ไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยคิดว่า วันนี้จะครบหนึ่งร้อยปีแล้ว สำหรับคุณตาของฉัน “มาลัย ชูพินิจ”

ฉันชื่อ ชนิตร์นัยน์ ณ บางช้าง เป็นลูกของแม่นิด ขนิษฐา ผู้ซึ่งเป็นลูกสาวคนหนึ่งและ คนแรกของคุณตามาลัย ชูพินิจ ตั้งแต่เล็กๆ แม่นิดฝึกให้ฉันเริ่มอ่านหนังสือ ทำให้ฉันรักหนังสือ มาก แม่นิดบอกว่า ติดมาจากคุณตาที่ไม่จำกัดการอ่าน แม่จะอ่านอะไรก็ได้แม้แต่นิยายอ่านเล่น พอมาถึงรุ่นฉัน แม่นิดก็ปลูกฝังให้ฉันรักการอ่านตั้งแต่เด็ก เฉกเช่น แม่นิดได้รับการปลูกฝังจาก คุณตา แม้ว่าจะเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นที่ไร้สาระก็ตาม

ฉันเติบโตขึ้นด้วยสายเลือดนักเรียน ที่ถ่ายทอดมาจากยืนโดยไม่รู้ตัว ฉันสามารถเขียนหนังสือ และเล่าเรื่องได้สนุก (ตามที่หลายๆ คนบอก) แต่การจับปากกาเขียนหนังสือได้ หรือการ พิมพ์ข้อความจากคอมพิวเตอร์ในสมัยนี้ไม่ได้หมายความว่าใครก็เป็นนักเขียนได้ อย่างที่เป็นกันสมัยนี้ ฉันไม่เคยรู้ว่าฉันก็สามารถเขียนได้ จนวินาทีที่ฉันได้เข้าสู่รั้วจามจุรี...จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตั้งแต่ลืมตาดูโลก ฉันก็ไม่รู้จักคุณตาฉันแล้วเริ่มได้ยินชื่อของคุณตาตั้งแต่ตอนเด็ก เพราะคุณตาเป็นที่รู้จักในสังคม แม่นิดและลุงๆ ป้าๆ น้าๆ ที่เคยอยู่ในบ้าน หรือเพื่อนลุงน้อย (กิตติ ชูพินิจ) ก็จะเล่าเรื่องให้ฟังแต่เพราะว่าฉันเป็นเด็ก ฉันก็ไม่ได้ใส่ใจนัก เพราะคิดว่า ก็คืออดีต แต่อดีต นี่แหละที่สร้างอนาคตให้ฉัน หลังจากฉันจบจากครุศาสตร์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับสอง ฉันก็ถูกเพื่อนๆ ชักชวนไปสอบเรียนปริญญาโทต่อที่คณะนิเทศศาสตร์ ภาคหนังสือพิมพ์ หรือชื่อปัจจุบันว่าวารสารสนเทศที่จุฬาฯ นั่นเอง ด้วยความ “บังเอิญ” หลายๆอย่าง และผู้ที่ไม่เคยรู้จัก คือ “คุณตา มาลัย” ของฉันเอง

ฉันเข้าสอบกับเพื่อนๆ ด้วยความคิดที่ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร คนสอบเป็นพัน เอาแค่ยี่สิบกว่าคน ถ้าไม่มีกึ๋นจริงๆ ก็ไม่ต้องพูด ดังนั้น ถือว่าเป็นประสบการณ์ แต่กลายเป็นว่า ประสบการณ์นี้ เป็นประสบการณ์ชีวิตจริงจากการอ่านหนังสือบ่อย และมากกว่าหนังสือเรียน ทำให้ฉันสอบผ่านข้อเขียนและจะต้องสอบสัมภาษณ์ในวันรุ่งขึ้น ฉันยังจำความงุนงงเมื่อเพื่อนที่ เข้าไปดู ผมสอบกลับมาบอกฉันว่า “แกติดว่ะ” ได้จนบัดนี้ อาจารย์ที่สอบสัมภาษณ์ฉันนั้นมีหลายคน จากคำถามว่า “ทำไมอยากเรียน” คำตอบของฉันก็คือ ฉันอยากรู้ว่าจะเรียนได้ไหม เพราะว่าที่บ้านเป็นนักเขียนกันหมด และคุณตาก็เคยทำหนังสือพิมพ์มาก่อน รุ่นพ่อแม่ลุงป้าน้าก็เป็นนักเขียน แต่รุ่นหลาน ยังไม่มี ฉันก็อยากจะลองว่าทำได้ไหม อาจารย์ได้ยินชื่อคุณตาก็ถามย้ำว่า “มาลัย ชูพินิจ” หรือ ฉันงงมาก ไม่คิดว่าอาจารย์จะรู้จัก และอาจารย์ก็เล่าให้ฟังว่า เคยเป็นลูกศิษย์ที่ธรรมศาสตร์มาก่อน ตอนหลังถึงมารู้ว่าเป็นอาจารย์ หัวหน้าภาควิชา คือ รศ.นันทริกา คุ้มไพโรจน์ อาจารย์ถามต่อว่า ไม่มีพื้นฐานมาก่อน จะยอมลง เรียนวิชาปริญญาตรีได้ไหม ฉันตอบอาจารย์ว่าแน่นอน ถ้ามันเป็นประโยชน์ต่อการเรียนปริญญาโท ในใจของฉัน ฉันก็เคยคิดอยากสอบเอ็นทรานซ์เข้านิเทศฯ มาก่อน แต่กลัวว่าไม่ได้เพราะว่า คะแนนสูงเป็นอันดับหนึ่ง และฉันเรียนด้านสายวิทย์มา ดังนั้น ถ้ามีโอกาสทำไมจะไม่ลองล่ะ จะได้รู้ว่าเรียนได้หรือไม่ เพราะว่าการสอบ บางครั้งก็คือการแข่งขัน เพียงแต่ไม่ได้แข่งกับใคร เป็นการแข่งขันความสามารถของตัวเอง

ผลก็คือ อาจารย์บอกทันทีว่า เราจะให้โอกาสคุณ พอฉันออกมาจากห้องสอบ เพื่อนๆ มารุมถามว่า ทำไมเธอเข้าไปนานจัง คนอื่นๆ ไม่เห็นนานขนาดนี้ แต่ฉันก็ไม่ได้เล่าให้ใครฟัง นอกจากแม่และลุงแดง (สุคต ชูพินิจ) ซึ่งพอรู้ก็บอกว่า “เขารับอายแล้วล่ะ”

นี่คือ อานิสงส์ จากการเป็นหลานคุณตามาลัย

ไม่เชื่อ ไม่ฝัน ในที่สุด นิสิตนิเทศฯ คนใหม่ก็เกิด เพียงเพราะว่าเป็นหลานคุณตา เมื่อฉันเข้าชั้นเรียน ฉันก็ขยันทำการบ้าน ทำงานส่งอาจารย์ทุกคนก็จะชอบ รศ.ดร.พีระ จิรโสภณ ชอบอ่านงานฉันมาก บอกว่า งานอายเขียนขุดคุ้ยดี ฉันก็ดีใจ แต่พอใกล้จบจริงๆ แล้ว ฉันทำวิทยานิพนธ์ เรื่องคุณตาฉัน เป็นเรื่องการเมือง ที่คุณตาฉันอยู่รอดปลอดภัยตลอดมา โดยข้อเขียนของท่านไม่ได้รุนแรงเหมือนนักเขียนคนอื่น คนอ่านจะต้องใช้ “สมอง” คิด ไม่ใช่บอกกันตรงๆ ฟันกันซึ่งๆหน้า ซึ่งมันไม่ได้พัฒนาสมองเท่าไหร่นัก ความคิดยืดหยุ่นและประนีประนอมของท่าน จึงทำให้เป็นนักเขียนที่ใครทำอะไรไม่ได้

ระหว่างทำวิทยานิพนธ์ ฉันต้องอ่านเรื่องของคุณตาที่ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ไทยเป็นร้อยๆ เรื่อง คุณตาเขียนหนังสือสนุก เหมือนเล่าเรื่องอย่างไรอย่างนั้น ทำให้ฉันเห็นภาพได้ นิยายฉันก็ อ่าน เรื่องสั้นก็ต้องอ่านแต่ไม่มีเรื่องไหนเลยที่อ่านแล้วแค่ผ่าน “ลูกตา” เพราะว่ามันผ่าน “สมอง” ต้องคิด ต้องตีความ คนอ่านเรื่องของคุณตาฉันแล้วชื่นชอบต้องเป็น “ปัญญาชน” เท่านั้น หรือต้อง มีรอยหยักในสมองมากเพียงพอที่จะเข้าใจ มิฉะนั้น ก็จะอ่านเรื่องของท่านไม่รู้เรื่อง และวิธีการ เขียนเรื่องที่เป็นตัวของตัวเอง จึงทำให้รอดอยู่ได้ทุกสมัย แม้ในยุคที่บ้านเมืองเป็นเผด็จการ ฉันต้องเก็บข้อมูลเพื่อทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งก็ได้รับความเมตตาช่วยเหลืออย่างดีจากบุคคล ผู้รู้จักคุณตาหลายๆคน ในฐานะเป็นลูกหลานทำวิทยานิพนธ์เอง โดยเฉพาะจาก ศ.สุกัญญา สุดบรรทัด อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ อย่างไรก็ตาม ชีวิตมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบฉันใด วิทยานิพนธ์ของอายก็ฉันนั้น แล้วฟ้าก็พังครืนเพราะว่าอีกเจ็ดวันจะต้องส่งงานเพื่อขอจบ แต่ฉัน เขียนไม่ได้เรื่อง อาจารย์สุกัญญาปัดวิทยานิพนธ์ของฉัน พร้อมกับคำพูดว่า “เธอนี่ไม่มีเชื้อสาย เลยหรือ”

คำพูดเด็ดประโยคนี้เองที่ทำให้ฉันอายจนหน้าแดง ไม่ใช่อายเหมือนชื่อ เพราะชื่อฉันคือ อาย ตา-EYE ในภาษาอังกฤษ ฉันเก็บรวบรวมเรื่องที่เขียน แล้วกลับบ้านไปสงบจิตข่มใจ นั่ง สมาธิและบอกตัวเองว่า ต้องทำได้ต้องจบ ต้องไม่เสียเวลา ฉันนึกถึงคุณตาว่า ช่วยด้วย เชื้อสาย ต้องมี ต้องเขียนได้ และต้องเขียนได้ดีพร้อมประสิทธิภาพด้วย นั่งข่มตาเขียน ไม่ไปไหน จนถึงเวลาพบหน้าอาจารย์อีกที พร้อมบทร่างที่แก้ไขแล้ว อาจารย์หยิบอ่านด้วยสีหน้าเคร่งเครียด อยู่พักใหญ่ จากนั้น ก็เงยหน้ายิ้มให้ฉัน บอกว่า

“เธอผ่านแล้ว”

นั่นคือ บทจบสนทนาว่า ฉันก็มีเชื้อสาย (นักเขียน) จริงๆ

พอเข้าสอบ อาจารย์ฟังเรื่องราวการค้นคว้าของฉัน และให้ผลเป็นเอกฉันท์ว่า เป็น วิทยานิพนธ์ที่เหมือนนิยาย อ่านแล้วไม่ง่วง ฉันชอบมาก เพราะว่าถ้าคนอ่านชอบแล้วคือสอบผ่าน
ไม่ใช่อ่านไปด้วยความเครียด

ฉันถือว่าวิทยานิพนธ์เล่มนี้ ฉันอุทิศให้คุณตาฉัน แล้วฉันก็บินไปอเมริกาเพื่อร่วมงานปต่งงานของน้องเมย์ลูกน้าหน่อย กลับมาได้เข้าทำงานด้านหนังสือพิมพ์ที่ได้ร่ำเรียนมาที่หนังสือพิมพ์ใหญ่ฉบับหนึ่ง

เวลาเขียนเรื่องต่างๆ นั้น ฉันนึกถึงคุณตาว่า ต้องใส่อารมณ์ขันเข้าไปมันจะทำให้งานได้ดี นอกจากวิธีการเขียนแล้ว ฉันก็ยังดำเนินรอยตามคุณตาด้านจริยธรรมและคุณธรรม ฉันทำงานด้วย ความภักดีต่อหนังสือพิมพ์ ไม่ได้สนใจเรื่องเงินเท่าไร มีหลายครั้งต่อหลายครั้งที่แหล่งข่าวรู้ถึง ความสามารถของฉันและบอกว่า น่าจะทำที่อื่นดีกว่าที่นี่ ที่ได้เงินมากกว่านี้ แต่ตอนนั้นฉันทำงานด้วยความสุข ฉันจึงไม่ได้คิดถึงเรื่องอยากย้ายงาน เฉกเช่นเดียวกับคุณตาของฉันที่ทำงานด้วยความสุข สุขที่ได้เขียนเรื่องที่ชอบ ไม่ใช่ใครบังคับให้เขียน แม้ว่าคุณตาฉันทำงานตลอดชีวิต แต่คุณตาไม่เคยรวยสักที ซึ่งฉันก็ยึดถือเป็นแบบอย่าง ฉันมีประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่เขาแจกเงิน ตอนไปทำข่าวประชาสัมพันธ์ ฉันหลีกหนี รับไม่ได้ เพราะถ้ารับแล้ว ก็คือหมดความเป็นอายหลานคุณมาลัย ชูพินิจ ฉันไม่สามารถเขียนเรื่องได้ด้วยความปลอดโปร่ง

คุณธรรมอีกอย่างก็คือ ความถ่อมตัว ซึ่งน้อยนักที่หนังสือพิมพ์ สมัยนี้จะพึงมี บุคคล ระดับหัวหน้าคนหนึ่งที่เคยทานด้วย ไม่ว่าจะไปทำข่าวที่ไหน “เธอ” จะต้องประกาศตัวเองว่า เป็นนักข่าว ถ้าเขียนเรื่องก็ต้องมีผลประโยชน์ที่จะสามารถไปทำมาหากินต่อได้ มันไม่จำเป็น หรอก ถ้าเป็นคนเก่งจริงก็ไม่ต้องเอ่ยออกมา ต้องเก่งด้วยตนเอง แถมยังว่าฉันเสมอๆ ว่า ถ้าไม่ได้ เป็นเพราะว่าชื่อคุณตาของฉันที่ใครต่อใครรู้จัก ก็ไม่มีใครเอา เพราะทำงานไม่ได้ ฉันได้ฟังก็เอา ยิ้มรับและบอกว่า ขอบคุณที่บอกให้ทราบ

ความประพฤติด้านจริยธรรม คุณธรรมเหล่านี้ ฉันได้จาก “มาลัย ชูพินิจ” ผู้ซึ่งไม่เคยรู้จัก ตัวเลย เพียงแต่มีเลือดของท่านอยู่ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นเอง และรู้จักท่านเพียงตัวอักษร ท่านเป็นพรานป่า ที่ล่าตัวอักษรไทยมาให้ฉันอ่าน หล่อหลอมให้ฉันได้มีวิญญาณแห่งการล่าตัวอักษร มาเขียนเรียงร้อยเป็นเรื่องอยู่ในหนังสือพิมพ์ช่วงเวลาหนึ่ง

ฉันทำงานมาระยะหนึ่งก็ถึงทางตัน เริ่มเบื่อหน่ายและทนไม่ได้กับอะไรหลายๆ อย่าง ไม่ใช่งาน...แต่เป็นคนและระบบ !

ความรู้สึกแรก ไม่ได้โกรธ แค่น้อยใจและสับสน หวนคิดถึงตอนศึกษาเรื่องคุณตาว่า “ต้องสร้างคนขึ้นมาใหม่” แล้วทำไมฉันจะทำไม่ได้ ยุคนั้น คุณตาฉันสร้างนักเขียนมากมายหลายต่อหลายคน แต่สมัยนี้เขาจะลิดกิ่ง เพื่อไม่ให้ต้นไม้เติบโตต่อไป ฉันรู้ว่าฉันมีฝีมือ มีสมอง สามปีที่เข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ ฉันก็มีแฟนหนังสือมากมายพอสมควร แต่ยุคนี้เป็นยุคที่ตัดไม้แข่งกัน
ไม่มีไม้ใหม่โผล่ขึ้นมาด้วยตนเอง ต้องโผล่เหมือนกาฝาก ต้องอาศัยต้นใหญ่ตลอดไป ไม่สามารถ ยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้ ฉันเปรียบเสมือนนักมวยที่ไม่มีสนามลงแข่ง ถูกกีดกันให้เป็น “คนนอก” จนกระทั่งกลายเป็น “ไม้ที่ตายแล้ว” ฉันไม่มีความรู้สึกอยากจะทำงานต่อไป ฉันบอกตัวเองว่า “เอาเถอะ ชีวิตที่เลือกไม่ได้” ฉันไม่สามารถอยู่เป็นคนนอกต่อไป ถอยดีกว่าเหมือนที่คุณตาของฉันเคยถอยไปทำไร่ถั่วเหลืองที่ชุมพร แต่ฉันถอยไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง (ที่ไร่สับปะรดและมะพร้าว) ที่ฮาวาย

ยุคของคุณตาฉัน คุณตาฉันมีแต่พยายามทำให้ทุกคนได้เกิด คุณตาไม่เคยหวั่นเกรงเลยว่าจะไม่มีใครมาแทนที่ ท่านเคยเขียนในคอลัมน์ หนึ่งว่า ไม่มีใครแทนที่ใครได้ เพราะว่าทุกคนเป็นตัวของตัวเอง เพียงแต่ต้องมองดูสังคมว่า ทำอะไรให้แก่สังคมบ้าง

ฉันทำงานหนังสือพิมพ์มาสามปีเต็ม ก็ถึงเวลาที่ต้องกล่าวคำลา แต่สิ่งหนึ่งที่ยึดตลอดมาคือ คุณธรรมจากคุณตาฉัน ที่ไม่เคยเห็นแก่ผลประโยชน์หนังสือพิมพ์เป็นผลประโยชน์ที่ยั่วยวนใจมาก คนที่ไร้คุณธรรมจึงตกเป็นเหยื่อได้ง่าย ฉันจะต้องยึดถือคุณตาเป็นแบบอย่าง เหมือนที่ จอมพลผิน ชุนหะวัณ พูดกับแม่นิดในงานศพคุณตาว่า

“เอาอย่างพ่อเขานะลูก เงินซื้อเขาไม่ได้”

วันที่ฉันอำลาจากหนังสือพิมพ์ที่ส่งเสริมให้รู้ว่า ฉันก็เป็นนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ที่ดีได้ ไม่ต้องให้ใครมาตัดสิน ฉันตัดสินได้ด้วยตัวเองจากผลงานของฉัน และจากผู้ที่ไม่มีผลประโยชน์ ฉันก้าวออกมาด้วยประสบการณ์หนึ่งของชีวิต เพียงแต่ว่าฉันปิดชีวิตหนังสือพิมพ์นี้ออกไปจาก ชีวิตแล้ว

ฉันพบ รศ.ดร.พีระ จิรโสภณ อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศหนังสือพิมพ์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนมาเรียนต่อ อาจารย์บอกฉันว่าติดตามผลงานมาตลอด ชอบอ่านมาก และรู้ว่าฉันเป็นนักหนังสือพิมพ์อย่างแท้จริง เหมือนอย่าง “มาลัย ชูพินิจ” ผู้เป็นคุณตาฉัน เพียงแค่นี้ ฉันก็มั่นใจว่าฉันประสบความสำเร็จแล้ว

ดอกจามจุรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือดอกจันทน์กะพ้อของบ้าน ป.ล. ดอกนี้ ไม่สามารถผลิบานได้อีกแล้ว เพราะว่ามันแห้งเหี่ยวคาต้นไปกับการเรียนรู้ในชีวิตจริงว่า “หนังสือพิมพ์” หรือฐานันดรที่สี่เป็นอย่างไร มันไม่ใช่แค่ตำราหรือทฤษฎี แต่เป็นการปฏิบัติ สิ่งหนึ่งที่ไม่ตายไปจากฉันก็คือ “คุณธรรม” ที่ไม่ว่าจะไปผลิตดอกอีกที่ไหน คุณธรรมและจริยธรรมนี้ ก็ยังอยู่คู่กับฉันตลอดไป จากผู้ที่ไม่เคยรู้จักกันเลยในโลกนี้ นอกจากโลกตัวอักษรไทย

“เอาอย่างตาเขานะลูก เงินซื้อเขาไม่ได้” ประโยคที่ฝังอยู่ในหัวของอายตลอดกาล และ “เงิน” นี่แหละ ที่ซื้อเขาไม่ได้ตลอดมาถึงหนึ่งร้อยปี ในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙ นี่เอง !

 

เรื่องนี้ขออุทิศให้แก่คุณตาของฉัน ที่ทำให้ฉันกลับมามี “ไฟ” ในการเขียนหนังสือภาษาไทยอีกครั้ง หลังจากเขียนครั้งสุดท้าย เมื่อปี ๒๕๔๖ และขอขอบคุณ “เลือด” และ “ยีนบวก ดีเอ็นเอ” ของตระกูล “ชูพินิจ” ที่ทำให้อายเขียนหนังสือขึ้นมาได้อีกครั้ง

ชนิตร์นัยน์ ณ บางช้าง
(หลานผู้รู้จักคุณตาเพียงตัวอักษร)
University of Hawaii at Manoa