเหมือนกระท่อมชาวประมงจริงๆ เพราะมีอยู่ครั้งหนึ่ง มีคนมาขอถ่ายหนังโดยจะใช้บ้านของเราเป็นบ้านชาวประมง น่าเสียดายที่ดิฉันจำชื่อหนังไม่ได้ และแน่นอน เราปฏิเสธ เพราะไม่ต้องการให้ใครมายุ่งย่ามกับเวลาพักผ่อนของเรา

เราได้ไปพักผ่อนที่บ้านชายทะเลนี้อยู่ไม่กี่ปี ก็มีความจำเป็นบางอย่างที่ทำให้ต้องขายมันไป แต่ไม่เป็นไร สมบัตินอกกาย มีได้ ก็ไม่มีได้

และเราก็ยังคงมีกระท่อม ป.ล. ที่หน้าวังสวนจิตรของเรา ชื่อบ้านป.ล. นี้ เป็นชื่อคอลัมน์ของพ่อในหนังสือพิมพ์รายวัน สัญลักษณ์ของคอลัมน์คือ ลิง ๓ ตัว ที่ปิดหู ปิดตา และปิดปาก ไม่รู้เหมือนกันว่า พ่อคิดอย่างไรกับสัญลักษณ์นี้ จะเดาก็กลัวจะถูกเขกหัวเอาอีก

แต่ดิฉันเชื่อว่า พี่ๆ น้าๆ อาๆ รุ่นโตๆ คงจะรู้ความหมายเรื่องนี้ ไว้เจอกันแล้วดิฉันจะถามให้หายข้องใจ

อ้อ ! ลืมบอกไปว่า พ่อดิฉันชื่อ มาลัย ชูพินิจ

โสมนัส ชูพินิจ
จาก “ต่าย’ตูน ” ปักษ์แรก เมษายน ๒๕๔๙