ชนิด สายประดิษฐ์

เมื่อครั้งที่ “ชนิด สายประดิษฐ์” ภรรยา “กุหลาบ สายประดิษฐ์” หรือ “ ศรีบูรพา ” ยังมีชีวิตอยู่นั้น ได้เล่าเรื่องให้ ชนิตร์นัยน์ ณ บางช้าง ผู้เป็นหลานของมาลัย ชูพินิจ ฟัง เพื่อให้เป็นข้อมูลในการทำวิทยานิพนธ์ “ แนวคิดด้านการเมืองและสังคมกับลักษณะความเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่สะท้อนจากงานเขียนของมาลัย ชูพินิจ” ทางเว็บไซต์จึงได้ขอสมุดบันทึกความทรงจำของ ชนิตร์นัยน์ ณ บางช้าง มาเรียบเรียงเป็นเรื่องเล่าให้คนรุ่นหลังฟังใน คอลัมน์ “คนดังนั่งคุย”

จากเพื่อนถึงเพื่อน

เมื่อได้มีโอกาสไปคุยกับคุณชนิดที่บ้านย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินั้น ได้สัมผัสพื้นไม้ที่แสดงร่องรอยของนักเขียนใหญ่ในยุคนั้นได้เหยียบย่ำเข้าบ้าน โต๊ะเขียนหนังสือ ขอบและบานหน้าต่างที่เก่าไปตามกาลเวลา เราได้รับรอยยิ้มที่สะท้อนผ่านร้อนผ่านหนาวมาเป็นเวลายาวนาน พร้อมได้แนวคิดจากการเป็นคู่ชีวิตเคียงบ่าเคียงไหล่กับ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” นักเขียนชื่อดังในยุคนั้น ผู้ใช้นามปากกา “จูเลียต” ในการแปลหนังสือเปิดการสนทนาว่า

เมื่อได้มีโอกาสไปคุยกับคุณชนิดที่บ้านย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินั้น ได้สัมผัสพื้นไม้ที่แสดงร่องรอยของนักเขียนใหญ่ในยุคนั้นได้เหยียบย่ำเข้าบ้าน โต๊ะเขียนหนังสือ ขอบและบานหน้าต่างที่เก่าไปตามกาลเวลา เราได้รับรอยยิ้มที่สะท้อนผ่านร้อนผ่านหนาวมาเป็นเวลายาวนาน พร้อมได้แนวคิดจากการเป็นคู่ชีวิตเคียงบ่าเคียงไหล่กับ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” นักเขียนชื่อดังในยุคนั้น ผู้ใช้นามปากกา “จูเลียต” ในการแปลหนังสือเปิดการสนทนาว่า

นักแปลผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้นได้เล่าถึงครูมาลัยต่อไปอีกว่า

“ คุณกุหลาบและคุณมาลัยนั้นได้รู้จักกัน เพราะเป็นเพื่อนนักเรียนด้วยกัน และเมื่อทำสำนักพิมพ์นายเทพปรีชานั้น คุณมาลัยก็ตามมาทำด้วย ”

ในยุคก่อนนั้น ครูมาลัย ได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ภาคค่ำ เพื่อกวดวิชาภาษาอังกฤษเพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านภาษาให้แตกฉาน ที่นั่นเองได้มีตัวอักษรเรียงร้อยถ้อยคำเกิดขึ้น นักเรียนหลายคนในยุคนั้นแข่งกันทำหนังสือพิมพ์เพื่อประลองปากกา จนก้าวขึ้นมาเป็นนักเขียน โดยก่อตั้งเป็นสำนักพิมพ์นายเทพปรีชา คุณชนิดยังเล่าต่อไปว่า

“ การที่คุณกุหลาบและคุณมาลัยเป็นเพื่อนกันนี้ ทำให้คุณกุหลาบรู้ว่าคุณมาลัยเป็นผู้ที่คุณกุหลาบไว้วางใจได้ ดังนั้นเมื่อไม่ว่าจะทำหนังสือกี่หนต่อกี่หน กี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็ต้องมีคุณมาลัยอยู่ด้วยเสมอ”

เรื่องแม้จะผ่านมานานไม่ว่าจะกี่สิบปี แต่คุณชนิดในวัยบั้นปลายกลับมีความทรงจำถึงสามีที่ล่วงลับไปแล้วเป็นเลิศและบางเรื่องยังไม่เคยเล่าให้ใครฟังมาก่อน จนกระทั่ง

“ เขาและคุณมาลัยเรียกว่าเป็นตัวตายตัวแทน ตอนที่ยายสอนหนังสืออยู่ เจอโจทย์เลขของครูอบ ( อบ ไชยวสุ นามปากกา “ ฮิวเมอร์ริส” ) ซึ่งสอนที่เดียวกันว่า ถ้าคุณกุหลาบทำหนังสือใหม่ขึ้นมา สมมติว่าลงทุน 3000 บาท มาลัยลงทุน 2000 บาทโชติลงทุน 2000 บาท จะเป็นสัดส่วนเท่าไร โดยมีชื่อ 3 คนนี้ อยู่ในข้อสอบนักเรียนด้วย.... ตั้งแต่นั้นมาเมื่อมีอะไรใหม่ ๆ คุณกุหลาบก็รู้สึกว่าคุณมาลัยเป็นคนที่ทำงานแทนได้ รับช่วงแทนได้ ถ้าคุณกุหลาบไม่ทำ ไม่รับอะไร คุณมาลัยก็จะรับช่วงแทนเสมอ เช่นเดียวกัน คุณกุหลาบเล่าให้ฟังว่า ระหว่างที่คุณมาลัยทำงานที่ ‘ไทยใต้’ ได้ชวนคุณมาลัยกลับมาทำหนังสือพิมพ์ ‘บางกอกการเมือง’ ร่วมกัน ทั้ง ๆ ที่คุณมาลัยมีอาชีพเป็นครู เงินยังมีประจำ แต่ก็ออกเพราะรักหนังสือพิมพ์ คุณกุหลาบมาเป็นบรรณาธิการบางกอกการเมือง ส่วนคุณมาลัยมาช่วยดูแล ‘สุภาพบุรุษ’ ให้ จนเลิกไป ”

คุณชนิดยังเล่าต่อไปอีกว่า นักเขียนเมื่อเรื่องได้ลงหนังสือแล้วก็ดีใจ ไม่ได้สนใจค่าเรื่องว่าจะได้เท่าไร แค่เผยแพร่ความคิดก็พอใจแล้ว

“ ตอนนั้น ยังไม่เลิกหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษรายปักษ์ คุณกุหลาบและคุณมาลัยได้เริ่มการรับซื้อเรื่องขึ้น อาจจะไม่สูงนัก ในฐานะคุณกุหลาบเป็นบรรณาธิการบางกอกการเมือง ต้องรับผิดชอบทุกอย่าง พอมีปัญหาเกิดเรื่องขึ้นก็ลาออก คุณมาลัยก็ทำอยู่ด้วยสักพัก พอคุณกุหลาบออกจากบางกอกการเมือง คุณมาลัยก็ออกด้วย แต่สุภาพบุรุษก็ยังไม่เลิก จนมาทำ ‘ไทยใหม่’ เป็นปึกแผ่นแล้ว ก็เลิกสุภาพบุรุษ เพราะว่า เอก วีสกุล นายทุน ชอบคบกับนักเขียน ทำให้คุณกุหลาบมาทำหนังสือพิมพ์รายวันนี่เอง ”

จากการที่การเมืองไม่มีความแน่นอน อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หนังสือพิมพ์หลายฉบับต้องอิงกับผู้นำ ด้วยความที่นักเขียนยุคนั้นมีความคิดอิสระ ทำให้เกิดการขัดแย้งกับนายทุน จึงมาทำหนังสือพิมพ์ผู้นำ แต่ปรากฏว่าก็ประสบปัญหาขาดทุน ทำให้คุณกุหลาบชักชวนครูมาลัยมาทำหนังสือพิมพ์ประชาชาติของท่านวรรณ ฯ คุณชนิดยังเล่าต่อไปอย่างเรียกคืนความทรงจำวันเก่า ๆ ว่า

“ คุณมาลัยได้ทำงานหนังสือพิมพ์ประชาชาติอยู่พักหนึ่ง ก็ลาออกไป รู้สึกว่าจะไปทำไร่ถั่วเหลืองที่หัวหิน แต่พอคุณกุหลาบมาทำงานที่โรงพิมพ์อักษรนิติ ตรงบางขุนพรหม ก็ได้ทำให้คิดว่าน่าจะมีสุภาพบุรุษด้วย จึงใช้ชื่อเดิมที่เคยทำหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษรายปักษ์มาก่อน พอเกิดสงคราม กิจการไม่ดี จึงมารวมกันเป็นประชามิตร สุภาพบุรุษขึ้น หนังสือพิมพ์ประชามิตรเป็นหนังสือพิมพ์กรอบบ่าย ส่วนสุภาพบุรุษเป็นกรอบเช้า”

แล้วทำไมต้องใช้ชื่อว่า “สุภาพบุรุษ” คุณชนิดยิ้มด้วยสายตาเอ็นดูก่อนตอบว่า

“อันนี้ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่รู้สึกว่าเป็นชื่อที่สะท้อนตัวตนของกลุ่ม เพราะจากที่ยายเล่าว่าทุกคนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยกัน จากกระดาษของครูอบ ก็ชี้ให้เห็นว่าเงินไม่ได้สำคัญที่สุด เขารักกัน ขอให้ได้ทำงานที่รัก มีเพื่อนที่ความเห็นเหมือนกัน ที่สำคัญมีใจสปอร์ตสมกับคำว่า สุภาพบุรุษกระมัง แต่จะว่าให้คุณผู้ชาย ๆ อ่านหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ เพราะว่าบางเรื่องที่ลงไปในฉบับ เป็นเรื่องหวาน ๆ ก็มี ”

จากการที่คุณชนิดเล่านั้น ข้อเขียนของครูมาลัยจากหนังสือพิมพ์ประชามิตร – สุภาพบุรุษ เมื่อปี 2481 ได้ปรากฏขึ้นในความคิดว่า

“ เนื่องจากพวกเราแลเห็นเงินเป็นก้อนกรวดไปเสียหมด”

คุณชนิดยังเล่าถึงความทรงจำต่อไปว่า

“ คุณมาลัยมีงานเขียนมาก แล้วยังได้ใช้นามปากกว่า ‘มะกะโท’ ร่วมกับคุณกุหลาบอีก”

ความที่ครูมาลัยมีอุปนิสัยใจเย็น พูดจาตรง ๆ เปิดเผยไม่อ้อมค้อมในเรื่องต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นคนใจกว้างและเปิดโอกาสให้นักเขียนใหม่ๆ เกิดขึ้น ตรงกับที่คุณชนิดเล่าให้ฟังว่า

“ ก่อนที่คุณกุหลาบไปออสเตรเลีย ได้มอบหมายให้คุณมาลัยทำหนังสือแทน เพราะเป็นคนเข้าใจกัน เป็นคนซึ่งทำงานได้สารพัดอย่าง อย่างพวกนิยาย คอลัมน์ผู้หญิงนี่ คุณมาลัยจะมีมือขวา คือ ร. จันทพิมพะ ตอนแรกคุณมาลัยต่อว่าคุณกุหลาบว่า แหมกุหลาบนี่เอาผู้หญิงมาให้ช่วยทำงาน มันจะทำยังไง พวกนอกนั้นเป็นผู้ชายทั้งสำนักงาน มีผู้หญิงมันจะทำสะดวกหรือ แต่เสร็จแล้วก็สนิทกัน เข้าใจกัน เพราะบางทีคุณมาลัยเขียนนวนิยาย หรือบทความแล้วเอาไปให้ ร.จันทะพิมพะอ่าน ถ้า ร.จันทะพิมพะอ่านแล้วบอกว่าไม่ได้เรื่อง ก็หมายความว่าไม่เข้าที คุณมาลัยก็หัวเราะฉีกทิ้งไป ทีนี้ ร.จันทะพิมพะ ก็เขียนมา บางเรื่องคุณมาลัยก็บอกไม่ไหว อะไรอย่างนี้ คือ สนิทกัน พูดตรงไปตรงมา”

ความที่นิสัยใจเย็น ทำให้ครูมาลัยเป็นเพื่อนสนิทกับคุณกุหลาบ เรียกว่า คู่หูคู่เขียนดูโอเชียวล่ะ คุณยายชนิดได้หัวเราะก่อนรำลึกถึงความหลังเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะจบการสนทนาในวันนั้นว่า

“ การทำงานกับคุณกุหลาบก็ราบรื่น เพราะคุณมาลัยเป็นคนไม่เถียงใคร เงียบ ๆ เฉย ๆ ไม่โต้แย้ง แล้วก็ทำงานไม่ใช่แผนกข่าว พูดกับใครก็เรียบร้อย ไม่เป็นคนไปเถียงโต้ว่าใคร ให้เขียนอะไรก็ได้ทั้งนั้น ใครว่าอะไรก็หัวเราะไม่ว่าอะไรทั้งนั้น แม้ว่าการทำงานอาจมีความเห็นไม่ลงรอยกัน แต่ว่าไม่มีที่ทะเลาะเบาะแว้งอะไรกับใคร เป็นคนอารมณ์เย็น คุณกุหลาบกับคุณมาลัยมักจะเป็นคู่กัน ไปไหนไปด้วยกัน แบบพอคุณกุหลาบออกจากที่นี่ คุณมาลัยก็ออกตาม ยกโขยงออก ไม่เหมือนสมัยนี้ที่ถือตัวเป็นใหญ่ สมัยก่อนมีใจรักและร่วมใจกันเสมอ อย่างตอนที่คุณกุหลาบไปอยู่เมืองจีน คุณมาลัยเป็นวุฒิสมาชิกมีฐานะขึ้น ไม่งั้นก็ก๊อกแก๊กเหมือนกัน คุณมาลัยก็มาช่วยดูแลเรื่องต่าง ๆ ให้เสมอ ตอนที่ลูกสาวจะแต่งงาน คือคล้ายกับเป็นเจ้าภาพเอง แต่ว่าไม่ได้ออกนอกหน้า คอยช่วยเหลืออยู่ข้างหลัง แม้กระทั่งไปพบพระองค์วรรณ เพื่อบอกสารท่านว่าลูกสาวจะแต่งงาน เพราะว่าท่านให้บ้านและเป็นคนให้ชื่อลูกสาวคนนี้ คุณมาลัยก็คอยช่วยเหลือ เป็นคนพาไป เรียกว่าอุ่นใจ มีเพื่อนที่รับผิดชอบในเรื่องต่าง ๆ ”

จากเพื่อน ถึงเพื่อน แม้จะไม่ได้พูดคุยเล่าให้ฟังในภพนี้ แต่ได้ถ่ายทอดมาจากความทรงจำครั้งสุดท้ายของคุณชนิด สายประดิษฐ์ที่มีต่อคุณมาลัย ชูพินิจ ที่สายใยระหว่าง “ศรีบูรพา” และ “เรียมเอง” จะยังอยู่ในใจนักอ่านชาวไทยตลอดไป ตราบใดที่นักอ่านยังเปิดใจให้ภาษาสละสลวยเข้าไปในรอยหยักของสมอง